องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

แวกซ์ฟลาวเวอร์

ปัจจุบันไม้ดอกมิได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงแต่พันธุ์ที่มีถิ่นฐานเดิมเท่านั้น ไม้ดอกหลากหลายชนิดหลากหลายพันธุ์จากต่างประเทศที่สามารถนำมาปลูกได้เป็นอย่างดีกับสภาพอากาศในประเทศไทย แวกซ์ฟลาวเวอร์ (Chamelaucium uncinatum) เป็นไม้ยืนต้นที่มีช่วงเวลาออกดอกหลายช่วงตลอดปี สามารถปลูกเป็นไม้ประดับหรือเพื่อการตัดดอก ดังนั้นแวกซ์ฟลาวเวอร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของฝ่ายงานไม้ดอกมูลนิธิโครงการหลวงที่จะสร้างความหลากหลายของไม้ดอกให้กับตลาดต่อไป

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

แวกซ์ฟลาวเวอร์สามารถเจริญเติบโตในสภาพอากาศเย็นถึงกึ่งร้อนอุณหภูมิ 15-35 องศาเซลเซียส และต้องพรางแสงในสภาพที่ปลูกกลางแจ้งอากาศร้อนหรือแสงมากเกินไป วัสดุปลูกควรมีการระบายน้ำดี มีความเป็นกรดเล็กน้อยจึงเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแวกซ์ฟลาวเวอร์

การตลาด

เนื่องจากแวกซ์ฟลาวเวอร์เป็นไม้ดอกที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่แปลกตาและสามารถนำมาจัดแจกันร่วมกับดอกไม้ชนิดอื่นๆได้ หรือจัดแจกันโดยใช้แวกซ์ฟลาวเวอร์เพียงอย่างเดียว มีความสวยงาม และดูมีจุดเด่นในตัวเอง คาดว่าในอนาคตแวกซ์ฟลาวเวอร์จะได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย และประเทศอื่นด้วย

การขยายพันธุ์

แวกซ์ฟลาวเวอร์สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ดและการปักชำ 

1. การเพาะเมล็ด การใช้เมล็ดเพาะเป็นวิธีที่ใช้เวลานานและเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำโดยการรมควันเมล็ด 30 นาที เพื่อกระตุ้นการงอกของเมล็ด โดยทั่วไปใช้เวลานานประมาณ 3-6 เดือน เมล็ดจึงจะงอก

2. การปักชำ การปักชำใช้กิ่งชำกิ่งแก่และกิ่งอ่อน จะได้ผลดีและควรปักชำในช่วงปลายฝนต้นหนาวแต่เปอร์เซ็นต์การออกรากและรอดตายไม่สูงนัก ช่วงเวลาในการปักชำ 4 เดือน

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก

การเตรียมแปลงปลูก เนื่องจากระบบรากของแวกซ์ฟลาวเวอร์เป็นแบบลอยบนผิวดิน ดังนั้นการเตรียมแปลงปลูกจึงต้องขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถว 1x1.5 เมตร เพราะแวกซ์ฟลาวเวอร์เป็นไม้พุ่มยืนต้นสูงประมาณ 2 - 4 เมตร

การเตรียมดิน สำหรับดินปลูกควรมีการระบายน้ำดี มีความเป็นกรดเล็กน้อย เพิ่มอินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เปลือกข้าว เป็นต้น

การดูแลรักษา

การจัดการด้านความเข้มแสง แวกซ์ฟลาวเวอร์ต้องพรางแสงในสภาพที่ปลูกกลางแจ้งหรือแสงมากเกินไป การพรางแสงใช้ตาข่ายพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์ 1 ชั้น

การจัดการด้านอุณหภูมิ อุณหภูมิและแสงเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กันโดยตรง ถ้าความเข้มข้นแสงสูงจะมีผลทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและออกดอกของแวกซ์ฟลาวเวอร์จะอยู่ในช่วง 15-35 องศาเซลเซียส ดังนั้นการพรางแสงจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิลดลง และเวกซ์ฟลาวเวอร์ยังเป็นพืชที่ต้องการวันสั้นเพื่อการชักนำให้สร้างดอกด้วย

