เหงือกปลาหมอ
ชื่อสามัญ Saltbush, Sea holly
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acanthus ebracteatus Vahl
วงศ์ ACANTHACEAE
ภาคเหนือ เหงือกปลาหมอ ภาคกลาง เหงือกปลาหมอ ภาคอีสาน - ภาคใต้ แก้มหมอ แก้มหมอเล
เหงือกปลาหมอเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีหนามตามข้อ ลำต้นเป็นโพรง เมื่อแก่มีรากค้ำจุนและรากอากาศ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ขอบใบจักฟันเลื่อยห่าง ปลายซี่เป็นหนาม ผิวใบเรียบเป็นมัน เนื้อใบเหนียวแข็ง ดอกเป็นช่อออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวมีจุดประสีม่วงแดง ผลเป็นฝักรูปไข่หรือทรงกระบอก เมล็ดรูปกระดุม ผิวเกลี้ยง
สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นตามชายน้ำ ริมลำคลอง รวมถึงพื้นที่ชุ่มชื้นที่มีน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยเข้าถึง
การขยายพันธุ์ : ปักชำกิ่ง
สถานภาพในชุมชนปางมะโอ
การใช้ประโยชน์ : มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ใบต้มผสมกับน้ำผึ้งให้ไก่ชนกินเป็นยาบำรุงกำลัง
แหล่งที่พบ : พบปลูกตามรั้วรอบบ้าน
เกร็ดน่ารู้ : เหงือกปลาหมอ มี 2 ชนิดคือ เหงือกปลาหมอดอกขาว (A. ebracteatus ) และเหงือกปลาหมอดอกม่วง (A. ilicifolius) ทั้งสองชนิดมีรายงานว่ามีสารประกอบ Glycoside ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเกิดพิษที่ตับ และต้านการอักเสบ