องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

อะโวคาโด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Persea americana

ลักษณะทั่วไป  อะโวคาโดเป็นไม้ผลยืนต้นที่ไม่ผลัดใบ มีใบเขียวตลอดปีผลผลิตสามารถรับประทานสด และแปรรูปนำไปสกัดเป็นน้ำมัน เนื่องจากมีพันธุ์ที่หลากหลายมาก จึงมีผลผลิตเกือบตลอดปี พันธุ์ที่สำคัญได้แก่พันธุ์ Peterson, Reuhle, Buccanear, Booth 7, Booth 8, Hall และHass

รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ : มาตรฐานอะโวคาโดที่มีคุณภาพดีนั้น จะต้องมีลักษณะของผลตรงตามพันธุ์ ลักษณะผลต้องไม่บิดเบี้ยว ไม่มีอาการซ้ำ หรือมีตำหนิที่เป็นแผลแห้ง ไม่เกิน 5% ของผล

ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด : เดือนมิถุนายน-เดือนกุมภาพันธ์

การปลูกและการบำรุงรักษา

ระยะปลูกและการวางผังการปลูก

ระยะปลูกที่เหมาะสมของอะโวคาโดนั้น ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่จะใช้ปลูก และความอุดมสมบูรณ์ของดินเพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นอะโวคาโดเจริญเติบโตได้ต่างกันโดยอะโวคาโดบางพันธุ์ เช่น พันธุ์เบคอนและพันธุ์รูเฮิล จะมีต้นสูงโปร่งจึงอาจปลูกชิดได้มากกว่าพันธุ์ที่มีพุ่มแผ่กว้าง เช่น พันธุ์บูช 7 พันธุ์ฮอลล์และพันธุ์โซเควท โดยทั่วไปการปลูกอะโวคาโดจะใช้ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 8-12 เมตร ในการวางผังปลูกนั้นควรให้มีการสลับระหว่างพันธุ์ด้วย

การเตรียมแปลงปลูก

ควรจะเตรียมแปลงที่จะปลูกไว้ล่วงหน้าก่อนปลูก 1 ปี สำหรับในพื้นที่สูงซึ่งมีความลาดชันควรจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น ทำขั้นบันไดดิน หรือปลูกหญ้าแฝกขวางความลาดเทของพื้นที่ จากนั้นจึงวางผังปลูกโดยทำการไถพรวนแปลงที่ใช้ปลูก ปักไม้ตามระยะหลุมระหว่างแถวและระหว่างต้นตามต้องการ แล้วปลูกพืชคลุมดินในระหว่าแถวของหลุมที่เตรียม ปลูกไม้บังลมในแนวรอบสวนหรือในแต่ละแนวแปลงย่อย หลังจากนั้นจึงเตรียมหลุมปลูกอะโวคาโด การเตรียมหลุมปลูกควรมีความกว้างยาว 80 เซนติเมตร ลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยคอกประมาณ 1-2 บุ้งกี๋ คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมาแล้วใส่ลงไปในหลุม เตรียมไม้ปักผูกยึดต้นกันลมโยก เตรียมวัสดุคลุมผิวหน้าดินบริเวณหลุมปลูกไว้ซึ่งอาจใช้ฟาง เศษหญ้าแห้ง แกลบ ขี้กบ ขี้เลื่อย หรือเปลือกถั่วก็ได้

ฤดูปลูก

อะโวคาโดสามารถปลูกได้ทุกฤดูถ้ามีน้ำเพียงพอ ในประเทศไทยนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ เพราะมีนตกลงมาช่วย แต่ถ้าฝนตกชุกมากต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำขัง ต้นอะโวคาโดถ้าปลูกในฤดูร้อนก็ต้องตรียมป้องกันแสงแดดเผาส่วนของเปลือกลำต้นหรือกิ่งก้านอะโวคาโดด้วย ในต่างประเทศจะชุพลาสติกหุ้มป้องกันโคนต้นจากแสงแดดและสัตว์กัดแทะเปลือก

