องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

งาขี้ม้อน

ชื่อสามัญ  Asian beefsteak plant, Wild coleus

ชื่อวิทยาศาสตร์  Perilla frutescens (L.) Britton

วงศ์   LABIATAE

ภาคเหนือ งาขี้ม้อน งามน นอ ภาคกลาง แง น่อง ภาคอีสาน ผักโตเกียว ภาคใต้ -

งาขี้ม้อนเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ทุกส่วนของลำต้นและใบมีขนสีขาวอ่อนนุ่มปกคลุมเห็นได้ชัด ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ป้อม โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ชูตั้งขึ้นคล้ายกระบอง ดอกย่อยสีขาว ผลเป็นผลแห้ง ภายในมี 4 เมล็ด

สภาพนิเวศ : ขึ้นได้ดีในที่โล่งแจ้ง ดินร่วน ระบายน้ำได้ดี และมีอินทรียวัตถุสูง 

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : เมล็ดงาจะแก่ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ชาวบ้านนิยมนำมาตำและคลุกกับข้าวเหนียวร้อนๆ ให้รสหอมมัน เรียก ข้าวหนุกงา ใบนำมาห่อขนมจ๊อก(ขนมเทียน) ให้กลิ่นหอม ส่วนน้ำมันงากินแล้วช่วยบรรเทาอาการปวดข้อปวดกระดูก

แหล่งที่พบ : พบปลูกทั่วไปตามสวนครัวรอบบ้าน หรือพื้นที่เกษตร

เกร็ดน่ารู้ : งาขี้ม้อนมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง โดยเฉพาะ โอเมกา 3 และ 6 ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ บำรุงร่างกาย แก้โรคภูมิแพ้ น้ำมันจากเมล็ดใช้ปรุงอาหาร เป็นยาชูกำลัง และแก้ท้องผูก