บอลลูนฟลาวเวอร์
ชื่อสามัญ balloon cottonbush, balloon plant, bladderbush, wild cotton
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphocarpus physocarpus
ลักษณะทั่วไป
บอนลูน ฟลาวเวอร์ มีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ สวอน แพล้นซ์ ไข่หงส์ ปักเป้า จัดอยู่ในตระกูล Asclepiadaceae เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกา และแถบเมดิเตอร์เรเนียน ต้นมีลักษณะเป็นพุ่มสูงประมาณ 1 - 2.5 เมตร ดอกออกเป็นช่อ (Umbel) สีขาวครีม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปทรงแคบและยาว ขนาดความกว้าง 0.5 - 1.5 เซนติเมตร ยาว 4 - 12.5 เซนติเมตร ผลมีสีเขียวอ่อน มีขนอ่อนนุ่มยาว 0.5 - 1.0 เซนติเมตร ปกคลุมทั่วทั้งผล ภายในผลมีลักษณะเป็นช่องอากาศ ทำให้ผลมีลักษณะพองคล้ายลูกบอล ถัดเข้าไปจะเป็นกลุ่มของเมล็ดซึ่งรวมอัดกันแน่น มีขนสีขาว (white silky hairs) ติดกับเมล็ด เมื่อผลแห้งจะแตกข้างเดียว และจะมีปุยนุ่นปลิวติดกับเมล็ดไป
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
อุณหภูมิ สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกบอลลูน ฟลาวเวอร์ให้มีคุณภาพดีนั้น ลักษณะภูมิอากาศควรมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 20 - 30 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงหรือต่ำจนเกินไปจะมีผลต่อการติดผล
แสง เนื่องจากบอลลูน ฟลาวเวอร์ เป็นพืชที่ชอบแสงแดดเต็มที่ ดังนั้นสถานที่ปลูกบอลลูน ฟลาวเวอร์ ควรเป็นที่โล่งแจ้งมีแสงแดดส่องได้ตลอดทั้งวันและบอลลูน ฟลาวเวอร์ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพนอกโรงเรือน
การขยายพันธุ์ บอลลูน ฟลาวเวอร์ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีด้วยกันทั้งใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง โดยการเพาะกล้าจะเพาะแบบประณีตในถาดหลุม ประมาณ 7 - 10 วัน เมล็ดก็จะเริ่มงอก และต้องอนุบาลดูแลต้นกล้าจนอายุได้ 1 - 1.5 เดือน หรือต้นกล้าสูงประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ก็พร้อมที่จะปลูกลงแปลงได้ อีกวิธีการ คือ การปักชำโดยใช้กิ่งพันธุ์ที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ส่วนวิธีการก็คล้ายกับการขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง ไม้ดอก ไม้ประดับ ทั่วไป
การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก
การปลูกบอลลูน ฟลาวเวอร์ จะแตกต่างจากการปลูกไม้ดอกทั่วไป เนื่องจากบอลลูน ฟลาวเวอร์ ทรงต้นมีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นแปลง แต่จะปลูกเป็นหลุมแทนการขึ้นแปลง ควรใช้ระยะปลูก 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร การปลูกควรจะมีการเลือกพื้นที่ปลูกเป็นที่โล่งแจ้งได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน และควรเป็นพื้นที่ที่มีน้ำตลอดฤดูกาล
การดูแลรักษา
การให้น้ำ การปลูกควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง เนื่องจากบอลลูน ฟลาวเวอร์เป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง เพื่อช่วยในการกระตุ้นการติดผล
การให้ปุ๋ย การให้ปุ๋ยกับบอลลูน ฟลาวเวอร์ สามารถแบ่งออกเป็นช่วงๆ ดังนี้
ช่วงที่ 1 ใส่ปุ๋ย 46-0-0 กับ 15-15-15 อัตรา 10 กรัมต่อต้น หลังปลูก 15 - 20 วัน
ช่วงที่ 2 ใส่ปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 10 กรัมต่อต้น หลังปลูก 45 - 60 วัน
ช่วงที่ 3 ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 10 กรัมต่อต้น เมื่อบอลลูน ฟลาวเวอร์ เริ่มติดผล
โรคและศัตรูพืช
โรคเหี่ยว (wilt)
สาเหตุเชื้อราSclerotium sp.