การปลูก

ต้องจัดเตรียมต้นกล้าอะโวคาโดไว้ก่อนล่วงหน้า โดยคัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์และได้ขนาด เมื่อปลูกให้นำต้นอะโวคาโดลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ให้รอยต่อกิ่งหรือรอยแผลติดตาอยู่เหนือระดับดิน กลบดินรอบๆดคนต้นให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม แล้วทำการคลุมผิวหน้าดินด้วยวัตถุคลุมดินที่เตรียมไว้เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น ป้องกันเมล็ดวัชพืชงอก และป้องกันความร้อนจากแสงแดด ปักไม้หลักผูกเชือกยึดติดแน่นป้องกันลมโยก รดน้ำให้สม่ำเสมอจนกว่าต้นจะตั้งตัวได้ ทั้งนี้อาจจะให้น้ำครั้งละ 20-40 ลิตรต่อต้น ทุก 3-4 วันในระยะ 1 เดือนแรกและควรตรวจดูอยู่เสมอ ถ้าฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานก็ควรให้น้ำแก้ต้นอะโวคาโดอีก สำหรับในช่วงฤดูร้อนของปีแรกหลังจากหมดฤดูฝนแล้วควรให้น้ำแก่ต้นอะโวคาโดทุกสัปดาห์ๆละ 40-60 ลิตรต่อต้น จนกว่าต้นอะโวคาโดจะมีอายุ 1 ปีหลังจากปลูก

การใส่ปุ๋ย

หลังจากปลูกอะโวคาโดได้ 1 เดือน จะใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพิ่มให้กับต้นอะโวคาโด โดยใส่ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแตสเซี่ยมอัตราส่วน 3:1:1 ทั้งนี้อาจให้โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับยูเรีย(46-0-0) อัตราส่วน 1:1 คลุกเคล้ากันให้ดีแล้วใส่ต้นละ 200 กรัม แบ่งใส่ประมาณ 3 ครั้งต่อปี ทุก 3 เดือน ปีที่ 2 จะใส่ปุ๋ยผสมดังกล่าวข้างต้นในอัตรา 300 กรัม แบ่งใส่ประมาณ 4 ครั้งต่อปี เมื่อต้นอะโวคาโดอายุได้ 3 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต ปริมาณการใส่ปุ๋ยต่อต้นจะเพิ่มขึ้นตามการให้ผล และปุ๋ยที่ใช้ควรเปลี่ยนไปดังนี้ ในระยะต้นปีที่ 3 จะใส่ปุ๋ยเหมือนปีที่ 2 แต่ปริมาณปุ๋ยเพิ่มขึ้นเป็นต้นละ 400 กรัม ใส่ 2 ครั้งในช่วงต้นฤดูฝนและกลางฤดูฝน พอถึงปลายฤดูฝนราวๆเดือนตุลาคม จะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสหรือโพแตสเซี่ยมสูง เช่น 8-24-24 หรือ 9-24-24 ในดินร่วนปนทรายหรือดินทราย ส่วนดินร่วนเหนียวควรใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 500 กรัมต่อต้น เพื่อให้ต้นอะโวคาโดออกดอกดีและเมื่อติดผลแล้วจึงใส่ปุ๋ยอัตราส่วน 3:1:1 ใหม่ เพื่อให้ผลเจริญเติบโตดีและติดผลได้มากโดยอาจใส่ยูเรียผสมปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตราส่วน 1:1 เพิ่มขึ้นอีกต้นละ 500 กรัม ในปีต่อๆไปอาจใช้วิธีวัดระยะจากโคนต้นไปยังชายพุ่มเป็นเมตร ซึ่งจะเท่ากับจำนวนกิโกกรัมของปุ๋ยที่ใส่ให้ในแต่ละปีก็ได้ ควรมีดารใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับต้นอะโวคาโดทุกปี โดยใช้วิธีหว่านคลุมต้นและปล่อยให้ย่อยสลายตัวเอง

