องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

จิ๊บซอฟฟิล่า

ชื่อสามัญ Gypsophila, Baby''s Bresth, Gypsophila Psniculata 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Gypsophila paniculata

ลักษณะทั่วไป

จิ๊บซอฟฟิล่า (Gypsophila paniculata) อยู่ในตระกูล Caryopphillaceae เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดแถบที่ราบของรัสเซีย และไซบีเรีย จิ๊บซอฟฟิล่าค่อนข้างทนต่อความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืน และอุณหภูมิระหว่างฤดูกาลได้ดี เป็นพืชที่มีดอกขนาดเล็ก โดยดอกมีขนาด 0.5-1.0 เซนติเมตร กลีบดอกมีลักษณะบอบบาง ออกจากกิ่งเล็กๆ ซึ่งแตกออกจากกิ่งใหญ่ ดอกมีทั้งดอกชั้นเดียว กึ่งซ้อน และดอกซ้อน มีทั้งสีขาวและสีชมพู และมีทั้งพันธุ์ดอกใหญ่ ได้แก่ พันธุ์ Arbel และดอกเล็ก ได้แก่ พันธุ์ Yukinko

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต

อุณหภูมิ จิ๊บซอฟฟิล่าเป็นพืชที่ไม่ชอบอากาศร้อน นิยมปลูกเฉพาะพื้นที่ที่อากาศเย็นตลอดทั้งปี เช่น บริเวณพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 800 - 1,000 เมตรขึ้นไปโดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย จิ๊บซอฟฟิล่าที่ปลูกในที่ที่มีอุณหภูมิสูงจะมีการเจริญเติบโตที่ไม่ค่อยดี ดอกมีขนาดเล็กและอายุการใช้งานจะสั้น

ความยาวของวันและความเข้มแสง เนื่องจากจิ๊บซอฟฟิล่าจัดอยู่ในกลุ่มพืชวันยาว โดยจะออกดอกในสภาพวันยาวหรือชั่วโมงแสงมีมากกว่า 14 - 16 ชั่วโมงต่อวัน แต่หากปลูกในสภาพปกติโดยไม่มีการควบคุมความยาววัน จิ๊บซอฟฟิล่าก็สามารถให้ดอกได้เช่นเดียวกันแต่ดอกจะบานไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นการปลูกจิ๊บซอฟฟิล่าเพื่อการตัดดอกจะต้องให้ได้รับสภาพวันสั้น เพื่อให้มีการสร้างลำต้นที่เพียงพอในระยะแรก ยกเว้นในพันธุ์ที่ไม่ตอบสนองต่อช่วงวันหรือตอบสนองต่อช่วงวันเพียงเล็กน้อย เช่น พันธุ์ Arbel เป็นต้น

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์จิ๊บซอฟฟิล่า นิยมปฏิบัติกันมี 2 วิธี ได้แก่ 

1. การปลูกแม่พันธุ์และนำกิ่งไปขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช วิธีนี้จะทำให้ได้ต้นกล้าที่มีความสม่ำเสมอ แข็งแรง และปราศจากโรค แต่ต้นทุนการผลิตต้นกล้าค่อนข้างสูง

2. การปลูกแม่พันธุ์และเก็บกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ไปปักชำให้ออกราก การปลูกต้นแม่พันธุ์ ควรเป็นต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรค มีการเจริญเติบโตที่แข็งแรง ดังนั้นควรเป็นต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การปลูกต้นแม่พันธุ์ควรปลูกภายใต้โรงเรือนพลาสติกและมีมุ้งไนล่อน เพื่อป้องกันฝนและแมลงศัตรู เช่น แมลงวันหนอนชอนใบ และแมลงอื่นๆ เป็นต้น 

ระยะปลูก ในการปลูกแม่พันธุ์ หากเป็นการปลูกลงแปลงควรใช้ระยะปลูก 25 เซนติเมตร แต่หากปลูกลงในกระถางควรใช้กระถางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 - 10 นิ้ว 

การเด็ดกิ่งพันธุ์ ภายหลังต้นแม่ถูกเด็ดยอด ต้นจะมีการแตกกิ่งแขนงจำนวนมาก กิ่งแขนงดังกล่าวจะถูกใช้เป็นกิ่งพันธุ์ในการปักชำต่อไป การเก็บกิ่งพันธุ์ควรให้เหลือใบที่โคนกิ่ง 1 - 2 คู่ใบเสมอ เพื่อให้แตกแขนงต่อ ซึ่งกิ่งที่เด็ดได้จะมีความยาวตั้งแต่ 6 - 10 เซนติเมตร 

