กะหล่ำปลีซาวอย
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป กะหล่ำปลีซาวอย มีลักษณะคล้ายกะหล่ำปลี ใบมีลักษณะหยิกย่นและกรอบกว่าเล็กน้อย กะหล่ำปลีซาวอยมีแคลเซียมและโฟเลทสูง สามารถรับประทานสดหรือนำมาประกอบอาหารได้เช่นเดียวกับกะหล่ำปลี
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร กะหล่ำปลีเป็นพืชที่มีเยื่อใยอาหารสูง และอุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารหลายชนิด เช่น โปรตีน (สาร indoles ซึ่งเป็นผลึกที่แยกมาจาก trytophan; กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย) คาร์โบไฮเดรต โซเดียม วิตามินซีซึ่งพบค่อนข้างมากกว่ากะหล่ำปลีสีเขียวถึงสองเท่า ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีสารซัลเฟอร์ (sulfer) ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่และต้านสารก่อมะเร็งที่เข้าสู่ร่างกาย การกินกะหล่ำปลีบ่อย ๆ จะช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งในช่องท้อง ลดระดับคลอเรสเตอรอลและช่วยระงับประสาท ทำให้นอนหลับได้ดี น้ำกะหล่ำปลีคั้นสด ๆ ช่วยรักษาโรคกะเพาะ อย่างไรก็ตามกะหล่ำปลีมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า goitrogen เล็กน้อย ถ้าสารนี้มีมากจะไปขัดขวางการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้นำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อย ดังนั้นไม่ควรกินกะหล่ำปลีสด ๆ วันละ 1 – 2 กก. แต่ถ้าสุกแล้วสาร goitrogen จะหายไป นิยมรับประทานสด เช่น ใส่สลัด หรือนำมาตกแต่งจานอาหาร การนำมาประกอบอาหารไม่ควรผ่านความร้อนนาน เพราะจะทำให้สูญเสียวิตามินและคุณค่าอาหาร
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
กะหล่ำปลีสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะดินที่มีลักษณะโปร่งและร่วนซุย มีความชื้นในดินและมีค่าความเป็นกรดด่าง อยู่ในช่วง 6 – 6.5 สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 15 – 20 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส อัตราการเจริญและผลผลิตจะลดลง อย่างไรก็ตามระดับอุณหภูมิอาจมีผลกระทบแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สำหรับการให้น้ำควรให้อย่างพอเพียง เนื่องจากกะหล่ำปลีเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในดินมาก หากความชื้นในดินต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผลผลิตลดลงกว่าปกติ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ระยะที่กะหล่ำปลีต้องการน้ำมากที่สุด ได้แก่ ระยะการเจริญเติบโตเต็มที่ และระยะเริ่มห่อปลี
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า เพาะกล้าแบบประณีตในถาดหลุมหรือเพาะในแปลงก็ได้ อายุกล้าไม่ควรเกิน 25 วัน หากเพาะในแปลง ควรมีตาขายกันฝนกระแทก และควรใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มา คลุกวัสดุเพาะเพื่อป้องกันโรคโคนเน่า หากไม่ได้เพาะในวัสดุปลูกสำเร็จรูป และฉีดพ่นเซฟวิน ป้องกันมด แมลง ทำลายเมล็ดพันธุ์
การเตรียมดิน ขุดดินตากแดด อย่างน้อย 14 วัน โรยปูนขาวอัตรา 0 – 100 กรัม /ตร. ม.
การปลูก ขึ้นแปลงกว้าง 1–1.5 เมตร สำหรับฤดูฝนให้แปลงสูงกว่าปกติ 30 – 50 ซม. เพื่อการระบายน้ำ รองพื้นด้วยปุ๋ยเคมี 12–24–12 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม. ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก อัตรา 2 – 4 กิโลกรัม/ตร.ม. ระยะปลูก ฤดูฝนและฤดูหนาว 40 x 40 ซม. ฤดูแล้ง 40 x 30 ซม.
ข้อควรระวัง
- เป็นพืชที่มีความต้องการปุ๋ยปริมาณมาก โดยเฉพาะปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก
- ควรรองพื้นก่อนปลูกด้วยโบแรกซ์
การให้น้ำ ใช้สปิงเกอร์
การให้ปุ๋ย ประมาณ 5 – 7 วัน ควรมีการปลูกซ่อมกล้าที่ตาย เมื่อย้ายปลูกได้ 7–10 วัน ใส่ปุ๋ย 15–15–15 และ 21–0–0 อย่างละ 20 – 25 กรัม/ตร.ม. และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่ออายุได้ 25 – 30 วัน และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 เมื่อเริ่มเข้าหัว มีอายุ 45 – 50 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช แล้วพ่นสารเคมีป้องกันศัตรูพืช ถ้ามีพบการเข้าทำลายของศัตรูพืช
ข้อควรระวัง
- ควรหลีกเลียงพื้นที่ฝนตกชุก และมีน้ำขัง แสงแดดน้อย
- เป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยในปริมาณที่มาก หากปุ๋ยไม่เพียงพอจะทำให้อายุการเติบโตยาวนานมากขึ้น
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่อมีอายุ 150 – 200 วัน (ตั้งแต่เพาะเมล็ด สำหรับพันธุ์ Santana) เก็บเกี่ยวเมื่ออายุเหมาะสม (ห่อหัวแน่น) โดยใช้มีดคมตัด จากนั้นตัดแต่งเอาใบนอกออกเหลือไว้ 2 – 3 ใบ และใบที่มีตำหนิจากการเก็บเกี่ยวหรือโรคและแมลงออก ผึ่งให้แห้ง ทารอยตัดที่ลำต้นด้วยปูนแดง บรรจุในตะกร้าพลาสติกให้พอดี โดยมีกระดาษกรุรองทั้งตะกร้า ขนส่งโดยรถบรรทุกธรรมดา หรือรถห้องเย็น
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นกะหล่ำปลีซาวอยทั้งหัว สด หัวไม่แยกจากกัน แก่พอดี ไม่แทงช่อดอก สะอาด ตัดแต่งให้เหลือใบนอกอยู่ 2 – 3 ใบ ปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. มีน้ำหนัก 500 กรัมต่อหัวขึ้นไป
2. มีลักษณะตรงตามพันธุ์
3. เข้าหัวแน่น ไม่มีตำหนิจากโรคและแมลง
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. มีน้ำหนัก 350 – 500 กรัมต่อหัว
2. มีตำหนิจากการแตกของก้านใบได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในภาชนะบรรจุ
3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. มีน้ำหนักน้อยกว่า 350 กรัมต่อหัว
2. มีตำหนิได้
3. ปลอดภัยจากสารเคมี
ข้อกำหนดในการจัดเรียง กะหล่ำปลีซาวอยในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน พันธุ์เดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเตรียมสู่ตลาด 1. ตัดแต่งใบนอก หรือใบที่เสียหายออก และตัดปลายก้านออก 2. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู หรือห่อหัวด้วยพลาสติกโพลีไวนีลคลอไรด์ (PVC)
การเก็บรักษา ที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 98 – 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บรักษาได้นานประมาณ 3 – 6 สัปดาห์
ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ธ.ค. - มี.ค.
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์