การให้น้ำ

ในระยะที่ปลูกอะโวคาโดใหม่ๆ ควรให้น้ำแก่ต้นอะโวคาโด เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตและมีรากแผ่กระจายลงทางลึกและทางกว้าง ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอให้ดินชุ่มแต่อย่าให้น้ำขัง เพราะจะทำให้รากเน่าต้นตายได้ การให้น้ำชลประทานไม่จำเป็นต้องให้ทุกวัน ในระยะต้นเล็กควรให้ในปริมาณหลุมปลูกอะโวคาโด ทำในวงขังน้ำในบริเวณที่รากจะแผ่ออกไปถึง ต้นอะโวคาโดปลูกใหม่ต้องการน้ำวันละประมาณ 15 ลิตรต่อต้น ถ้าให้เว้นวันอาจให้ครั้งละ 30 ลิตรต่อต้น เมื่อต้นใหญ่ก็ต้องการปริมาณน้ำมากขึ้น หรืออาจเลือกวิธีการให้น้ำเป็นระบบน้ำหยดหรือมินิสปริงเกอร์บริเวณโคนต้นก็ได้ แล้วแต่ละพื้นที่ปลูกและเงินลงทุน เมื่อต้นอากาโดถึงระยะที่จะออกดอกควรงดให้น้ำแก่อะโวกาโด แต่โดยปกติแล้วเป็นช่วงที่สิ้นสุดฤดูฝนและเข้าฤดูหนาวแล้วและเมื่อเกิดตาดอกที่ยอดซึ่งจะสังเกตเห็นว่าตุ้มตาป้านกลม และช่อดอกจะเริ่มเจริญออกมาบ้างแล้วจึงเริ่มให้น้ำใหม่

การจัดทรงต้นและตัดแต่งกิ่ง

อะโวคาโดไม่มีระบบการจัดทรงต้นและตัดแต่งกิ่งที่แน่นอน ต้นอะโวคาโดที่ปลูกใหม่จนถึงระยะก่อนออกดอกและติดผลจะตัดแต่งกิ่งเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่ต้องตัดแต่งกิ่งเลย ยกเว้นตัดแต่งกิ่งเอเปลี่ยนแปลงลักษณะพุ่มต้น เช่น อะโวคาโดพันธุ์ที่มีพุ่มสูงมักจะตัดยอดลงเพื่อให้แตกกิ่งใหม่เป็นพุ่มแผ่กว้างออก

การเก็บเกี่ยว

ก่อนการเก็บเกี่ยวอะโวคาโดต้องตรวจสอบว่าผลแก่เก็บเกี่ยวได้หรือไม่โดยพิจารณาถึงระยะเวลาที่เก็บเกี่ยวของอะโวคาโดแต่ละพันธุ์นั้นๆ จากนั้นทดลองเก็บผลบนต้นในระดับต่างๆประมาณ 6-8 ผลเพื่อผ่าดูเยื่อหุ้มเมล็ด หากเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมดก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาลักษณะภายนอกของผลเพื่อให้มั่นใจว่าผลแก่แล้ว เนื่องจากบางครั้งในต้นเดียวกันอาจมีการออกดอก 2 ชุด ทำให้อายุของผลไม่เท่ากัน ในการเก็บเกี่ยวต้องให้มีขั้วผลติดอยู่กับผล หากขั้วผลหลุดออกจากผลจะทำให้ผลเสียหายได้ง่ายขณะบ่มให้สุก วิธีการเก็บเกี่ยวทำได้โดยเด็ดหรือใช้กรรไกรตัดขั้วผลหลุดออกจากกิ่ง อาจใช้บันไดปีนขึ้นไปเก็บหรือใช้ตะกร้อที่มีใบมีดตัดขั้ว สอยให้ติดขั้วหรือใช้กรรไกรด้ามยาวที่มีที่หนีบขั้วผลไว้ ไม่ให้ผลตกเสียหาย ควรระมัดระวังไม่ให้ผิวผลเสียหาย เมื่อเก็บแล้วให้ใส่ลงในภาชนะที่รองด้วยกระดาษหรือฟองน้ำที่ป้องกันความเสียหายได้ นำไปคัดแยกเอาผลที่ไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดออก ตัดขั้วผลให้สั้นลงเหลือเฉพาะส่วนฐานของขั้วที่ติดกับผล


