องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

โกโบ้

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Arctium lappa

ชื่อสามัญ Burdock, Kobo

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป โกโบ้เป็นพืชที่ใช้รากประกอบอาหาร ซึ่งต้นหนึ่งจะมีความยาวของรากประมาณ 70 - 120 ซม. ใช้รากประกอบอาหาร หรือนำมาเชื่อมรับประทานร่วมกับสเต็กเนื้อ

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร เป็นผักที่สำคัญของชาวญี่ปุ่น เป็นเครื่องเคียงรับประทานกับข้าวแบบขิง ซึ่งถือเป็นผักที่รับประทานเพื่อลดความอ้วน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

โกโบ้ชอบดินร่วนปนทรายที่มีการเติมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก มีการระบายน้ำดี และควรมีหน้าดินลึกพอสมควร เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้รากและอายุยาวนาน ซึ่งดินบนดอยที่เหมาะสมคือ ดินที่มีลักษณะสีออกสีแดงมีหน้าดินลึก และต้องไม่มีก้อนหิน ต้องการน้ำมาก ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำแบบสปริงเกอร์ได้ และช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมคือ เดือนกรกฎาคม - กุมภาพันธ์ แต่ก็สามารถปลูกได้ตลอดปี อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 18 - 24 องศาเซลเซียส และชอบแสงแดดเต็มที่ ไม่ควรปลูกในที่ร่ม

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน ขุดดินลึกเป็นรูปแบบร่องน้ำกว้าง 30 – 40 ซม. ลึก 60 – 90 ซม. ยาวตลอด โดยการเอาหน้าดินที่ขุดขึ้นมา เตรียมใส่ลงปลูกอีกครั้ง โดยใส่ลงในก้นหลุม และผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 0.5 – 1 กก./ตร.ม. ผสมกับปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 50 กรัม/ตร.ม. แล้วใส่กลับลงไปในร่องเหมือนเดิม ยกแปลงสูง 30 ซม. โดยมีระยะห่างระหว่างแปลง 1 เมตร

การปลูก หยอดเมล็ดเป็นแนวยาวตามร่องปลูกที่เตรียมไว้ให้เมล็ดห่างกันประมาณ 3 – 5 ซม. ใช้ดินละเอียดหรือแกลบกลบปิด โดยให้เมล็ดอยู่ลึกประมาณ 2 ซม. แล้วใช้ฟางปิดให้หนา ปลูกแบบแถวเดียว ให้ระยะระหว่างแถวห่างกันประมาณ 1 ม. เพื่อสะดวกต่อการกลบโคนในภายหลัง ถอนแยกต้อนที่อยู่ชิดกันให้มีระยะระหว่างต้น 10 ซม.

การให้น้ำ ควรให้น้ำให้มากเต็มที่ก่อนปลูก 1 วัน จากนั้นให้น้ำอีกหลังปลูก และให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้หน้าดินแห้ง

การให้ปุ๋ย เมื่อปลูกได้ 20 วัน โรย 21 – 0 – 0 และ 15 – 15 – 15 อัตราชนิดละ 20 กรัม/ตร.ม. ลงในร่องปลูกแล้วกลบดินพูนโคน อายุได้ 40 วัน โรยปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม. แล้วกลบดินพูนโคนต้นถึงระดับใบล่าง จากนั้นใส่ปุ๋ย 13 – 13 – 21 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม. อีกครั้งเมื่ออายุ 75 วัน ตอนต้นฤดูฝนความชื้นในดินสูง อาจมีเชื้อรา ให้ฉีดพ่นสารเคมีป้องกัน นอกจากนี้ให้ถอนต้นเป็นโรคเผาหรือทำลายทิ้ง

ข้อควรระวัง

1. ถ้าต้นยังไม่โตดี ให้ใส่ปุ๋ย 15-15-15 และดูแลป้องกันโรค แมลงต่อไปอีก เป็นการชะลอการเก็บเกี่ยว

2. อาจพบต้นโคนเน่าในช่วงแรก และอาจพบโรคใบไหม้ในช่วงกำลังเติบโต

3. ให้ระวังเสี้ยนดิน

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่ออายุ 90 – 120 วัน (พันธุ์ Shirohada) แต่ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 105 วันขึ้นไป หรือเมื่อรากมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 - 2.5 ซม. อย่าเก็บเมื่อเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 1.5 ซม. และต้องไม่ปล่อยให้เกิน 2.5 ซม.

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวโดยการขุด และถอน เมื่ออายุและขนาดเหมาะสมต่อการนำไปบริโภค

2. ตัดใบทิ้งให้เหลือก้านใบประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร

3. ล้างให้สะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง

4. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู 10 กิโลกรัมต่อถุง

5. ขนส่งโดยรถห้องเย็น หรือรถบรรทุกธรรมดา

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นโกโบ้ทั้งราก ผิวเรียบ สด สะอาด ไม่มีตำหนิต่างๆ แก่พอดี ปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. รากมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.2 – 2.8 เซนติเมตร มีความยาว 50 -70 เซนติเมตร

      2. รูปร่างตรงเป็นทรงกระบอก ไม่มีแขนง

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. รากมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 – 2.2 เซนติเมตร มีความยาว 40 -50 เซนติเมตร

      2. รูปร่างคดได้เล็กน้อย ไม่มีแขนง

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. รากมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 – 1.8 เซนติเมตร มีความยาว 30 - 40 เซนติเมตร

     2. รูปร่างคดหรือไม่เป็นทรงกระบอกได้บ้าง ไม่มีแขนง

     3. ปลอดภัยจากสารเคมี

หมายเหตุ เส้นผ่าศูนย์กลางวัดจากส่วนของคอ ( บริเวณที่ติดกับก้านใบลงมาประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร )

ข้อกำหนดในการจัดเรียง โกโบ้ที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน ชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเตรียมสู่ตลาด

1. ตัดแต่งก้านใบ และปลายรากออกตามที่กำหนด

2. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 - 1 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 - 95 เปอร์เซ็นต์

ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ก.ค. - เม.ย.

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์