การปักชำกิ่งพันธุ์ การปักชำกิ่งจะทำการชำกิ่งพันธุ์ 1 กิ่งต่อหลุม ในถาดขนาด 104 หลุม โดยใส่วัสดุชำแถวเว้นแถว เพื่อให้มีการระบายอากาศระหว่างแถวชำ เนื่องจากจิ๊บซอฟฟิล่าเป็นพืชที่เน่าง่ายมาก ดังนั้นโรงปักชำควรมีการพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์ และมีการให้น้ำแบบระบบพ่นฝอย โดยมีการควบคุมการให้น้ำอย่างใกล้ชิด

การอนุบาลกิ่งพันธุ์ ภายหลังจากปักชำ 3 - 6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และสายพันธุ์ เมื่อรากจะเริ่มงอก ควรมีการอนุบาลในโรงเรือนที่มีการพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์ ระยะหนึ่งก่อนนำไปปลูกในแปลงโดยมีขั้นตอนในการดูแลรักษาเช่นเดียวกับการดูแลรักษาต้นแม่พันธุ์

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก

การเตรียมดินและการปลูก ดินที่เหมาะสมในการปลูกต้องระบายน้ำดี ปริมาณเกลือในดินต่ำ ถ้าเป็นดินเหนียวสามารถปรับปรุงโดยการเพิ่มวัสดุพวกทราย หรืออินทรีย์วัตถุอื่นๆ เนื่องจากจิ๊บซอฟฟิล่าเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนปนทราย และมีความเป็นด่างเล็กน้อย

การปลูก ควรปลูกแถวคู่ ในแปลงควรมีระยะปลูก 30 เซนติเมตร หรือ 40 เซนติเมตร และหลักสำคัญในการปลูกจิ๊บซอฟฟิล่าลงในแปลงปลูก คือ ต้องปลูกตื้น ส่วนการปลูกลึกจะทำให้เกิดปัญหาโรคจากเชื้อราได้ง่าย

การเด็ดยอด การเด็ดยอดต้นที่ปลูกจะทำหลังปลูกได้ 1 เดือน หรือเมื่อต้นมีการยืดยาว ทั้งนี้เพื่อให้ต้นมีการแตกกิ่งแขนง การเด็ดจะใช้มือหรือใช้ใบมีดขนาดเล็กตัด

การพยุงต้น ต้นจิ๊บซอฟฟิล่าที่ปลูกในแปลงควรมีการพยุงต้น เพื่อป้องกันการโค้งงอของกิ่ง การพยุงทำได้โดยการใช้ลวดหรือเชือกขึงไปตามความยาวด้านข้างของแปลง ในระดับกึ่งกลางของต้นโดยมีเสาปักเป็นระยะทุกๆ 2 - 3 เมตร

การดูแลรักษา

การให้น้ำ จิ๊บซอฟฟิล่าเป็นพืชที่ต้องการน้ำปานกลาง การให้น้ำมากเกินไป จะทำให้ต้นเน่าตาย หากมีการให้น้อยเกินไปโดยเฉพาะในระยะกำลังให้ดอก ดอกจะมีลักษณะแห้งและมีสีน้ำตาล หากขาดในระยะเก็บเกี่ยวจะทำให้คุณภาพดอกลดลง

การให้ปุ๋ย ในการให้ปุ๋ยจะมีทั้งการให้ปุ๋ยเม็ด และปุ๋ยทางน้ำ โดยปุ๋ยเม็ดจะให้รองพื้นก่อนมีการปลูกลงแปลง ส่วนปุ๋ยทางน้ำจะให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งปุ๋ยทางน้ำจะมีส่วนประกอบดังนี้ 12-60-0 13-0-46 15-0-0 แมกนีเซียมซัลเฟต และยูนิ-เลท หรือไบโฟลาน

ความยาววัน จิ๊บซอฟฟิล่าเป็นพืชวันยาว และต้องการสภาพวันยาวเพื่อสร้างดอกที่มีคุณภาพดี ความเข้มแสงที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 60 - 100 ลักซ์ โดยทำการให้ 3 - 4 ชั่วโมงต่อวัน

การปลูกจิ๊บซอฟฟิล่า หลังจากที่ให้ดอกแล้วส่วนบนดินจะยุบตัว แต่ส่วนของรากยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป และจะแตกหน่อใหม่ในฤดูถัดไปได้อีก ดังนั้นในการผลิตจิ๊บซอฟฟิล่าสามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2 ครั้ง ใน 1 รอบการปลูก โดยหลังจากตัดดอกในรุ่นที่ 1 ให้ตัดต้นที่เหลือลงชิดดิน โดยไม่มีใบและต้นเดิมเหลืออยู่ รอให้มีการแตกกิ่งแขนงใหม่จึงดูแลรักษาเช่นเดิม

โรคและศัตรูพืช

โรครากเน่า 

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia sp. และ Fusarium sp. 

