องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ดาเลีย

  

ชื่อสามัญ Dahlia or Dalia

ชื่อวิทยาศาสตร์      Dahlia sp.

ดาเลีย (Dahlia) เป็นไม้ดอกซึ่งเป็นที่รู้จักละปลูกเลี้ยงในเมืองไทยเป็นเวลาช้านานแล้ว คาดว่ามีการนำข้ามาจากต่างประเทศ จากเอกสารต่างประเทศกล่าวว่า ดาเลีย มีถิ่นกำเนิดบนที่สูงของเม็กซิโก และอเมริกากลาง บางกลุ่มพบในอเมริกาใต้ เป็นพืชในวงศ์ Compositae หรือ Asteraceae เช่นเดียวกับเบญจมาศ และเยอบีร่า ดาเลียที่ปลูกอยู่ทั่วไปเป็นมาจากลูกผสมของ Dahlia pinnate และ Dahlia cocinea (โสระยา 2544) ดาเลีย ส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่มลำต้นตั้งตรง ภายในลำต้นมีลักษณะกลวง บางชนิดเป็นไม้เลื้อย ดาเลียที่ปลูกอยู่ทั่วไปเป็นแบบ Tetraploid ที่มีจำนวนโครโมโซม 2n=4?=64 ในต่างประเทศนิยมปลูกเป็นไม้ประดับสวน ไม้กระถาง หรือใช้เป็นไม้ตัดดอกซึ่งมีความนิยมมากขึ้น ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ดาเลียเพื่อให้เป็นไม้ตัดดอกที่มีลักษณะที่ดี คือมีก้านช่อดอกที่แข็งแรง ดอกมีสีสันที่สวยงาม รูปทรงแปลกตา และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ในแถบยุโรปดาเลียจะเจริญเติบโตและให้ดอกในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน มูลนิธิโครงการหลวงได้นำเข้าสายพันธุ์ดาเลียจากต่างประเทศมาทดลองปลูกบนพื้นที่สูงของประเทศไทย พบว่ามีการเจริญเติบโต และให้ดอกในฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งดาเลียจะสร้างดอกเมื่อมีใบ 5-7 คู่ใบ

Royal Horticultural Society ในประเทศอังกฤษได้แบ่งดาเลียออกเป็นกลุ่ม ตามลักษณะดอกดังนี้ (DeHertogh and LeNard, 1993)

1. Single – flowerd

2. Anemone – flowerd

3. Collerette

4. Peony – flowerd

5. Decorative

6. Ball

7. Pompon

8. Cactus

9. Semi – Cactus

10. Miscellaneous

นอกจากนี้ยังแบ่งกลุ่มตามขนาดดอกดังนี้

1. Giant – flowerd ดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 25 เซนติเมตร

2. Large – flowerd ดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 20-25 เซนติเมตร

3. Medium - flowerd ดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 15-20 เซนติเมตร

4. Small - flowerd ดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 10-15 เซนติเมตร

6. Miniature – flowerd ดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 10 เซนติเมตร

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ดาเลียชอบสภาพแสงเต็มที่ อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส พื้นที่ๆสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ชอบดินร่วนปนทราย

การตลาด

เนื่องจากดอกของดาเลียมีลักษณะที่สวยงาม ปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์ดาเลียสำหรับทำเป็นไม้ตัดดอกมากขึ้นความต้องการของตลาดก็มีมากขึ้น เนื่องจากดาเลียสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลาย

การขยายพันธุ์

ดาเลียสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น หัว กิ่งชำ และจากเมล็ด แต่การขยายพันธุ์โดยเมล็ดไม่ค่อยนิยม เนื่องจากต้นที่ได้ไม่มีความสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่ในการปรับปรุงพันธุ์ การปลูกด้วยหัวเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด แต่ต้องให้หัวพันธุ์พ้นระยะพักตัวก่อนจึงจะปลูกได้

