องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กะหล่ำดอกม่วง

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

มีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอร์เรเนียน เป็นผักประเภทอายุปีเดียวและอายุสองปี แต่ส่วนใหญ่ปลูกเป็นผักอายุปีเดียว ลำต้นสูงประมาณ 40-55 เซนติเมตร ขนาดดอกหนักประมาณ 0.5 - 1.20 กิโลกรัม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60 - 90 วัน

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร กะหล่ำดอกเป็นพืชผักที่ใช้บริโภคส่วนของดอกที่อยู่บริเวณปลายยอดของลำต้น ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนสีขาวถึงเหลืองอ่อน อัดตัวกันแน่น อวบและกรอบ ซึ่งนิยมเรียกส่วนดังกล่าวว่า ดอกกะหล่ำ ถ้าหากปล่อยให้เจริญเติบโตพัฒนาต่อไปก็จะเป็นช่อดอกและติดเมล็ดได้

กะหล่ำดอกเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมนำมาประกอบอาหารของคนทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารระดับภัตตาคาร ระดับโรงแรมหรือในร้านข้าวแกง รวมไปถึงตามครัวใหญ่ครัวเล็กของบ้านต่างๆ เหตุที่กะหล่ำดอกได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากเนื่องจากมีรสชาติอร่อย กรอบหวาน มีสีดอกเหลืองอ่อนน่ารับประทาน ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง ทั้งผัด แกง ใส่ก๋วยเตี๋ยวหรืออื่นๆ อีกมากมาย กะหล่ำดอกเป็นผักที่ขายได้ราคาดี ไม่ค่อยเสียหายระหว่างขนส่ง เก็บไว้ได้นานกว่าผักอื่นหลายชนิด เพราะลำต้นแข็งแรง เนื้อแน่น และไม่อวบน้ำ รับประทานส่วนของดอกสีม่วงนำมาประกอบอาหารได้เช่นเดียวกันกับบร็อคโคลี่ สีม่วงของดอกช่วยเพิ่มสีสันของอาหารให้ดูแปลกตาน่ารับประทานยิ่งขึ้น

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเพาะต้นกล้า การเตรียมแปลงเพาะกล้าให้ไถดินให้ลึกประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 5 - 7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดี แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน พรวนย่อยชั้นผิวดินให้ละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดตกลึกลงไปในร่องดิน ทำให้ไม่งอกหรืองอกยาก หลังจากเตรียมแปลงเพาะเรียบร้อยแล้ว จึงทำการหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วพื้นผิวแปลงเพาะอย่างสม่ำเสมอ ระวังอย่าหว่านกล้าให้แน่นเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโรคโคนเน่าคอดินได้ หลังจากหว่านเมล็ดแล้วให้หว่านกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว หรือดินผสมละเอียด หนาประมาณ 0.6 - 1 เซนติเมตร หรือทำร่องเป็นแถวลึกประมาณ 1 - 2 เซนติเมตร หลังโรยเมล็ดเป็นแถวตามร่องแต่ละแถวห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร แล้วกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหรือดินผสมละเอียดเช่นกัน หลักจากหว่านเมล็ดเรียบร้อยแล้วคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งสะอาดบางๆ รดน้ำให้ชุ่มเมื่อต้นกล้างอกเริ่มมีใบจริงควรถอนแยกต้นที่อ่อนแอ ต้นไม่สมบูรณ์และขึ้นเบียดเสียดกันแน่นเกินไปออก ให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5 - 8 เซนติเมตร ช่วงนี้ควรให้ปุ๋ยพวกสารละลายสตาร์ทเตอร์โซลูชั่นแก่ต้นกล้า และหมั่นตรวจดูแลป้องกันโรคแมลงที่เกิด จนกระทั่วเมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณ 30 - 40 วัน จึงทำการย้ายกล้าลงแปลงปลูกต่อไป

การปลูก เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 3 - 4 ใบ อายุได้ประมาณ 30 - 40 วัน ต้นสูงประมาณ 10 - 12 เซนติเมตร จึงทำการย้ายกล้าปลูกลงแปลง ไม่ควรปล่อยให้ต้นกล้ามีอายุแก่เกินไป จะทำให้รากเกิดการกระทบกระเทือนได้ง่ายขณะทำการย้าย มีผลให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ก่อนย้ายต้นกล้าให้รดน้ำบนแปลเพาะกล้าให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ ควรเลือกย้ายกล้าในวันที่แสงแดดไม่จัด และย้ายในเวลาเย็นหรือช่วงอากาศมืดครึ้ม เพื่อหลีกเลี่ยนการคายน้ำมากเกินไปของต้นกล้า ซึ่งจะทำให้กล้าเหี่ยวตายได้

การปลูกโดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระหว่างแถว 60 เซนติเมตร โดยปลูกเป็นหลุมบนแปลง หลังจากปลูกควรกลบดินกดบริเวณโคนต้นให้แน่น จากนั้นใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมโคนต้น เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน รดน้ำให้ชุ่ม ส่วนในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัดควรหาที่ปังแดดให้ ซึ่งอาจใช้ทางมะพร้าวคลุมไว้ประมาณ 3 - 5 วัน จึงเอาทางมะพร้าวออก

การให้น้ำ ในช่วงแรกหลังจากย้ายปลูกไม่ต้องให้น้ำมากนัก เพียงให้ดินมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมออย่างเพียงพอก็พอ สังเกตดูว่าดินแฉะเกินไปหรือไม่ ถ้าดินแฉะเกินไปก็ลดปริมาณน้ำที่ให้แต่ละครั้งให้น้อยลง เพราะถ้าแฉะเกินไปจะทำให้ต้นกะหล่ำดอกเกิดโรคเน่าเละได้ง่าย เมื่อกะหล่ำดอกโตขึ้นก็ให้น้ำมากขึ้นเพราะการระเหยน้ำเกิดเร็วขึ้น ควรให้อย่างสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง เวลาเช้าและเย็น อย่าปล่อยให้กะหล่ำดอกขาดน้ำ เพราะจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและกระทบกระเทือนต่อการสร้างดอก ทำให้คุณภาพและปริมาณดอกลดลง ในฤดูแล้งควรมีการคลุมดินด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง จะช่วยให้รักษาความชื้นในดินไว้ได้ดี

การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยไนโตรเจนนับว่ามีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของกะหล่ำดอกมาก ดังนั้นในระยะแรกควรมีการให้ปุ๋ยไนโตเจนในรูปของแอมโมเนียมซัลเฟตหรือยูเรีย จากนั้นจึงใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-15 ในอัตรา 50 - 100 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก และครั้งที่ 2 ใส่เมื่อกะหล่ำดอกอายุประมาณ 30 - 40 วันหลังย้ายปลูก โดยโรยใส่ข้างต้นแล้วพรวนดินกลบลงในดิน

การคลุมดอก เมื่อดอกกะหล่ำมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 - 7 เซนติเมตร หรือดอกโตจวนจะได้ขนาดแล้วควรมีการคลุมดอก โดยรวบใบบริเวณปลายยอดเข้าหากันอย่างหลวมๆ ระวังอย่าให้แน่นเกินไป แล้วใช้ยางรัดของมัดไว้ จะทำให้ดอกกะหล่ำมีสีขาวนวลน่ารับประทาน มีคุณภาพดีเหตุที่ต้องมีการคลุมดอกก็เพื่อป้องกันแสงแดดส่องถูกผิวของดอกกะหล่ำ ซึ่งจะทำให้ดอกกะหล่ำมีสีเหลืองอันเนื่องมาจากรังสีอุลตร้าไวโอเลต ซึ่งลักษณะดอกกะหล่ำที่มีสีเหลืองตลาดมักจะไม่ต้องการ ปกติแล้วหลังจากคลุมดอกจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หรือมากกว่า แต่ถ้าในฤดูร้อนจะเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น ในปัจจุบันกะหล่ำดอกพันธุ์ใหม่ๆ จะมีใบคลุมดอกได้เองโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องคลุมดอกให้

 

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 50 – 60 วัน หลังย้ายปลูก ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดให้มีความยาวของก้านดอกวัดจากกิ่งแขนงต่ำสุด 8 เซนติเมตร ตัดแต่งใบออกให้ห่างจากลำต้นไม่เกิน 1 เซนติเมตร ตัดแต่งส่วนก้านดอกให้รอยตัดตรง ไม่ตัดเฉียง จากนั้นให้นำผลิตผลที่ตัดแต่งแล้วเข้าห้องเย็นจนผลิตผลเย็นทั่วถึงแล้วจึงบรรจุใส่กล่องโฟมที่ใส่น้ำแข็งหรือเจลไอซ์ ขนส่งโดยรถห้องเย็น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นกะหล่ำดอกม่วงทั้งดอก มีสี รูปร่างลักษณะตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ ก้านำไม่กลวง สด สะอาด ไม่แก่จนดอกแยกจากกัน ปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. มีเส้นผ่าศูนย์กลางดอกตั้งแต่ 7 เซนติเมตร