ลักษณะอาการ บริเวณโคนที่ติดกับดินจะมีอาการเน่าแห้ง เนื้อของลำต้นเปื่อย ในสภาวะที่ชื้นจะพบเส้นใยสีขาว เปลือกของลำต้นจะลอกหลุดออกง่าย หากโรคลุกลามสู่ระบบราก รากจะเปื่อยยุ่ย ทำให้พืชเกิดอาการเหี่ยวแห้งตาย 

การป้องกันกำจัด

1. บริเวณปลูกไม่ควรมีน้ำขังแฉะ โดยต้องมีการระบายน้ำดี

2. ถอนต้นที่แสดงอาการออกเผาทำลาย 

3. การป้องกันสามารถนำเชื้อไตรโคเดอร์มา มาผสมลงในวัสดุปลูก โดยใช้รองก้นหลุมและควรใส่เป็นประจำสม่ำเสมอ ในอัตรา 30 - 50 กรัมต่อหลุม

4. หากมีการระบาดที่รุนแรงควรใช้สารเคมีจำพวก บีโนมิล (ฟูโนมิล หรือฟันดาโซล) ผสมแคปแทน (1:1) ราดหรือฉีดพ่นให้ชุ่มเพื่อให้สารเคมีซึมลงไปในดิน บริเวณที่ขุดออกและต้นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง สลับเทอร์ราคลอร์ – ซุปเปอร์เอ็กซ์

แมลงศัตรูพืช

แมลงวันหนอนชอนใบ

ตัวเต็มวัยของหนอนชอนใบเป็นแมลงวันขนาดเล็ก วางไข่ในเนื้อเยื่อพืช เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่ จะกัดกินเนื้อเยื่อพืชเป็นเส้นคดเคี้ยว ตัวหนอนมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อน หัวและท้ายแหลม เข้าดักแด้บนใบหรือหล่นบนพื้นดิน ซึ่งทำความเสียหายให้กับจิ๊บซอฟฟิล่ามาก

การป้องกันและกำจัด

1. หนอนชอนใบจะเข้าดักแด้ที่ใบและอาจร่วงหล่นลงดิน ดังนั้นควรกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน โดยไถดินตากแดดก่อนปลูกพืช ซึ่งจะช่วยลดประชากรของหนอนชอนใบได้

2. ปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารของหนอนชอนใบสลับ

3. หากมีการระบาดอย่างรุนแรง ใช้สารเคมีอะบาเม็คติน หรือคาสเคดฉีดพ่น

หนอนกระทู้ผัก

หนอนกระทู้ผัก เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อที่มักพบระบาดในพืชสวนหลายชนิด มักจะทำความเสียหายให้กับจิ๊บซอฟฟิล่ามากโดยเฉพาะส่วนที่อ่อน เช่น บริเวณยอดและต้นอ่อน ซึ่งพบว่ามีการระบาดตลอดทั้งปี

การป้องกันและกำจัด

หนอนกระทู้ผักจะวางไข่เป็นกลุ่ม ดังนั้นเมื่อพบกลุ่มไข่หรือหนอนควรทำลายทิ้ง หากมีการระบาดที่รุนแรงอาจใช้สารเคมีจำพวกไซเปอร์เมทริน เดลทาเมทริน หรืออะบาเมคติน

การเก็บเกี่ยว

 

การเก็บเกี่ยวดอก ควรทำเมื่อดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งช่อดอก ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วไปเมื่อดอกไปถึงปลายทางดอกจะไม่บาน แต่หากเก็บเกี่ยวช้าไปดอกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเก็บเกี่ยว คือ ในช่วงเช้า การเก็บเกี่ยวควรทำทุกๆ 2 - 3 วัน

สารเคมีที่ช่วยให้ดอกบาน มักใช้สารละลายเงินไนเตรท หรือ Silver thiosalfate ร่วมกับน้ำตาลซูโครส 100 กรัมต่อลิตร

การเก็บรักษา สามารถเก็บรักษาในสภาพเปียก (Wet Storage) ได้นาน 1 - 3 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ส่วนการเก็บแบบแห้ง (Dry Storage) ได้นาน 3 วัน

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.