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก 

การเตรียมแปลงปลูก

การปลูกดาเลียเพื่อเป็นไม้ตัดดอกควรปลูกลงแปลงที่มีความกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อให้สะดวกต่อการดูแลรักษา ก่อนทำการเตรียมแปลงควรขุดดินตากแดดประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชในดิน เช่น ไข่ของแมลงหรือตัวอ่อนของไส้เดือนฝอย และเมล็ดวัชพืช ในสภาพดินที่เป็นกรดควรเติมด้วยปูนโดโลไมท์ เพื่อปรับสภาพของดิน การเติมด้วยปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว จะช่วยทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของดาเลีย

เทคนิคการปลูก

การปลูกดาเลีย ถ้าปลูกจากหัวจะใช้ระยะปลูก 50 เซนติเมตร โดยปลูกแปลงละ 2 แถว ในขณะที่ปลูกจากกิ่งชำจะใช้ระยะปลูกประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งจะปลูกได้ 3 แถวต่อแปลง หลังจากปลูกประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อให้แตกกิ่งข้างโดยจะปล่อยให้มีจำนวนหน่อต่อต้น 6-8 ยอดต่อต้น เพื่อให้ได้ดอกที่มีคุณภาพ

การดูแลรักษา 

ความเข้มแสง

ดาเลียต้องการแสงเต็มที่สำหรับการเจริญเติบโต ถ้าได้รับแสงน้อยเกินไปจะทำให้ลำต้นของพืชมีขนาดเล็กผอมโค้งงอเสียหายได้ง่าย การเลือกพื้นที่สำหรับปลูกจะต้องไม่มีร่มเงา และต้องมีการถ่ายเทอากาศที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าทำลายของโรค

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยแก่ดาเลียจะเริ่มให้ประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากปลูก เนื่องจากหัวของดาเลียจะมีอาหารสะสมอยู่ส่วนหนึ่ง มูลนิธิโครงการหลวงได้พัฒนาสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับไม้ดอกประเภทหัวโดยมีความเข้มข้นของธาตุอาหารดังนี้

ไนโตรเจน 100 ส่วนต่อล้าน

ฟอสฟอรัส  50 ส่วนต่อล้าน

โพแทสเซียม 100 ส่วนต่อล้าน

โรคและแมลงศัตรูพืช โรคที่มักก่อให้เกิดความเสียหายแก่ดาเลีย ได้แก่

โรคเน่าของหัวและดอกที่เกิดจากเชื้อรา

ซึ่งมักพบระบาดในสภาพที่มีความชื้นสูง โดยจะทำให้หัวและดอกเน่าเสียหาย สามารถเข้าทำลายพืชในทุกระยะการเจริญเติบโต อาการของการเข้าทำลายสังเกตได้จากต้นและใบของพืชจะเริ่มมีสีเหลืองเหี่ยว และต้นจะตายในที่สุด หรือถ้าเกิดในระยะที่ออกจะทำให้ดอกมีขนาดเล็ก เหี่ยวไม่ได้คุณภาพ และเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายอยู่ในดิน ลุกลามไปยังต้นข้างเคียง

การแก้ไข เลือกหัวพันธุ์ที่สะอาดไม่มีตำหนิหรือแสดงอาการของโรค การย้าแปลงปลูกไปยังที่ใหม่ที่ยังไม่เคยปลูกพืชนี้ ถ้าจำเป็นต้องปลูกซ้ำที่เดิมควรทำการฆ่าเชื้อเช่นการอบดินด้วยสาร บาซามิก จี ก่อนปลูก เพื่อป้องกันการเข้าทำลายขอเชื้อ สภาพแปลงปลูกควรมีการระบายอากาศที่ดี หลังจากปลูกควรราดด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา เช่น เบนเลทผสมกับแคปแทน หรือดาโคนิลผสมกับรอฟรัล เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ระยะออกดอกควรพ่นด้วยโบแทรนเพื่อป้องกันความเสียหายของดอก น้ำที่ใช้ในการเกษตร จะต้องสะอาด เก็บเศษพืชที่เสียหายไปเผาทำลาย

