องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

อะกาแพนทัส

อะกาแพนทัส (Agapanthus) มีชื่อที่เรียกโดยทั่วไปหรือชื่อสามัญว่า African lily หรือ Blue African lily หรือ Lily of nile เป็นไม้ตัดดอกประเภทหัวที่จัดอยู่ในวงศ์ Liliaceae มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ ปัจจุบันมีมากว่า 10 สายพันธุ์ เป็นหัวพืชที่มีการเจริญเติบโตแบบต่อเนื่อง สำหรับ species ที่นิยมปลูกโดยทั่วไป มี 3 กลุ่มคือ A. praecox ssp mininus, A. praecox ssp orientalis และ A. Pendulus พืชชนิดนี้ มูลนิธิโครงการหลวงโดยฝ่ายงานไม้ดอกนำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์และเนเธอร์แลนด์มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ด้วยลักษณะที่เป็นพืชข้ามปีของอะกาแพนทัส ทำให้การเจริญเติบโตมีรอบการชักนำให้เกิดการสร้างและพัฒนาตาดอกโดยจะต้องผ่านความเย็นในช่วงฤดูหนาวก่อน คือส่วนของหัวซึ่งเป็นซึ่งเป็นลำต้นเทียมที่อยู่ใต้ดินจะต้องได้รับความเย็นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ ดังนั้นพืชชนิดนี้จำเป็นจะต้องปลูกบนที่สูงที่ระดับ 1,200 เมตรขึ้นไป จุดเด่นของอะกาแพนทัส คือ สามารถปลูกเลี้ยงได้ในสภาพกลางแจ้ง เนื่องจากต้องการความเข้มแสงสูง การดูแลรักษาไม่ซับซ้อน โรคแมลงไม่รบกวน ความต้องการของลูกค้ามีอย่างต่อเนื่อง ราคาผลผลิตเป็นที่น่าพอใจต้นทุนต่ำ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

หากต้องการปลูกอะกาแพนทัสให้ได้คุณภาพที่ดีควรเลือกปลูกในสภาพพื้นที่ปลูกควมีแสงแดดจัดและอากาศเย็น อะกาแพนทัสต้องการอุณหภูมิต่ำ เพื่อชักนำให้เกิดการพัฒนาตาดอกที่ระหว่าง 7-12 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 4-8 สัปดาห์ (อากาศเย็นจัด) และจะบานในช่วงต้นฤดูร้อน ซึ่งอุณหภูมิกลางวันประมาณ 25 องศาเซลเซียส และกลางคืนประมาณ 19 องศาเซลเซียส จะเหมาะสมซึ่งดอกจะเจริญและพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นในฤดูร้อนของเราทุกปีเราจะพบดอกอะกาแพนทัสที่บานอวดสีสันอย่างสวยงาม

การตลาด

คุณลักษณะของอะกาแพนทัสที่น่าจะเป็นเสน่ห์หรืจุดเด่นก็คือ กลุ่มสีที่ค่อนข้างคลาสสิคของดอก คือ สีคราม สีฟ้า สีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม สีขาว ช่อดอกตั้งมีทั้งแบบก้านช่อดอกสั้น (45 เซนติเมตร) และก้านช่อดอกยาวประมาณ 150 เซนติเมตร รูปทรงดอกเป็นแบบหลอด ช่อดอกเป็นแบบซี่ร่ม เมื่อนำไปใช้งานจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานา กล่าวคือทุกดอกสามารถบานได้ทั้งหมด จากการสังเกตการณ์ใช้ดอกไม้ของนักจัดดอกไม้มักนิยมนำไปใช้ในงานตกแต่งแจกัน เพื่อช่วยให้งานตกแต่งดอกไม้มีคุณค่าและความสวยงามและแปลกตามากยิ่งขึ้น

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์

อะกาแพนทัสเป็นไม้ดอกที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี คือ ทั้งการใช้เมล็ดและการแยกกอ ในส่วนของเมล็ดก็จะนำเอาไปเพาะในวัสดุที่ประกอบด้วย ทราย ขุยมะพร้าว และขี้เถ้าแกลบ อัตรา 1:1:1 ส่วน หยอดเมล็ดลงในถาดและรดน้ำพอชุ่ม นำไปวางย้ายลงถุงเพื่ออนุบาลต่อไป สำหรับการแยกนั้นทำได้โดยการขุดต้นที่กออัดแน่นหรือต้นที่มีอายุปลูกประมาณ 2 ปีขึ้นไป ใช้มีดสะอาดหรือกรรไกรตัดแยกส่วนของต้นที่ต้องการเพิ่มปริมาณออกจากกัน ตัดใบและรากออกบางส่วน นำต้นใหม่ที่ได้ลงปลูกในถุงพลาสติก ขนาด 6 x 9 นิ้ว ในวัสดุที่มีทราย และขุยมะพร้าว นำต้นใหม่เลี้ยงในโรงเรือนพลาสติกที่พรางแสงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ หมั่นตรวจดูความชื้นและแสงอย่างเสม่ำเสมอประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถนำปลูกลงแปลงได้

การอนุบาล

ภาคหลังการงอกของต้นและการเกิดใบจริง จึงทำให้การย้ายต้นกล้าลงถุงพลาสติกดำขนาด 2x2.5 นิ้ว อนุบาลโดยการเลี้ยงไว้ในบริเวณแปลงปลูกหรือในโรงเรือนหลังคาพลาสติกที่พรางแสงด้วยตาข่ายขนาด 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิและช่วยลดการคายน้ำของต้นพันธุ์ส่วนต้นที่ได้จากการแยกกอนำไปเลี้ยงในโรงเรือนพลาสติกทีพรางแสงระดับเท่ากัน เมื่อต้นเริ่มตั้งตัวหรือเกิดใบใหม่ จึงเริ่มหาตุอาหารพร้อมๆกับน้ำ ประมาณ 2 เดือนก็สามารถนำออกปลูกลงแปลงได้

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์

ควรเป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวหรือประมาณเดือนมิถุนายน – กรกฏาคม เนื่องจากในสภาพความชื้นในบรรยากาศค่อนข้างสูง จะลดการคายน้ำจากใบพืชได้มาก แต่มีข้อควรระวัง คือ การเกิดบาดแผลจากลำต้นหรือใบพืช เพราะอาจทำให้เกิดการระบาดของเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายที่ทำให้ต้นกล้าเน่าเละ

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก 

การเตรียมแปลง

อะกาแพนทัสเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกสภาพ กล่าวคือทั้งดินทรายดินร่วนปนทราย ดินเหนียว ดินที่มีน้ำขังแฉะ หรือแม้แต่พื้นที่ที่มีวามลาดเอียง ซึ่งในการเลือกพื้นที่แปลงปลูกสิ่งที่ต้องคำนึงประการแรก คือ สภาพพื้นที่ที่แสงสามารถส่องผ่านได้อย่างทั่วถึงตลอดทั้งวันประการที่สองหากเป็นเขตหรือพื้นที่รับน้ำได้อย่างสม่ำเสมอ จะเป็นประโยชน์ต่อพืชอย่างสูงที่สุดเนื่องจากเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก

การเตรียมดิน

เนื่องจากอะกาแพนทัสสามารถเจริญเติบโตได้ในดินเกือบจะทุกชนิด ดังนั้นหลักการเตรียมดินหรือวัสดุปลูกควรให้ความสำคัญตั้งแต่การฆ่าเชื้อในดิน เช่น การขุดพลิกดินและการตากดินให้ดั้รบแสงแดดประมาณ 2 สัปดาห์ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยกำจัดหรือลดปริมาณศัตรูพืชในดิน ทั้งนี้โครงสร้างของวัสดุปลูกที่โปร่งจะช่วยทำให้ส่วนของรากเจริญได้ดีเนื่องจากได้รับอากาศพอเพียง เพราะอะกาแพนทัสเป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินแบบเทียม การเติมวัสดุปลูกประเภท แกลบ ขุยมะพร้าว หรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและควรหว่านด้วยปูนโดโลไมท์สำหรับปรับสภาพของดินควรตรวจสอบ pH ของดิน และปรับให้ได้ค่า pH ประมาณ 6-7 ความสามารถในการระบายน้ำที่ดีของวัสดุปลูกและพื้นที่ปลูก

เทคนิคการปลูก

การปลูกอะกาแพนทัส สามารถปลูกได้ทั้งในแบบยกร่องแปลงให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร กำหนดระยะระหว่างต้นและแถวโดยใช้ระยะปลูก 30x30 เซนติเมตร หรือการปรับเกลี่ยพื้นที่หน้าดินให้เรียบและสม่ำเสมอ แล้วกำหนดแถวปลูกเป็นคู่แบบสลับฟันปลาโดยใช้ระยะปลูกที่ 40x30 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเข้าทำงานในร่องแปลงปลูกได้อย่างสะดวกและผู้ปลูกมีความต้องการที่จะปลูกเป็นพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอะกาแพนทัสเป็นพืชที่มีการเจริญทางลำต้นแบบกอ ดังนั้นหากการกำหนดระยะปลูกที่แน่นชิดกันเกินไปจะมีผลต่อการระบายอากาศภายในแปลงปลูก ที่ทำให้อุณหภูมิสูงและเสี่ยงต่อการะบาดซึ่งเกิดจาอาการเน่าเละของลำต้นซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของเชื้อ

