กะหล่ำดาว
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
กะหล่ำดาวจัดอยู่ในวงศ์ Brassicaceae (Cruciferae) มีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอร์เรเนียนและทางตะวันตกเฉียงใต้และภาคเหนือของทวีปยุโรป ลักษณะทั่วไป ลำต้นส่วนเหนือดินสูงประมาณ 80 - 120 ซม. ระหว่างข้อบริเวณเหนือก้านใบจะมีหน่อ (sprouts) ลักษณะกลมคล้ายกะหล่ำปลี หัวแน่น ขนาดเล็กพอดีคำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 - 3 ซม. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด Flowering period ธันวาคม – กุมภาพันธ์
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร มีคุณค่าทางอาหารเหมือนพืชผักในตระกูลกระหล่ำทั่วไป นิยมนำมาลวก นึ่ง อบ ผัด หรือทำซุป ให้รสชาติหวานอร่อย
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 15 - 22 องศาเซลเซียส และควรได้รับแสงอย่างพอเพียง ดินที่ใช้ปลูกควรร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง การระบายน้ำดีและอากาศดี ดินควรมีสภาพความเป็นกรด – ด่างระหว่าง 6 – 6.5 และมีความชื้นสูง ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากขาดน้ำจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ทำให้มีรสขม
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า ขึ้นแปลงเตรียมกล้าโดยวิธีปฏิบัติ ขุดพลิกดินทิ้งไว้ 2 วัน ใส่ปูนขาวอัตรา 0 - 100 กรัม/ต.ร.ม. ปุ๋ยคอกอัตรา 0.5 - 1 กก./ต.ร.ม. ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 30 กรัม/ต.ร.ม. คลุกผสมดินให้ทั่วทำดินให้ละเอียดแล้วขึ้นแปลง ใช้ไม้ขีดเป็นร่องลึก 1 - 2 ซม. ขวางแปลงห่าง 10 - 15 ซม. หยอดเมล็ดทีละเมล็ดห่างกัน 5 ซม.กลบดินบางๆ แล้วรดน้ำ ใช้ตาข่ายพลาสติกสีฟ้าคลุมแปลง รักษาความชุ่มชื้น ป้องกันแสงแดดและฝนตกแรง ประมาณ 15 วัน จึงเอาออก จากนั้นค่อยๆ แซะต้นกล้าให้ดินติดราก เมื่อครบอายุย้ายปลูก ประมาณ 25-30 วัน ข้อควรระวัง ดูแลป้องกันโรคเน่าคอดินและปัญหาเพลี้ยอ่อน
การเตรียมดิน ขุดพลิกดินและโรยปูนขาว อัตรา 0 - 100 กรัม/ต.ร.ม. ตากแดดทิ้งไว้ 7 - 14 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลไก่ที่ย่อยสลายแล้วอัตรา 1 กก./ต.ร.ม. ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 25-30 กรัม/ต.ร.ม. คลุกเคล้ากับดินให้เข้ากัน หลุมปลูกขนาด 30x30x30 ซม. ระยะปลูก 75x50 ซม. โดยปลูกแถวเดียว เฉลี่ยจำนวนต้น 2.6 ต้น/ต.ร.ม. ปลูกตอนเย็น กดดินให้แน่นแล้วรดน้ำ ข้อควรระวัง ถ้าปลูกชิดกันไปทำให้เข้าดูแลรักษายาก อาจทำให้ต้นโยกคลอน การปลูกแปลงละ 1 แถว
การให้น้ำ ให้น้ำ 1-2 วัน/ครั้ง แล้วแต่ปริมาณน้ำฝน
การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยครั้งแรก หลังย้ายปลูก 7-10 วัน ใช้ปุ๋ย 46-0-0 และ 15-15-15 อัตราส่วน 1:2 ประมาณ 25-30 กรัม/ต้น โดยขีดร่องรอบลำต้นลึก 2-3 ซม. โดยปุ๋ยกลบดินแล้วรดน้ำ ครั้งที่ 2 หลังจากให้ปุ๋ยครั้งแรก 15-20 วัน ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 30 กรัม/ต้น ข้อควรระวัง 1. ดูแลเพลี้ยอ่อนและโรคทางใบ 2. ถ้าต้นล้มให้ใช้ไม้ค้ำไว้
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อพืชอายุ 60-70 วัน หลังย้ายปลูก (90 – 100 วัน หลังเพาะเมล็ด) เลือกหัวแน่น ใช้มือเก็บในตอนเย็นก่อนหรือวันเดียวกับการขนส่ง ตัดแต่งให้เหลือใบหุ้ม 2-3 ใบ จัดชั้นคุณภาพและตัดแต่งใบนอกที่มีตำหนิทิ้ง ผึ่งให้แห้งก่อนบรรจุ อย่าล้างน้ำ หรือบรรจุข้ามคืน บรรจุในตะกร้าพลาสติกโดยใช้กระดาษกรุรองทั้งตะกร้า ลดอุณหภูมิเฉียบพลันจนเหลือ 1 – 2 องศาเซลเซียส ขนส่งโดยรถห้องเย็นอุณหภูมิประมาณ 3 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการขนส่งรวมกับผลิตผลที่สังเคราะห์เอทธีลีนเป็นจำนวนมาก เช่น แอปเปิล สาลี่ มะเขือเทศ เพื่อป้องกันการเหลืองของใบ ข้อควรระวัง 1. การดูแลรักษาที่ดีตลอดฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เก็บผลผลิตได้นาน โดยเฉพาะในฤดูหนาว 2. คอยปลิดใบแก่เริ่มเหลืองทิ้ง
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพต่ำ เป็นกะหล่ำดาวทั้งหัว มีสีเขียวแก่หรืออ่อน สด สะอาด เข้าหัวแน่น ไม่มีตำหนิจากโรค แมลง หรือตำหนิอื่นๆ ไม่เปียกน้ำและเปื้อนดิน ปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. มีเส้นผ่าศูนย์กลางของหัว 2.5 เซนติเมตร ขึ้นไป
2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. มีเส้นผ่าศูนย์กลางของหัว 2 - 2.5 เซนติเมตร ขึ้นไป
2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U ไม่เข้าเกณฑ์ตามชั้นหนึ่งและชั้นสอง
ข้อกำหนดเรื่องการจัดเรียง กะหล่ำดาวในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน พันธุ์เดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเตรียมสู่ตลาด 1. ตัดแต่งและกำจัดส่วนที่เป็นตำหนิ 2. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู เพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นผิดปกติ หรืออาจบรรจุถาดโฟมหุ้มด้วยพลาสติกโพลีโวนีลคลอไรด์ (PVC)
การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 3 – 5 สัปดาห์
ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์