แมลงที่มักก่อให้เกิดความเสียหายแก่ดาเลีย ได้แก่

ไรขาวและไรแดง

มักเข้าทำลายใบและยอดของดาเลีย ซึ่งจะทำให้ช่อดอกเสียหาย แห้งตาย

การแก้ไข โดยการพ่นสารเคมีเมื่อพบการระบาดของไรดังกล่าว เช่น โอไมค์ หรืออาจใช้กำมะถันผงพ่น

หนอนชอนใบ

มักเข้าทำลายใบของดาเลีย โดยชอนไชอยู่ในใบ มัผลทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ดอกไม่มีคุณภาพ

การแก้ไข โดยการพ่นสารเคมีเมื่อพบการระบาดของหนอนชอนใบ เช่น อะบาเมกติน การใช้กับดักกาวเหนียวก็จะช่วยลดปริมาณของตัวเต็มวัยของหนอนชอนใบได้เป็นอย่างดี

เพลี้ยไฟ

มักเข้าทำลายดาเลียในระยะแทงช่อดอก ซึ่งจะทำให้ช่อดอกเสียหาย โดยที่เพลี้ยไฟจะขูดแทะกลีบดอกเป็นรอยด่าง

การแก้ไข โดยพ่นสารเคมีเมื่อพบการระบาดของเพลี้ยไฟ เช่น คอนฟิดอร์

หนอนกัดกินใบและต้นพืช

มักพบการเข้าทำลายของหนอนในทุกระยะการเจริญของดาเลีย สาเหตุเกิดจากผีเสื้อกลางคืนวางไข้ไว้ที่ต้นพืช  ฟักตัวเป็นตัวหนอนตัวเล็กๆ กัดกินส่วนต่างๆ ของพืช ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตเสียหาย

การแก้ไข โดยการตรวจแปลงบ่อยๆ ถ้าพบปริมาณเล็กน้อยก็ให้จับทำลาย แต่ถ้าระบาดมากก๋ให้พ่นด้วยสารเคมีที่ทางศูนย์อารักขาของมูลนิธิโครงการหลวงแนะนำอย่างเคร่งครัด

การให้น้ำ

ดาเลียเป็นพืชที่ต้องการความชื้นมาก แต่ไม่ถึงกับแฉะ ควรรดน้ำในตอนเช้าเพื่อให้ใบพืชแห้งในตอนเย็น ป้องกันการระบาดของโรค การรดน้ำด้วยสายยางปลายฝักบัวฝอยละเอียดเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด การให้น้ำแบบหยดก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพแต่ต้นทุนค่อนข้างสูง ซึ่งน้ำที่ใช้รดดาเลียจะต้องเป็นน้ำที่สะอาด มีสภาพความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสม

การเก็บเกี่ยว 

ระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

สำหรับดาเลีย คือ ดอกบานเกือบเต็มที่เห็นสีชัดเจน ซึ่งจะสะดวกในการจัดการในด้านการคัดบรรจุและการขนส่ง

วิธีการเก็บเกี่ยว

จะใช้กรรไกรหรือมีดที่คมตัดช่อดอกโดยให้มีความยาวช่อดอกประมาณ 60 เซนติเมตร การตัดดอกควรตัดในตอนเช้า และแช่ก้านช่อดอกในน้ำทันที การเก็บรักษาดอกดาเลียไว้ห้องเย็น จะช่วยรักษาคุณภาพของดอกไม้ขณะรอการขนส่งหรือรอการจำหน่ายได้เป็นอย่างดี การใช้สารเคมียืดอายุการบานเช่น 8-HQS ความเข้มข้น 150 มิลลิกรัม/ลิตร ร่วมกับน้ำตาลซูโครส 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมงในช่วงการเก็บรักษาในห้องเย็นจะช่วยอายุการใช้งานของดาเลียยาวนานยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.