ปุ๋ย วิธีให้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ ให้ปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำ ปริมาณธาตุอาหารขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความต้องการของพืช สำหรับปุ๋ยที่ใช้กับแวกซ์ฟลาวเวอร์จะแบ่งเป็นระยะ คือ ระยะการแตกใบและระยะการออกดอก

ปริมาณปุ๋ยที่รดเมื่อแวกซ์ฟลาวเวอร์แตกใบ Stock 10 ลิตร (แม่ปุ๋ย 1 ลิตร เติมน้ำ 20 ลิตร)

แม่ปุ๋ย                                                   ปริมาณที่ใช้

กรดไนตริก                                                  30 ซ๊ซ๊

46-0-0                                                   1 กิโลกรัม

13-0-46                                                  1 กิโลกรัม

แมกนีเซียมซัลเฟต                                              260 กรัม

ยูนิเลท                                                     25 กรัม

 

ปริมาณปุ๋ยที่รดเมื่อแวกซ์ฟลาวเวอร์สร้างดอก Stock 10 ลิตร (แม่ปุ๋ย 1 ลิตร เติมน้ำ 20 ลิตร)

แม่ปุ๋ย                                                   ปริมาณที่ใช้

กรดไนตริก                                                  30 ซ๊ซ๊

15-0-0                                                   1 กิโลกรัม

13-0-46                                                  1 กิโลกรัม

แมกนีเซียมซัลเฟต                                              260 กรัม

ยูนิเลท                                                     25 กรัม

 

การให้น้ำ

หลังจากปลูกควรรดน้ำต้นกล้าให้ชุ่มอยู่เสมอ และเมื่อต้นตั้งตัวได้ควรให้น้ำและปุ๋ยวันเว้นวันในช่วงฤดูร้อน แต่ในช่วงฤดูฝนควรสังเกตดูดินว่ายังขึ้นชื้นอยู่หรือไม่เพราะถ้ารดวันเว้นวันจะทำให้ต้นเน่าตายได้

โรคและศัตรูพืช โรคที่พบในแวกซ์ฟลาวเวอร์ คือ 

1. เกิดจากเชื้อรา  Botrytis  sp.  

อาการยอดอ่อนแห้งใบร่วงมีเส้นใยของเชื้อราปกคลุม

การป้องกันและกำจัด ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาทำลาย ควบคุมโรคโดยใช้สารเคมี ซูมิเล็กซ์ ดาโคนิล ไดเทนเอ็ม-45 หรือ แคปแทน ฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน เมื่อพบอาการ

2. เกิดจากเชื้อราPestalotiopsis  sp. 

อาการยอดและกิ่งแห้งตาย

การป้องกันและกำจัดตัดแต่งกิ่งที่พบโรคออกแล้วนำไปเผาทำลายควบคุมโรคโดยใชสารเคมีแอนทราโคล หรือไดแทนเอ็ม -45 ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

3. เกิดจากเชื้อรา Fusarium sp.

อาการต้นเหี่ยว รากเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาล รากขดตัวเป็นกลุ่มไม่ค่อยกระจาย ท่อน้ำท่ออาหารบริเวณราก และโคนต้นเป็นสีน้ำตาล

การป้องกันละกำจัดขุดต้นที่พบอาการออก นำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่ารองก้นหลุมเก่าหรือหลุมใหม่ก่อนปลูกด้วยทุกครั้ง

การเก็บเกี่ยว

ระยะการเก็บเกี่ยวและสภาพแวดล้อมขณะเก็บเกี่ยว ตัดดอกเมื่อดอกเริ่มบาน 1 ใน 3 ของช่อดอก ให้เก็บเกี่ยวควรเก็บเกี่ยวในตอนเช้าและไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่อากาศร้อนของวัน

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

1. การ Pulsing (ส่วนประกอบของสารเคมียืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น และวิธีการแช่)

การใช้สารเคมี 8 HQS 2.000 ppm ร่วมกับน้ำตาลซูโครส 20 กรัม สามารถยืดอายุการปักแจกันได้

2. อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษา

สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0-1 องศาเซลเซียส จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้การห่อพลาสติกจะช่วยลดการสูญเสียในน้ำระหว่าการเก็บรักษาในสภาพแห้ง 0 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้นาน 2 สัปดาห์ 

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.