ผักกาดหางหงษ์
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป ผักกาดหางหงษ์จัดอยู่ในตระกูลกะหล่ำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ปลูกกันมากในประเทศจีน เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้นมาก ใบเรียงตัวซ้อนกัน ห่อหัวเป็นปลียาวรี หรือรูปทรงกระบอก ใบสีเขียวอ่อน ขอบใบหยัก กาบใบและเส้นใบมีสีขาว ใบและกาบใบกรอบ ชุ่มน้ำ เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เหมาะสมสำหรับปลูกในฤดูหนาว ส่วนฤดูแล้งอาจพบปัญหาโรคและแมลง เหมาะสำหรับนำมาผัดน้ำมันหอย หรือทำจับฉ่าย ทำอาหารประเภทต้มจืด ต้มยำ เป็นต้น เป็นผักที่มีลักษณะสีและรสชาติคล้ายกับผักกาดขาวปลี แต่รูปทรงยาวและเรียวกว่ามาก
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ผักกาดหางหงษ์มีสรรพคุณหลายชนิด เช่น ช่วยให้เม็ดเลือดแดงเข็งแรง มีกรดโฟลิค (folic acid) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแบ่งตัวของเซลล์ ช่วยในการพัฒนาเนื้อเยื่อ และสังเคราะห์ DNA ดีกับหญิงมีครรภ์ นอกจากนั้นยังมีแคลเซียมสูง ช่วยสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง หากมารดาขาดกรดโฟลิคจะทำให้การแบ่งเซลล์ของทารกผิดปกติ นิยมนำมาผัดกับเนื้อสัตว์ ใส่แกงจืด ทำน้ำซุป ลวกจิ้มน้ำพริก สามารถนำมาแปรรูปเป็นผักตากแห้ง ทำกิมจิ หรือใช้ประดับตกแต่งจาน
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
ผักกาดหางหงษ์เป็นพืชผักเมืองหนาวต้องการความเย็นในการเจริญ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในช่วงแรกอยู่ระหว่าง 18 – 20 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิที่เหมาะต่อการเข้าปลีอยู่ระหว่าง 15 – 16 องศาเซลเซียส การปลูกในสภาพอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียสจะส่งผลให้ห่อหัวช้า คุณภาพต่ำ เข้าปลีหลวม มีรสขม ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกควรเป็นดินที่ร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว (clay loam) มีความอุดมสมบูรณ์สูง pH 6.0 – 6.5 การเตรียมดินควรขุดให้หน้าดินลึก การระบายน้ำดี ควรให้น้ำอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ และได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า เพาะกล้าแบบประณีตในถาดหลุมอายุกล้า ไม่ควรเกิน 21 วัน
การเตรียมดิน ขุดดินตากแดด 7 – 14 วัน เพื่อกำจัดโรคแมลงและวัชพืช โรยด้วยปูนขาวอัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม. ใช้ปุ๋ยรองพื้น 12 – 24 – 12 อัตรา 20 – 30 กรัม/ตร.ม. และปุ๋ยคอกหมัก 4 – 5 กก./ตร.ม.หรือขี้ไก่ 1 กก./ตร.ม.
การปลูก เก็บเศษซากวัชพืชออก ขึ้นแปลงขนาด 1 เมตร ระยะปลูก ฤดูฝนและฤดูหนาว 30 x 40 ซม. ฤดูแล้ง 30 x 30 ซม.
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรกลบเมล็ดลึกเกินไป อาจทำให้เมล็ดไม่งอก
- ไม่ควรเหยียบแปลงปลูก
- หากเพาะกล้าช่วงฤดูหนาว ควรเพาะในที่สภาพอากาศอบอุ่น เพื่อป้องกันการแทงช่อดอก
การให้น้ำ ให้น้ำโดยสปิงเกอร์ ส่วนมากจะปลูกในฤดูฝน
การให้ปุ๋ย หลังจากย้ายปลูกใช้ปุ๋ยครั้งแรก ใช้ 46 – 0 – 0 หว่านหลังจากปลูก 10 วัน ใช้ปุ๋ยครั้งที่ 2 ประมาณ 25 – 30 วัน ใช้ปุ๋ย 13 – 13 – 21 และ 46 – 0 – 0 อัตรา 1 : 1 ควรมีการพ่นยาเพื่อ ป้องกันโรคและแมลงโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน
ข้อควรระวัง
- การปฏิบัติควรระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนราก
- ควรหมั่นตรวจแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาโรคและแมลงได้ ทันท่วงที
- ให้ระวังปัญหาการขาดธาตุอาหารรอง ทำให้เกิดอาการไส้เน่า โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่ออายุ 60 – 75 วัน ห่อหัวดีแล้ว
การเก็บเกี่ยว ใช้มือจับดู ถ้าการเข้าหัวแน่นสามารถเก็บได้ โดยใช้มีดตัดโคนต้น พร้อมตัดแต่งใบนอกออกให้เหลือหุ้มหัว 2 – 3 ใบ การเก็บเกี่ยวตอนเย็น ผึ่งผักให้แห้งไม่เปียกน้ำก่อนบรรจุ
ข้อควรระวัง
- การตัดควรตัดชิดราก เพราะเมื่อตัดแต่งแล้วจะได้หัวที่ดีมีใบ นอกหุ้ม
- การบรรจุไม่ควรแน่นเกินไป
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นผักกาดหางหงษ์ทั้งหัว เข้าปลีแน่น ใบเกาะชิดกัน แก่พอดี ไม่แทงช่อดอก ไม่มีอาการไส้เน่า สด สะอาด ก้านใบมีสีขาว ปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. น้ำหนักของหัว 800 – 1500 กรัม
2. ใบและก้านใบแตกหักได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
3. มีตำหนิอื่นๆ ได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. น้ำหนักของหัว 600 – 800 กรัม
2. ใบและก้านใบแตกหักได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
3. มีตำหนิอื่นๆ ได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. น้ำหนักของหัว 400 – 600 กรัม หรือ 1,500 – 2,000 กรัม
2. ใบและก้านใบแตกหักได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
3. มีตำหนิอื่นๆ ได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ข้อกำหนดในการจัดเรียง ผักกาดหางหงษ์ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเตรียมสู่ตลาด 1. ตัดแต่งและกำจัดส่วนที่เป็นตำหนิ 2. บรรจุถุงพลาสติกเจาะรู
การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 2 – 3สัปดาห์
ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์