ปักษาสวรรค์
ชื่อสามัญ Bird of paradise
ชื่อวิทยาศาสตร์ Strelitzia reginae Ait.
ปักษาสวรรค์ เป็นไม้ตัดดอกที่มีสีสันสวยงามอีกชนิดหนึ่ง และเป็นไม้แตกกอที่มีการเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงที่มีอากาศค่อนข้างเย็น ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ และใช้เมล็ด อยู่ในวงศ์ Sterliziaceae มีพื้นกำเนิดเดิมอยู่ทางแอฟริกาใต้ ไม้ดอกพันธุ์นี้มนุษย์ได้พยายามเสาะแสวงหา และนิยมไปปลูกเป็นไม้ประดับอย่างแพร่หลาย เนื่องจากดอกมีรูปทรงแปลกและสะดุดตาต่างจากดอกไม้อื่นทั่วๆ ไป
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
ปักษาสวรรค์เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน (rhizome) หรือที่เรียกว่ามีเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่งใบขึ้นมาพ้นผิวดินทำให้เห็นเหมือนลำต้นเป็นกอมีลักษณะรายละเอียดส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้
ราก ลักษณะรากเป็น fleshy root ถ้าปลูกอยู่ในกระถาง รากจะอัดกันแน่น ขดกันกลมก้นกระถาง รากอวบหนา เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.0 นิ้ว มี storage food สูงมาก ทำให้ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดีพอสมควร
ลำต้น ลักษณะลำต้นเป็น pseudostem สูงประมาณ 2-5 ฟุต ถ้ารับประทานเข้าไปจะเป็นพิษ
ใบ ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวแต่ละใบจะชูออกในทิศทางตรงกันข้ามสลับกันไปมา ทำให้มองเห็นรูปทรง ต้นแบนแผ่ออกคล้ายพัดลักษณะใบรูปหอกคล้ายใบกล้วย หรือใบพุทธรักษายาวประมาณ 30-100 เซนติเมตร ก้านใบกลมแข็ง โคนใบกางเป็นกาบหุ้มซ้อนเรียงสลับกันเป็นแผงตอนปลายก้านแผ่เป็นตัวใบ ใบหนาเส้นใบขนานกัน ผิวใบฉาบด้วยขี้ผึ้งบางๆ สีเทา ใบสีเขียวเข้มปนเทา สำหรับใบที่ยังอ่อนอยู่เส้นกลางใบจะมีสีแดง
ดอก ลักษณะดอกเป็นดอกช่อแบบ spike คือ มีหลายดอกในช่อเดียวกันโดยแต่ละดอกจะติดกับก้านช่อดอกไม่มีก้านดอกของต้นเอง
ภายในดอกแต่ละดอกประกอบด้วย sepal 5 petal 5 เกสรตัวผู้ 5 เกสรตัวเมีย 1 ovary มี 3 locale ซ่อนอยู่ใต้กลีบดอกสีส้มทุกกลีบ
ลักษณะผลและเมล็ด เป็นผลเดี่ยวแบบ capsule เมล็ดแข็งสีดำเป็นมัน มีพู่สีส้มประที่เมล็ดเป็นพวก hardy seed เช่นเดียวกับเมล็ดพุทธรักษา
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ปักษาสวรรค์ชอบขึ้นในสภาพที่แสงแดดรำไร ออกดอกได้ดีที่มีอากาศเย็น ความชื้นสูง ถ้าปลูกในระดับ 1,000-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลจะให้ดอกที่มีก้านยาวสีเข้มตลอดทั้งปี ถ้าปลูกในระดับ 400-700 เมตร จากระดับน้ำทะเลจะให้ดอกตลอดปีเช่นกัน แต่ผลผลิตต่ำ ในช่วงฤดูร้อน ดอกมีขนาดเล็กสีซีด เมล็ดที่ได้เปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ อุณหภูมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต คือ อุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส
การตลาด
ผลผลิตของปักษาสวรรค์จะมากช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ช่วงนี้ราคาผลผลิตจะต่ำและราคาผลผลิตจะดีขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ผลผลิตปักษาสวรรค์ที่มาจากไต้หวันผลผลิตเฉลี่ย 3.89 ช่อ/ต้น/ปี พันธุ์ที่มาจากออสเตรเลีย ผลผลิตเฉลี่ย 2.29 ช่อ/ต้น/ปี
มูลค่าปักษาสวรรค์ที่ส่งจำหน่ายผ่านฝ่ายตลาดมูลนิธิโครงการหลวง ปี 2546-2548 มีมูลค่า 65,170,89,017 และ 126,048 บาท ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนแต่ละปีแสดงว่าความต้องการของตลาดยังมีความต้องการอีกมาก
การขยายพันธุ์
วิธีการขยายพันธุ์
1. การแยกหน่อหรือกอ
เมื่อปักษาสวรรค์อายุ 2 ปีขึ้นไปจะมีต้นในกอมากขึ้นสามารถแยกกอได้ โดยใช้มีดตัดลำต้นใต้ดินให้ได้ลำต้นที่อยู่เหนือดินอย่างน้อย 1 ต้น นำมาแช่น้ำยากันเชื้อราประมาณ 10 นาทีจากนั้นผึ่งให้แห้งก่อนนำไปปลูกในถุงหรือกระถาง แล้วนำมาเลี้ยงในโรงเรือนที่พรางแสง 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการตั้งตัวดีแล้วจึงย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป
2. การเพาะเมล็ด
ก่อนทำการเพาะควรนำเมล็ดแช่สารละลาย GA (gibberellia acid) ความเข้มข้น 50 ppm. แช่นาน 48 ชั่วโมง และนำมาแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง เพื่อให้เปลือกของเมล็ดอ่อนตัวลงและดูดซับน้ำได้ง่ายขึ้น ทำให้การงอกของเมล็ดเร็วขึ้น
ส่วนผสมในการเพาะเมล็ด วัสดุสำหรับเพาะเมล็ด ใช้ขุยมะพร้าว : ทราย : พีทมอส อัตราส่วน 1:1:1 นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำมาใส่ตะกร้าประมาณ 1 ใน 3 ของตะกร้า หว่านเมล็ดให้กระจายแล้วกลบเมล็ดหนาประมาณ 3/4 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม ควรรักษาความชื้นอยู่ตลอดเวลาแต่อย่าให้แฉะจนเกินไป เมล็ดจะเริ่มงอกตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป
การอนุบาล
เมื่อเมล็ดเริ่มงอก ยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ต้องรีบย้ายลงถุง ถ้าปล่อยให้ต้นกล้ายาวมากจะย้ายยาก เพราะว่าการเจริญของรากจะเร็วกว่าลำต้น ทำให้ส่วนของรากยาวกว่าส่วนที่เป็นลำต้นที่โผล่พ้นผิวดิน
อัตราส่วนของวัสดุปลูกมีดังนี้ คือ ขุยมะพร้าว : เปลือกข้าว : ดินใบไม้ผุ : ปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 4:3:2:1 หลังจากย้ายต้นกล้าลงถุงแล้ว ควรเลี้ยงต้นกล้าให้มีใบจริง 2-3 คู่ใบก่อนจะนำลงปลูกในแปลง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ต้นปักษาสวรรค์ที่นำลงปลูกในแปลงควรมีความสมบูรณ์แข็งแรงจึงจะให้ผลผลิตสูง
การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก
การเตรียมแปลง
การเตรียมดินในแปลงปลูกควรกว้าง 1.20 เมตร มีส่วนผสมของดินร่วน ปุ๋ยคอก และแกลบผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงนำต้นปักษาสวรรค์ลงปลูก ปักษาสวรรค์เป็นพืชที่ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี
การปลูก
หลังจากการเตรียมดินเสร็จแล้ว นำกล้าที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไปปลูกลงแปลง ระยะปลูก 0.80?0.80 เมตร เมื่อปลูกเสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การดูแลรักษา
การจัดการด้านความเข้มแสง หลังจากปลูกต้นปักษาสวรรค์แล้วควรมีการพรางแสงด้วยซาแลน 50 เปอร์เซ็นต์
ปุ๋ย หลังจากการปลูกแล้ว เมื่อปักษาสวรรค์ตั้งตัวดีแล้วจึงเริ่มให้ปุ๋ยโดยการให้ปุ๋ยน้ำสูตรของมูลนิธิโครงการหลวง อาทิตย์ละ 2 ครั้ง
สูตรปุ๋ยน้ำ ต่อน้ำ 20 ลิตร
A B
กรดไนตริก 20 ซีซี 40 ซีซ๊
12-60-0 1,080 กรัม -
15-0-0 - 1,420 กรัม
13-0-46 800 กรัม 800 กรัม
แมกนีเซียมซัลเฟต 520 กรัม -
ยูนิเลท 50 กรัม -
การให้น้ำ
ให้น้ำอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม อย่าให้น้ำขังและแฉะจนเกินไป หากมีน้ำขังจะทำให้ระบบรากเน่าเสียหาย ดังนั้นควรเลือกปลูกในที่ที่ไม่แฉะและน้ำท่วมขัง
โรคและศัตรูพืช
พบว่ามีโรคแมลงรบกวนน้อยมาก โรคที่พบ คือ โรคโคนเน่า ส่วนแมลงที่พบจะมีหนอนกัดกินยอดและฝัก รวมทั้งมดมาดูดกินน้ำหวานบริเวณดอกแต่ไม่สร้างความเสียหายแก่ดอก เนื่องจากลักษณะของต้นปักษาสวรรค์มีใบที่เป็นมัน มีขนาดใหญ่และหนา มีความแข็งแรงมาก จึงมีความทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง
การเก็บเกี่ยว
ภายในช่อหนึ่งๆ ของปักษาสวรรค์จะมีดอกประมาณ 3 – 5 ดอก เมื่อดอกแรกบานให้เก็บผลผลิตได้ ก้านช่อดอกควรตั้งตรง ก้านช่อดอกใหญ่ กลีบดอกสีเหลืองเข้ม ตัดแล้วรีบนำมาแช่น้ำทันทีและเก็บไว้ในที่ร่ม ก่อนส่งตลาดควรห่อดอกด้วยกระดาษเพื่อป้องกันดอกช้ำ อายุการปักแจกันประมาณ 3 อาทิตย์ เนื่องจากก้านดอกมีขนาดใหญ่ และแข็งทำให้มีอายุการปักแจกันค่อนข้างนาน
การจัดมาตรฐาน
ชั้นพิเศษ 1) ความยาวก้านดอกถึงคอดอก 70 เซนติเมตร
2) ความยาวของปลีดอก 18 เซนติเมตร
ชั้น 1 1) ความยาวก้านดอกถึงคอดอก 60 เซนติเมตร
2) ความยาวของปลีดอก 16 เซนติเมตร
ชั้น 2 1) ความยาวก้านดอกถึงคอดอก 50 เซนติเมตร
2) ความยาวของปลีดอก 14 เซนติเมตร
ชั้น 3 1) ความยาวก้านดอกถึงคอดอก 40 เซนติเมตร
2) ความยาวของปลีดอก 14 เซนติเมตร
การผสมพันธุ์