การดูแลรักษา 

การจัดการด้านความเข้มแสงและอุณหภูมิ

อะกาแพนทัสเป็นพืชที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกๆสภาพแวดล้อมและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแสงที่ค่อนข้างจัด คือ สามารถปลูกนอกโรงเรือนได้ เนื่องจากอะกาแพนทัสต้องการอุณหภูมิต่ำเพื่อชักนำให้เกิดการพัฒนาตาดอกที่ระหว่าง 7-12 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 4-8 สัปดาห์ และจะบานในช่วงต้นฤดูร้อนจนถึงกลางฤดูฝน ซึ่งอุณหภูมิกลางวันประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ดอกก็สามารเจริญและพัฒนาการบานได้อย่างสมบูรณ์

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยที่ถูกต้องสำหรับอะกาแพนทัส คือ การให้ปุ๋ยน้ำซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ง่าย การให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เมื่อต้นพันธุ์ตั้งตัว จะเริ่มงอกและแทงใบใหม่ขึ้นมา จึงเริ่มให้ธาตุอาหารในรูปสารละลายใช้ปุ๋ยสูตร CMU/RPF ซึ่งมีปริมาณธาตุอาหารที่ประกอบด้วย N:P และ K ฉีดพ่นผ่านเครื่องผสมปุ๋ยในอัตรา 1:200 เท่า สูตรปุ๋ยที่เหมาะสม คือ สูตรที่มีความเข้มข้นของธาตุอาหาร ดังนี้ 

- ไนโตรเจน 64.9 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) 

- โพเทสเซียม 23.4 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) 

- ฟอสฟอรัส 111.34 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm)

และผสมธาตุอาหารรอง เช่น เฟตติลอน คอมบี หรือยูนิเลทด้วยเพื่อป้องกันการขาดของธาตุอาหาร

โรคและศัตรูพืช 

โรคและแมลงศัตรูพืชที่เกิดกับอกาแพนทัส ส่วนใหญ่ที่มักพบจะเกิดจากอาการใบเน่าเละซึ่งเกิดจากเชื้อสาเหตุ คือ แบคทีเรีย ซึ่งหากระบาดเป็นวงกว้างจะสร้างความเสียหายให้กับแปลงปลูก ลักษณะเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ปลูกต้นในระยะชิดกันมากเกินไป สารเคมีที่ใช้สำหรับควบคุมและป้องกันได้แก่ แอนติแบค แอกริมัยซิน สำหรับแมลงศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ได้แก่ หนอนหนังเหนียวซึ่งมักจะเข้าทำลายโดยการกัดกินใบและเจาะดอกเพื่อเข้าทำลายในระยะที่ดอกตูมสารเคมีที่ใช้สำหรับกำจัดหนอนหนังเหนียว ได้แก่ โตกุไธออน แบคโทสปิน เป็นต้น

การให้น้ำ

อะกาแพนทัส เป็นพืชที่ต้องการความชื้นอย่างพอเยงและสม่ำเสมอ วิธีปัจจุบันจะให้น้ำพร้อมกับปุ๋ยแต่ในช่วงที่ความชื้นสูงๆ การให้น้ำ อาจจะต้องสังเกตความชื้นของวัสดุปลูกว่าพืชต้องการน้ำเมื่อใด เพราะการที่วัสดุชื้นมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุการเข้าทำลายของเชื้อโรค

การเก็บเกี่ยว 

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของดอกอะกาแพนทัส โดยช่อดอกเริ่มมีดอกบานบนช่อดอกจำนวน 5-7 ดอก

วิธีการเก็บเกี่ยว

ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่มีความคมและสะอาดตัดช่อดอก หลังจากนั้นนำก้านช่อดอกแชน้ำสะอาดทันที และรีบทำการคัดเกรดและเข้ากำใหเรียบร้อย จากนั้นแช่ก้านช่อดอกในน้ำทิ่งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง

การเก็บเกี่ยวและการดูแลรักษา

การเก็บเกี่ยวควรเลือกตัดในระยะที่ดอกบานประมาณ 5-7 ดอก จะเป็นระยะที่เหมาะสมที่สุด การตัดเร็วไปดอกที่บานทีหลังจะมีขนาดเล็กและสีไม่สวยหรือการตัดซ้าเกิดไปดอกที่บานก่อนจะเหี่ยวและเมล็ดจะติดฝัก จากนั้นควรเติมสารที่ช่วยยืดอายุการปัแจกันเพื่อให้ดอกบานยาวนานขึ้น

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว 

เพื่อให้คุณภาพดอกมีคุณภาพดีหลังการเก็บเกี่ยวทำการคัดแยกเกรด การใช้สารเคมีเพื่อยืดอายุการใช้งาน จะทำให้คุณภาพของดอกเมื่อถึงมือลุกค้าหรือผู้ใช้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยแช่ในสารละลาย 8 HQS ความเข้มข้น 150 ส่วนต่อล้านส่วน(ppm) ผสมกับน้ำตาลซูโคสความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ แช่ไว้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส จะทำให้คุณภาพของอะกาแนทัสดียิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.