      2. ดอกตูมปิดแน่น สีดอกสม่ำเสมอ

      3. มีความยาวก้านวัดจากกิ่งแขนงต่ำสุดยาว 8 เซนติเมตร

      4. ไม่มีตำหนิจากโรคหรือแมลง

      5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. มีเส้นผ่าศูนย์กลางดอกระหว่าง 5 – 7 เซนติเมตร

      2. ดอกตูมปิดแน่น สีดอกสม่ำเสมอ

      3. ความยาวก้านวัดจากกิ่งแขนงต่ำสุดยาว 8 เซนติเมตร

      4. ก้านกลวงได้เล็กน้อย เส้นผ่าศูนย์กลางของบริเวณที่กลวงไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร

ข้อกำหนดเรื่องการจัดเรียง กะหล่ำดอกในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นชั้นคุณภาพและพันธุ์เดียวกัน มีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 – 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้ 1 – 3 สัปดาห์

ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.

โรคและศัตรูพืช 

โรครากปมของกะหล่ำ

สาเหตุ เกิดจากไส้เดือนฝอยชนิด Meloidegyne sp. ลักษณะอาการของโรคนี้ต้นกะหล่ำดอกจะแคระแกร็นไม่ค่อยเจริญเติบโต เมื่อขุดรากขึ้นมาตรวจดูจะพบว่าบริเวณรากแขนงและรากฝอยมีลักษณะบวมเป็นปมขนาดต่างๆ ทำให้รากไม่สามารถหาอาหารได้ตามปกติ นอกจากนี้ไส้เดือนฝอยตัวเมียที่เข้าไปอยู่ในปมจะไปแย่งอาหารจากพืชด้วยทำให้ลำต้นแคระแกร็นชะงักการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด ควรไถตากดินให้ลึก ใส่พวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือกากพืชให้มาก และเมื่อพบไส้เดือนฝอยชนิดนี้ระบาดควรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นสัก 1-2 ปี เช่น ข้าวโพด เป็นต้น

โรคเน่าดำ

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Xanthomonas campestris ลักษณะอาการจะเกิดขึ้นที่ใบ โดยใบจะมีสีเหลืองและแห้ง หลังจากนั้นจะปรากฏสีดำบนเส้นใบ มักพบในระยะกะหล่ำกำลังเจริญเติบโต ทำให้กะหล่ำดอกชะงักการเจริญเติบโตแคะแกร็น หากทำการผ่าตามขวางของลำต้นจะพบวงสีน้ำตาลดำบนเนื้อเยื่อของพืชและต้นอาจตายได้

การป้องกันกำจัด ใช้เมล็ดที่ปลอดโรคโดยนำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นก่อนปลูก เพื่อฆ่าเชื้อดังกล่าว และควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับบ้าง หากเกิดโรคนี้บนแปลงควรงดการปลูกพืชตระกูลกะหล่ำอย่างน้อย 3 ปี

โรคเน่าเละของกะหล่ำดอก

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia carotovara อาการในระยะแรกจะพบเป็นจุดช้ำหรือฉ่ำน้ำที่บริเวณดอก ต่อมาจุดเหล่านี้ขยายออก เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงดำ เนื้อเยื่อบริเวณแผลมีลักษณะเป็นเมือกเยิ้มมีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นมากๆ ทำให้ดอกเกิดอาการเน่าเละเป็นสีน้ำตาลดำไปทั้งดอก และโรคนี้จะแพร่ไปยังต้นที่อยู่ใกล้เคียงโดยมีแมลงวันเป็นพาหนะ

การป้องกันกำจัด ระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลบนดอกกะหล่ำ กำจัดแมลงที่กัดกินดอกกะหล่ำ และเมื่อพบดอกกะหล่ำที่แสดงอาการให้ตัดไปเผาทำลาย

หนอนใยผัก

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plutella xylostella เป็นหนอนที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาหนอนผีเสื้อศัตรูผัก ชอบวางไข่ตามใต้ใบเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มติดกัน 2-5 ฟอง ไข่มีขนาดเล็กมากค่อนข้างแบนและยาวรี ไข่มีสีเหลืองอ่อนเป็นมัน มีผิวขรุขระ ระยะการเป็นไข่ 2-3 วัน เมื่อไข่ใกล้ฟักออกเป็นตัวหนอนจะมีสีเหลืองเข้ม ตัวหนอนมีขนาดค่อนข้างเล็กมองเห็นยาก มีการเจริญเติบโตรวดเร็วกว่าหนอนอื่น เพียงแค่ 1 สัปดาห์ ก็จะโตเต็มที่มีขนาด 1 เซนติเมตร ส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกมา 2 แฉก ลำตัวอาจเป็นสีเขียวปนเทาอ่อน หรือเขียวปนเหลือง เมื่อถูกตัวจะดิ้นอย่างแรง สามารถสร้างใยพาตัวเองขึ้นลงระหว่างพื้นดินกับต้นพืช ดักแด้มีขนาด 1 เซนติเมตร อยู่ภายในใยบางๆ ติดใต้ใบ อายุดักแด้ 3-4 วัน ส่วนตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนมีสีเทา หลังมีแถบสีเหลืองเข้ม มีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์

ลักษณะการทำลาย ตัวหนอนจะกัดกินผิวด้านล่างใบจนเกิดเป็นรูพรุนและมักเข้าไปกัดกินในยอดผักที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ผักได้รับความเสียหายสามารถทำลายผักในตระกูลกะหล่ำเกือบทุกชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และผักกาดต่างๆ

การป้องกันกำจัด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้สารเคมีกำจัดตัวหนอนโดยตรง การใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทรูรินเจนซิสทำลาย และหมั่นตรวจดูแปลงกะหล่ำดอกอยู่เสมอ เมื่อพบตัวหนอนควรรีบทำลายทันที

หนอนเจาะยอดกะหล่ำ

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hellula undalis ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก แม่ผีเสื้อจะวางไข่เดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มตามยอดอ่อนหรือใบอ่อน บางครั้งวางไข่บนดอกที่ยังตูมอยู่ ไข่มีลักษณะค่อนข้างกลมเรียวยาวเล็กน้อย ไข่ระยะแรกมีสีขาวซีด ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลขนาดของไข่ประมาณ 0.34-0.55 มิลลิเมตร เมื่อไข่อายุ 2 วันจะมีสีชมพูเกิดขึ้นบนไข่ เมื่ออายุมากขึ้นไข่จะเริ่มมีสีดำ และเริ่มออกเป็นตัวภายในระยะเวลา 3-5 วัน แม่ผีเสื้อตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ประมาณ 14-255 ฟอง ตัวหนอนเมื่อโตเต็มที่ยาว 1-2 เซนติเมตร ผิวดำตัวใส มีแถบสีน้ำตาลพาดตามยาว ระยะการเจริญเติบโตของหนอนประมาณ 15-23 วัน จึงเข้าระยะดักแด้โดยสร้างใยหุ้มลำตัวติดกับเศษพืชที่ผิวดินหรือใต้ผิวดิน ดักแด้มีขนาดยาว 0.6-0.8 เซนติเมตร เข้าดักแด้ใหม่ๆ จะมีสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาจะมีสีเข้มขึ้นระยะการเป็นดักแด้ประมาณ 7-11 วัน สำหรับตัวเต็มวัยลำตัวยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ปีกคู่หน้ามีแถบสีน้ำตาลปนเทาพาดตามขวางโค้งไปมา ปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลอ่อนปนเทา ตัวเต็มวัยมีอายุอยู่ได้ 7-10 วัน

ลักษณะการทำลาย หนอนเจาะยอดกะหล่ำจะทำความเสียหายให้กับผักตระกูลกะหล่ำ โดยตัวหนอนจะเจาะเข้าทำลายดอก ทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต หนอนจะเจาะก้านดอกกัดกินดอกอ่อน ตาอ่อน หรือเจาะเข้าไปทำลายในผัก หนอนที่ออกจากไข่ใหม่ๆ อาจเจาะเข้าไปทำลายผักใต้ผิวใบหรืออาจเจาะเข้าไปในส่วนของตาดอก บางครั้งจะเจาะเข้าไปในส่วนของตาดอก บางครั้งจะเจาะเข้าไปกินภายในส่วนของลำต้น เห็นรอยกัดกินเป็นทาง เราอาจพบมูลตามลำต้นและใบ โดยหนอนจะกัดใบคลุมตัวเองและจะกัดกินอยู่ภายใน

การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีเมวินฟอส อัตรา 20-30 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อหนอนระบาด ควรพ่นทุกๆ 5 วัน หรืออาจใช้เมตาไมโดฟอสในอัตรา 20-30 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์