ต้นปักษาสวรรค์ที่มีอายุ 11/2 ปีขึ้นไปจะเริ่มแตกกอ และจะเริ่มออกดอกปักษาสวรรค์มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกันจึงสามารถผสมพันธุ์ในดอกเดียวกันได้ แต่ในทางปฏิบัติควรผสมเกสรข้ามต้น ลูกที่ได้ออกมาจะมีลักษณะที่ดีมากกว่าลักษณะที่ไม่ดี ต้นปักษาสวรรคที่โตเต็มที่จะเริ่มแทงช่อดอกออกมา ส่งก้านช่อดอกตรงยาวสูงขึ้นเหนือความสูงของใบและดอกเริ่มบาน เมื่อดอกบานจะสังเกตเห็นเกสรตัวเมียเริ่มโผล่ออกมาที่ปลายกาบหุ้มเกสรตัวเมียจะมีน้ำเมือกเป็นยางใสเหนียวๆออกมา ส่วนเกสรตัวผู้จะอยู่ภายในกาบหุ้มเกสรสีน้ำเงิน ส่วนที่กาบแผ่คล้ายกลีบดอกเมื่อคลี่กลีบสีน้ำเงินออกจะเห็นเกสรตัวผู้สีขาวขุ่นกระจายอยู่ ใช้ปลายพู่กันเขี่ยเกสรตัวผู้ออกมาใส่ภาชนะ และใช้พู่กันแต้มเกสรตัวผู้ไปป้ายเกสรตัวเมีย หลังจากการผสมพันธุ์ดอกแรกแล้วอีก 2-3 วัน ก็ผสมพันธุ์ดอกที่ 2 และดอกที่ 3 ตามลำดับ ภายในช่อหนึ่งๆ จะมีดอกบานอยู่ประมาณ 3-5 ดอก การผสมพันธุ์ไม่ควรเกิน 3 ดอก จะได้เมล็ดที่สมบูรณ์เปอร์เซ็นต์การงอกสูงหลังจากผสมพันธุ์แล้วประมาณ 155 วันสามารถเก็บฝักได้ ใน 1 ฝักมีเมล็ดประมาณ 65 เมล็ด
การเก็บเมล็ดพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์แล้วรังไข่จะขยายโตขึ้นจนเห็นรูปร่างเป็นฝัก ทิ้งไว้จนฝักแก่ โดยสังเกตฝักที่แก่จัดจะมีสีน้ำตาลเข้ม และเริ่มแตกบริเวณส่วนปลายของฝักก่อนฝักหนึ่งๆของปักษาสวรรค์จะมี 3 ช่อง แต่ละช่องจะมีเมล็ดอยู่ 2 แถว ฝักหนึ่งๆ จะมีเมล็ดอยู่ 6 แถว เมล็ดมีสีดำ เปลือกแข็งและมีจุกสีเหลืองที่หัวของเมล็ด
การบรรจุหีบห่อ
หุบก้านดอกด้วยสำลีชุบน้ำหรือสารเคมี ห่อดอกด้วยกระดาษเคลือบแวกซ์ หรือกระดาษขาวบาง อาจนำมามัดรวมกัน 5 ช่อ โดยให้ดอกหันไปทางเดียวกันแล้วใช้กระดาษสีขาวห่ออีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้จะช่วยลดความเสียหายจากการช้ำได้แล้วบรรจุลงกล่องอย่าให้ดอกเคลื่อนที่ระหว่างขนส่ง
การใช้สารเคมี
แช่ในสารละลายที่ประกอบด้วย น้ำตาลซูโครส 10 เปอร์เซ็นต์ 8-HQC 250 มิลลิกรัม/ลิตร และกรดซิตริก 150 มิลลิกรัม/ลิตร นาน 2 วัน
การเก็บรักษา
เก็บรักษาในที่อุณหภูมิสูงกว่า 6-7 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-90 เปอร์เซ็นต์ ตามปกติดอกตูมที่ยังไม่เห็นสี จะเก็บรักษาได้นานประมาณ 4 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิ 7 องศาเซลเซียส หากเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่านี้จะทำให้เกิดอาการสะท้านหนาว ซึ่งส่งผลให้ดอกและกลีบประดับเป็นสีน้ำตาล และดอกอาจจะไม่บานในการเก็บรักษาในระยะสั้นๆ อาจเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 12-15 องศาเซลเซียส
เอกสารอ้างอิง :
มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.