โรคและแมลงศัตรู

โรครากเน่า

เป็นโรคที่สำคัญที่สุดของอะโวคาโดที่ระบาดในต่างประเทศ และเป็นอุปสรรคที่สำคัญของการปลูกอะโวคาโดในประเทศไทยเช่นกัน โดยพบว่าต้นอะโวคาโดที่กำลังให้ผลผลิตเต็มที่ อายุประมาณ 10 ปี แสดงอาการของโรคนี้อยู่เสมอ สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อราในดิน ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่พบในต่างประเทศ เชื้อนี้อาจติดมากับดินปลูกและมักจะระบาดมากในดินที่ชื้นแฉะ มีการระบายน้ำไม่ดี เชื้อราสามารถเข้าทำลายได้ทางบาดแผลของรากที่เกิดจากการไถพรวน หรือการใช้จอบขุดพรวนอาการของโรค :ใบจะเล็กลงกว่าปกติ ใบสีเขียวอมเหลือง เหี่ยวเฉา และร่วงหล่น กิ่งจะแห้งตายจากยอดลงมายังราก ต้นที่เป็นโรคจะมีสีดำเน่าแห้ง ผลผลิตลดลง ผลเล็ก

การป้องกันกำจัด: ควรมีการระบายน้ำในแหล่งปลูก ไม่มีน้ำขัง ป้องกันไม่ให้เกิดการชะล้างหน้าดินจากต้นเป็นโรคไปยังแหล่งอื่น ใช้ต้นตอที่ปราศจากโรคมาปลูก โดยฆ่าเชื้อที่ติดมากับเมล็ดด้วยการจุ่มน้ำอุ่น อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 20 นาที ก่อนทำการเพาะและอบดินด้วยความร้อนหรือไอน้ำเดือดก่อนนำมาเป็นวัสดุเพาะ อีกวิธีหนึ่งคือใช้ต้นตอต้านทานโรครากเน่า เช่น ในแคลิฟอร์เนีย ใช้ต้นตอพันธุ์ดุ๊กและจี-6 แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้ในการปลูกเป็นการค้า เมื่อพบต้นเป็นโรคแล้วต้องควบคุมการให้น้ำ ระมัดระวังไม่ให้ดินจากต้นที่เป็นโรคเคลื่อนย้ายไปยังต้นอื่นและอย่าปล่อยให้ดินชื้นแฉะนานเกินไป อบฆ่าเชื้อในดินด้วยวาปาม (Vapam) หรือใช้ริโดมิลผสมน้ำรด ในแหล่งที่เป็นโรคอาจปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช้พืชอาศัยของเชื้อราชนิดนี้ เช่น ปลูกผักเป็นพืชหมุนเวียน เพื่อให้โรคนี้หมดไปได้แล้วจึงกลับมาปลูกอะโวคาโดใหม่

โรคจุดดำหรือโรคแอนแทรคโนส

เกิดจากเชื้อรา โดยเชื้อจะเข้าทำลายตั้งแต่ผลยังมีขนาดเล็กจนกระทั่งผลเริ่มสุกในผลดิบ จะพบจุดสีน้ำตาล เชื้อจะเจริญได้ดีในขณะที่ความชื้นสูง ถ้าเชื้อเจริญเข้าไปในเนื้อผลจะทำให้ผลร่วงหล่นหรือเชื้ออาจไม่เจริญแต่อาจจะแสดงอาการในตอนบ่มก็ได้