อาการ จะมีลักษณะเหี่ยว เมื่อตรวจดูตรงโคนต้นที่สัมผัสกับดิน จะพบเส้นใยสีขาวหยาบๆ และเส้นใยจะสานพันกันเป็นก้อนเล็กๆ สีขาว ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาลคล้ายเมล็ดผักกาด
การป้องกันและกำจัด ควรตากดินก่อนการเพาะปลูก หากเกิดเพียงเล็กน้อยให้ถอนต้นที่แสดงอาการทิ้งไป แต่หากมีการระบาดมากให้ใช้สารเคมี คาร์บอกซิล (ไวตาแวกซ์) ผสมน้ำราดบริเวณโคนต้นที่เริ่มแสดงอาการและต้นใกล้เคียง
เพลี้ยอ่อน (Aphid)
การทำลายเพลี้ยอ่อนมักจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนที่อ่อน เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อนหรือฝักอ่อนซึ่งแมลงชนิดนี้จะระบาดมากในฤดูที่อากาศร้อน และแห้ง
การป้องกันและกำจัด
1. ควรมีการให้น้ำกับบอลลูน ฟลาวเวอร์ ด้วยระบบสปริงเกอร์ ซึ่งสามารถช่วยได้มาก
2. หากมีการระบาดมากให้ใช้สารเคมี เซฟวิน 85 WP
หนอนผีเสื้อดอกรัก
หนอนชนิดนี้จะทำลายทุกส่วนที่ยังอ่อนของต้นบอลลูน ฟลาวเวอร์ เช่น ใบและยอดอ่อน แต่การระบาดจะไม่รุนแรงมากนัก มักจะจัดการโดยการจับทำลาย
ไรแดง
ไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนของยอดอ่อน ใบอ่อนและฝักอ่อน ตัวมีขนาดเล็กมักจะทำให้ยอดบอลลูน ฟลาวเวอร์ หงิก ใบหดสั้น กระด้าง หรืออาจจะพบลักษณะอาการขอบใบม้วน ซึ่งจะระบาดในฤดูที่อากาศร้อนและแห้ง
การป้องกันและกำจัด
1. หากระบาดไม่รุนแรงให้ทำลายต้นที่มีการระบาดออกจากแปลง
2. หากมีการระบาดที่รุนแรงให้ใช้กำมะถัน (wettable sulfur) อัตรา 60 - 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวบอลลูน ฟลาวเวอร์ จะทำการเก็บเกี่ยวเมื่อผลเจริญเต็มที่ สังเกตได้จากผลมีสีเขียวอ่อน ผิวตึง โดยทำการตัดแต่งใบทิ้งให้หมด ซึ่งการตัดแต่งใบนี้จะช่วยลดการคายน้ำโดยการเก็บเกี่ยวจะปฏิบัติในช่วงเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเปื้อนยางของบอลลูน ฟลาวเวอร์
การบรรจุหีบห่อ จะทำการตัดแต่งใบและกิ่งบอลลูน ฟลาวเวอร์ออก โดยให้มีความยาวกิ่งประมาณ 60 - 70 เซนติเมตร กำละ 5 กิ่ง ผลจะห่อด้วยกระดาษขาวบาง ปลายก้านห่อหุ้มด้วยสำลีชุบน้ำ หากมีปัญหาของยางบอลลูน ฟลาวเวอร์ ให้แก้ด้วยการแช่น้ำอุ่นซึ่งจะช่วยได้มาก การเก็บรักษาจะทำการเก็บแบบเปียก (wet storage) สามารถเก็บได้นาน 2 - 4 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย
เอกสารอ้างอิง :
มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.