เปล้าหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton roxburghii N.P. Balakr.
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ภาคเหนือ เปล้าหลวง ภาคกลาง เปล้าใหญ่ เปาะ ภาคอีสาน เปล้า ภาคใต้ -
เปล้าหลวงเป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้น เปลือกสีเทาค่อนข้างเรียบ ใบเดี่ยวออกเวียนสลับ รูปขอบขนานแกมรูปรี ขอบใบจักฟันเลื่อยห่างๆ ผิวใบด้านบนมีต่อมขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกเป็นช่อยาวออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีขาวอมเขียว ผลแห้งแตกทรงกลม มี 3 พู มี 1 เมล็ด
สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ หรือที่โล่งแจ้ง
การขยายพันธุ์ : ปักชำราก
สถานภาพในชุมชนปางมะโอ
การใช้ประโยชน์ : กิ่ง ใบ และลำต้น นำมาต้มน้ำอาบ สำหรับสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น รากต้มกินแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย น้ำยางจากใบทาให้ความชุ่มชื้นกับริมฝีปากในฤดูหนาว
แหล่งที่พบ : พบในป่ารอบชุมชน หรือที่โล่งตามพื้นที่เกษตร
เกร็ดน่ารู้ : เปล้าหลวงเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน ใบแก้คันตามตัว ดอกช่วยขับพยาธิ เปลือกต้นต้มน้ำดื่ม เป็นยาแก้ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เมล็ดสกัดให้น้ำมันที่เป็นยาถ่ายพยาธิอย่างแรงและเป็นพิษ