การป้องกันกำจัด : ในช่วงฤดูฝนควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด โดยใช้ไซเนปผสมมาเนป ชื่อการค้าได้แก่ เอซินแมก ไดเทนเอ็ม-45 หรือไตรแมนโซน หรืออาจใช้เบนเลทอัตรา 30-45 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร หรือ 2-3 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทุก 10-14 วัน โรคแอนแทรคโนสอาจเกิดบนใบและกิ่งได้เช่นกัน

โรคแคงเกอร์

เกิดจากเชื้อรา ซึ่งทำให้ผลเน่า นอกจากนี้ยังพบเชื้อที่เป็นกับกิ่งและปลายใบด้วย อาการที่พบจะมีจุดสีน้ำตาลดำที่ผิวของผลที่บ่มหรือใบ จุดอาจขยายทั่วผิวผลและมักพบว่าเป็นทางด้านก้นผลมาก มีผลทำให้เนื้อเน่า ผิวเปลือกบุ๋ม

การป้องกันกำจัด :ใช้สารเคมีชนิดเดียวกับโรคแอนแทรคโนส

โรคใบจุดจากเชื้อสาหร่าย

โรคนี้พบมากในฤดูฝน ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน โดยอาการของโรคจะพบจุดสีน้ำตาลแดง รูปร่างค่อนข้างกลมนูนกระจายอยู่ทั่วไปบนผิวใบ ทำให้ประสิทธิภาพในการปรุงอาหารของต้นอาโวกาโดลดลง

การป้องกันกำจัด :ใช้คอปเปอร์ซัลเฟต 3-5 ช้อนแกงต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นป้องกัน


แมลงศัตรูของอะโวคาโด

ด้วงงวงกัดกินใบ

ด้วงงวงกัดกินใบหรือที่เรียกว่า แมลงค่อมทองหรือแมลงสะแก ตัวเมียวางไข่ตามรอยแตกบนพื้นดินตามกองขยะหรืออินทรียวัตถุ ไข่จะฟักออกเป็นตัวหนอนภายใน 10-11 วัน หนอนจะกัดกินรากพืชอยู่ 5-6 เดือน ก็เข้าดักแด้ใช้เวลา 14-15 วัน รวมชีพจักรจากระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัยประมาณ 174-206 วัน ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีดำ ปีกสีเขียว ส่วนปากยาวยื่นออกมาเป็นวง ตากลมเล็กสีดำ ปีกคู่หน้าด้านบนมีรอยบุ๋มเล็กๆ เรียงเป็นเส้นขนาดตามยาวของปีก ส่วนท้ายสุดเรียวแหลม ปีกคู่หลังบางใส มีขนาดยาว 11-14 มิลลิเมตร กว้าง 4-6 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยจะกัดกินใบอะโวกาโดจนแหว่งหรือเป็นรูพรุน ถ้ามีจำนวนมากจะกัดกินใบหมดเหลือแต่กิ่ง บางครั้งพบว่าทำลายช่อดอกอะโวคาโดด้วย นอกจากนี้ยังกินใบมะม่วง มะม่วงหิมมะพานต์ ลิ้นจี่ ส้ม และน้อยหน่าด้วย

การป้องกันกำจัด : ใช้ดีลคริน 50 % (W.P.) ความเข้าข้น 0.1-0.5% ฉีดพ่นตามใบ

หนอนผีเสื้อ

ตัวเต็มวัยมีลักษณะเมื่อเกาะจะกางปีก กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปีกและตัวมีขนปกคลุมยาวสีส้ม ตัวเต็มวัยจะวางไข่สีขาวใต้ใบอะโวกาโด ตัวละ 100-150 ฟอง หลังจากนั้น 2-3 วันไข่จะฟักเป็นตัวหนอน ตัวหนอนจะมีอายุ 5 วันเช่นเดียวกับหนอนไหมแล้วเข้าดักแด้ โดยชักใยสีเหลืองหุ้มดักแด้หัวท้ายแหลม ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ก็เป็นตัวเต็มวัย มักพบระบาดมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ต้นที่ถูกกัดกินใบมากจะทำให้ไม่ออกดอก เนื่องจากเสียอาหารสะสมไป

