กะหล่ำปลีรูปหัวใจ
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป กะหล่ำปลีรูปหัวใจ เป็นพืชข้ามฤดู แต่นิยมปลูกฤดูเดียว มีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอร์เรเนียนของทวีปยุโรปจนถึงประเทศอังกฤษ ลักษณะลำต้นที่เรียกว่า core มีขนาดสั้นมาก ใบเดี่ยวเรียงตัวห่อ ซ้อนๆ กันหลายชั้น เกาะกันแน่น เป็นรูปโคนคว่ำ หรือหัวใจ ความแน่นของหัวขึ้นอยู่กับการจัดเรียงตัวของใบ ใบหนา กรอบ ใบนอกมีสีเขียว ส่วนใบด้านในมีสีเขียวอ่อนกว่าหรือขาว ให้ผลผลิตดีในช่วงฤดูหนาว
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร กะหล่ำปลีรูปหัวใจเป็นพืชที่มีเยื่อใยสูง อุดมไปด้วยวิตามินซีค่อนข้างสูง ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีสารซัลเฟอร์ (sulfur) ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่และต้านสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย การกินกะหล่ำปลีบ่อยๆ จะช่วยลดโอกาสเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ มะเร็งในช่องท้อง ลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยระงับประสาททำให้นอนหลับได้ดี ข้อพึงระวัง กะหล่ำปลีมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า goitrogen เล็กน้อย ถ้าสารนี้มีมากจะไปขัดขวางการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้นำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อย ดังนั้นไม่ควรกินกะหล่ำปลีสด ๆ วันละ 1 – 2 กก.แต่ถ้าสุกแล้วสาร goitrogen จะหายไป
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
กะหล่ำปลีรูปหัวใจเป็นพืชเขตหนาวเจริญได้ดีในสภาพอุณหภูมิต่ำ ความชื้นสูง อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 15 – 20 องศาเซลเซียสหรือเฉลี่ยไม่เกิน 24 องศาเซลเซียส หากปลูกในสภาพอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสพืชจะชะงักการเจริญเติบโต ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนต่ออุณหภูมิสูง สำหรับดินที่เหมาะสมต่อการปลูกควรโปร่ง ร่วนซุย การระบายน้ำ อากาศดี และมีค่าความเป็นกรด – ด่างอยู่ในช่วง 6.0 – 6.5 ควรให้อย่างพอเพียง เนื่องจากกะหล่ำปลีเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในดินมาก หากความชื้นในดินต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผลผลิตลดลงกว่าปกติ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ระยะที่กะหล่ำปลีต้องการน้ำมากที่สุด ได้แก่ ระยะการเจริญเติบโตเต็มที่ และระยะเริ่มห่อปลี
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า ควรเพาะกล้าในถาดหลุม หรือหยอดเมล็ดโดยตรง อายุกล้าไม่ควรเกิน 25 วัน หากย้ายกล้าช้าจะมีผลต่อการเข้าปลี
การเตรียมดิน ควรไถดินให้ลึกประมาณ 10 – 15 ซม. ตากดินทิ้งไว้ 5 – 7 วัน เก็บเศษวัชพืชออกให้หมด
การปลูก ขึ้นแปลงกว้าง 1 – 1.2 เมตร สำหรับฤดูฝนควรยกแปลงให้สูงกว่าปกติ 30 – 50 เซนติเมตร เพื่อการระบายน้ำ ควรรองพื้นก่อนปลูกด้วยปุ๋ย 12 – 24 – 12 อัตรา 30 กรัม/ ตร.ม. ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 2 – 4 ตัน/ไร่ (2 กก./ตร.ม.) ข้อควรระวัง หากปลูกในฤดูร้อน ควรให้น้ำสม่ำเสมอ หากขาดน้ำจะเข้า ปลีหลวม
การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูกาลปลูก ถ้าขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และมีผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิต
การให้ปุ๋ย ประมาณ 5 – 7 วัน ควรมีการปลูกซ่อมกล้าที่ตาย หลังย้ายปลูก 7 – 10 วัน ใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 หรือ 46 – 0 – 0 อัตรา 20 – 25 กรัม/ตร.ม. หลังจากนั้น 7 – 10 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ส่วนการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 ช่วงการเข้าปลี ใช้ปุ๋ย 13 – 13 – 21 และควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันศัตรูพืช ป้องกันหนอนเจาะกะหล่ำ และแมลงศัตรูอื่นๆ
ข้อควรระวัง
- ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่มีฝนตกชุก เนื่องจากจะทำให้ปลีเน่าได้
- ช่วงฤดูฝนต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายมาก
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่ออายุ 60 – 70 วัน หลังย้ายกล้าปลูก ห่อหัวแน่นพอดี เก็บเกี่ยวเมื่ออายุและขนาดเหมาะสม ควรมีใบห่อหุ้มไม่เกิน 3 ใบ คัดเลือกหัวที่มีตำหนิทิ้ง ทาด้วยปูนแดงที่รอยตัดและผึ่งให้แห้ง บรรจุในตะกร้าพลาสติกโดยมีกระดาษกรุรองทั้งตระกร้า
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นกะหล่ำปลีรูปหัวใจทั้งหัว เข้าหัวแน่น ไม่มีตำหนิต่างๆ สด สะอาด แก่พอดี ไม่แทงช่อดอก มีใบนอก 2 – 3 ใบ ปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. มีน้ำหนัก 600 – 1500 กรัม
2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. มีน้ำหนัก 300 – 600 กรัม
2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. มีน้ำหนักต่ำกว่า 300 กรัม
2. มีตำหนิต่างๆ ได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนภาชนะบรรจุ
3. ปลอดภัยจากสารเคมี
ข้อกำหนดในการจัดเรียง กะหล่ำปลีรูปหัวใจในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน พันธุ์เดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 98 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 3 – 6สัปดาห์
ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์