ลิลี่
ชื่อสามัญ Lily
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lilium formolongo
ลิลี่เป็นพืชหัวแต่มีลำต้นสูงประมาณ 1 เมตร ดอกมีสีสันสวยงามเมื่อบานเป็นพืชที่มีความต้องการของตลาดโดยนำไปจัดทรงพุ่มแบบกระเช้า ตกแต่งสถานที่เนื่องจากมีรูปทรงที่สวยงาม จึงปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลัก
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ลิลี่เป็นไม้ตัดดอกในประเทศที่มีสภาพอากาศกึ่งร้อนสามารถผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดปี อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 16 – 25 องศาเซลเซียส
การตลาด
ลิลี่เป็นไม้ดอกที่มีรูปทรงสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีคนนิยมนำมาจัดทรงพุ่ม เข้าช่อ ตลอดจนตกแต่งสถานที่ เป็นที่นิยมของตลาดอยู่เสมอ
การขยายพันธุ์
วิธีการขยายพันธุ์
คัดเลือกหัวพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ นำแกะกลีบข้างออก หลังจากนั้นจึงทำการปักชำลงในกระบะซึ่งภายในจะประกอบด้วย ทราย และแกลบดำ
การอนุบาล
เมื่อกลีบที่ปักชำมีต้นอ่อนจำนวน 2-3 ใบ จึงย้ายลงถุงขนาด 2?6 นิ้ว โดยเลี้ยงไว้ให้มีจำนวนใบ 4-6 ใบ จากนั้นให้ย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลงโดยใช้ตาข่ายช่วยพยุงลำต้น
การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก
การเตรียมแปลง
ไถพรวนดินตากไว้ 1 อาทิตย์ และปรับสภาพดินโดยการใช้โดโลไมท์ ทำการไถกลบอีกครั้ง จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก 1 ปี๊ป ต่อ 1 ตารางเมตร ผสมปุ๋ยคอกกับดินโดยพรวนดินให้เป็นเนื้อเดียวกัน ยกร่องแปลงกว้าง 1 เมตร สูง 20 เซนติเมตร หลังจากนั้นจึงทำการรดน้ำให้มีความชื้น 70 เปอร์เซ็นต์
เทคนิควิธีการปลูก
เตรียมแปลงปลูกขนาด กว้าง 1 เมตร ยกร่อง 20 เซนติเมตร ให้แปลงมีความชื้น 60 เปอร์เซ็นต์ โดยการรดน้ำ จากนั้นจึงนำหัวพันธุ์มาคัดแยกตามขนาดแล้วนำไปจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อรา ใช้เบนเลทไอดีรวมกับแคปแทน ประมาณ 10 นาที จึงนำหัวพันธุ์ออกผึ่งให้แห้งแล้วนำปลูกในแปลง โดยที่ระยะปลูก 20?20 เซนติเมตร ซึ่งจะปลูกในช่วงฤดูหนาว โดยปลูกลึกลงไปใต้ผิวดิน 6-8 เซนติเมตร หากเป็นช่วงฤดูร้อนจะปลูกที่ความลึก 8-10 ซนติเมตร จากนั้นจึงคลุมแลปงด้วยฟางข้าว
การดูแลรักษา
ปุ๋ย
หลังจากที่ปลูกลงแปลงได้ประมาณ 2 อาทิตย์ หัวพันธุ์จะเริ่มแทงช่อประมาณ 10 เซนติเมตร จึงค่อยให้ปุ๋ยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แล้วจึงพ่นปุ๋ยทางใบเสริม ถ้าหากต้นพืชไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงจะให้อาทิตย์ละ 3 ครั้ง
โรคและศัตรูพืช
โรคใบไหม้
อาการ โดยอาการจะเริ่มจากปลายใบเข้ามาโดยจะมีสีน้ำตาล
การจัดการ ตรวจดูแปลงอย่างสม่ำเสมอหากพบควรตัดใบที่เป็นโรคออกเผาทำลาย
เพลี้ยอ่อน
อาการ แมลงจะเข้าทำลายบริเวณยอดอ่อนและช่อดอกทำให้เสียหาย
การจัดการ หากพบให้ทำการพ่นสารเคมีพวก โตกุไธออน 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
การให้น้ำ
การให้น้ำควรให้ในตอนเช้า โดยสังเกตว่าถ้าเป็นช่วงฤดูร้อนจะให้ปริมาณที่มีความชื้นมากแต่หากเป็นช่วงฤดูฝนจะลดการให้น้ำลงโดยอาจดูจากสภาพแวดอากาศ
การเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยว จากการเริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 80 วัน
วิธีการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวในช่วงเช้าโดยการนำถังใส่น้ำพอประมาณ สังเกตดูว่าดอกแรกเปลี่ยนสีจึงทำการตัดแล้วนำลงแช่ในถังที่เตรียมไว้
สภาพแวดล้อมขณะเก็บเกี่ยว ช่วงเวลาเช้าที่ดอกแรกเริ่มบาน ถ้าตัดดอกช้าเกินไปทำให้ดอกเสียหายระหว่างการขนส่ง
การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
การแช่น้ำ (ส่วนประกอบของน้ำยารักษาสภาพและวิธีการขนส่ง) เมื่อคัดเกรดแล้วจึงมัดรวมกันจำนวน 10 ช่อ โดยหุ้มด้วยสำลีแล้วแช่น้ำยา Silver Thiosulfate 1.6 ซีซี นาน 20 นาที
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษา นำดอกที่ตัดมาแช่น้ำยาหลังจากนั้นนำไปแช่ห้องเย็นที่อุณหภูมิ 4-7 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 คืน แล้วนำบรรจุกล่องส่งออกจำหน่าย
ข้อแนะนำอื่นๆ
จากการศึกษาพบว่าดอกลิลี่มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวต่างกันขึ้นอยู่กับฤดูกาลโดยเฉพาะฤดูร้อนและฤดูหนาว
เอกสารอ้างอิง :
มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.