การป้องกันกำจัด

1. ฉีดพ่นสารเคมีทำลายหนอน โดยใช้คาร์บาริล 85 เช่น เอส-85 หรือเซฟวิน-85 อัตรา 30-45 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ควรกำจัดในระยะเวลาต้นๆของหนอนจะได้ผลดี

2. จับดักแด้เผาไฟ

3. จับตัวแก่ทำลาย

เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟมักระบาดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นระยะแทงช่อดอกหรือดอหบาน โดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอกทำให้ช่อดอกสั้นลง หรือเข้าทำลายในระยะดอกบานจะทำให้ดอกหดแห้งร่วง บางครั้งทำลายขณะติดผลอ่อนทำให้ผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมีตำหนิ

การป้องกันกำจัด : ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงชนิดดูดซึมแดพ่นเมื่อเริ่มแทงช่อดอก เช่น โมโนโครโตฟอส อัตรา 30 ซี.ซี. ผสมน้ำ 20 ลิตร

เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงจากกิ่ง

เพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่กิ่งและใบ ทำให้กิ่งและใบไม่เจริญเติบโต บางครั้งทำให้มีราดำจับตามกิ่งและใบ เนื่องจากมูลของเพลี้ยที่ถ่ายออกมานั้นเหมาะสำหรับการเจริญของราดำ ดังนั้นถ้ากำจัดเพลี้ยให้หมดไปราดำก็จะหมดไปด้วย

การป้องกันกำจัด : ถ้าเป็นน้อยให้ตัดกิ่งเผาไฟ ถ้าเป็นมากให้ใช้สารเคมีชนินดูดซึมผสมไวท์ออยล์ (white oil) ฉีดพ่น

เพลี้ยหอย

เพลี้ยหอยมีหลายชนิดที่ทำลายยอดอ่อนและใบของอะโวคาโด เพลี้ยพวกนี้มีเปลือกหุ้มลำตัวแข็ง อาการที่พบในใบคือ ด้านล่างของใบจะถูกดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ด้านบนของใบที่เพลี้ยหอยจับอยู่มีสีซีดเหลือง ถ้าเป็นที่กิ่งอ่อนจะทำให้กิ่งเหี่ยวแห้ง

หนอนเจาะกิ่ง

เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน มีลำตัวยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เมื่อกางปีกออกกว้าง 4.8 เซนติเมตร ตามปีกจะมีจุดสีชมพูปนดำทั่วลำตัว หนอนโตเต็มที่ยาว 5-7 เซนติเมตร ดักแด้สีน้ำตาลปนแดง ตามลำตัวมีหนามงอเรียงเป็นแถบ ผีเสื้อตัวเมียจะวางไข่ตามรอยแตกของเปลือก เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน หนอนจะเข้าไปในส่วนของลำตัวและกิ่ง ทำโพรงอาศัยและกัดกินทำให้ใบของกิ่งแห้งเหี่ยว ตัวเมียตัวหนึ่งวางไข่ได้ประมาณ 600 ฟอง โดยวางไข่ไว้เดี่ยวๆไข่จะฟักเป็นตัวภายใน 7-8 วัน หนอนจะเจริญเติบโตในกิ่งและต้นใช้เวลา 20 เดือน และเข้าดักแด้กินเวลา 3-7 สัปดาห์ ตัวเต็มวัยอายุ 2 สัปดาห์

การป้องกันกำจัด

1. ตัดกิ่งที่หนอนทำลายนำไปเผาไฟทิ้ง

2. ใช้ลวดขึงตะขอดึงเอาตัวหนอนจากโพรงที่เจาะ

3. ฉีดสารเคมีเข้ารูที่เจาะด้วยคาร์บอนไดซัลไฟต์ หรือน้ำมันเบนซินรูละ 2-5 ซี.ซี. แล้วใช้ดินเหนียวอุดไว้

4. ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติพวกแตนเบียนควบคุม