องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ถั่วหวาน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Pisum sativum

ชื่อสามัญ  Sugar snap pea

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ถั่วหวานมีคุณค่าทางอาหารเหมือนถั่วลันเตาโดยทั่วไปคือ มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสมาก เหมาะอย่างยิ่งต่อการบำรุงกระดูกและฟัน หากฝักแก่สามารถนำเมล็ดมาประกอบอาหารได้หลายชนิดเช่น ลวกและโรยบนสลัด ผัดผักรวม ใส่ไข่ยัดใส้ ข้าวผัดเป็นต้น สำหรับฝักสดสามารถนำมาลวกรับประทานกับสเต๊ก หรือผัดไฟแรงอย่างรวดเร็ว จะมีรสหวานและกรอบ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกถั่วลันเตา ควรมีลักษณะร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง หน้าดินลึก และควรมี pH อยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 13 – 18 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 29 องศาเซลเซียส จะทำให้การเจริญเติบโตชะงัก และในกรณีที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ดอกและฝักร่วง ไม่ควรปลูกในสภาพอากาศเย็นมีน้ำค้างแข็ง โดยเฉพาะในระยะที่ดอกบานและเริ่มติดฝัก และควรได้รับแสงตลอดทั้งวัน

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน ขุดดินและใส่ปูนขาวตามคำแนะนำจากการวิเคราะห์ดินอัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม. ทิ้งไว้ 10 วัน ก่อนปลูกคลุกปุ๋ย 0 – 4 – 0 อัตรา 40 กรัม/ตร.ม. กับ 12 – 24 – 12 อัตรา 25 – 30 กรัม/ตร.ม. ลงในดินแปลงกว้าง 1 ม. (แถวคู่)

การปลูก ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก./ตร.ม. รองพื้นก่อนปลูกและโรยตามร่องแถวปลูก พรวนดิน และหยอดเมล็ดโดยขีดร่องยาวตามแปลงลึก 5 ซม. หยอดเมล็ด 1 เมล็ด ห่างกัน 6 ซม. แถวห่าง 50 ซม. (ปลูกแถวคู่) กลบดินแล้วรดน้ำ ราดแปลงด้วยเซฟวิน – 85 บนแปลงป้องกันมดกินหรือขนย้ายเมล็ด

ข้อควรระวัง

  1. หยอดเมล็ดลึกจะทำให้เน่า
  2. ควรคลุกเมล็ดด้วยไตรโคเดอร์มาหรือเอพรอน 3

การทำค้าง เมื่อปลูกได้ 10 วัน โดยปักไม้ค้างสูง 2 เมตร ระยะห่าง 1เมตร ผูกเชือกช่วงละ 20 ซม. ของค้าง

การให้น้ำ ให้น้ำทุก 2 – 3 วัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก หากขาดน้ำจะไม่ติดฝัก

การให้ปุ๋ย

- พืชอายุ 20 วัน ให้ปุ๋ย 46 – 0 – 0 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม.

- พืชอายุ 30 วัน ให้ปุ๋ย 13 – 13 – 21 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม. กลบดินบางๆ แล้วรดน้ำตาม ควรกำจัดวัชพืชพร้อมการให้ปุ๋ย

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 50 – 60 วัน เก็บฝักที่ยังอ่อน และมีเมล็ดขึ้นเล็กน้อย ฝักโป่งพองได้เล็กน้อยจากเมล็ดอ่อนข้างในฝัก

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวในระยะฝักอ่อนมีเมล็ดและเป็นที่ต้องการของตลาด

2. คัดฝักที่มีตำหนิจากโรคและแมลงออกให้หมด จัดชั้นคุณภาพ

3. บรรจุในตะกร้าพลาสติก ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อลัง

4. ลดอุณหภูมิเหลือ 1 – 2 องศาเซลเซียส และขนส่งโดยรถห้องเย็น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ฝักมีสีเขียวสด ไม่มีตำหนิจากโรคและแมลง หรือตำหนิอื่นใด เมล็ดอ่อน สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. ฝักมีขนาดยาว 4.5 เซนติเมตรขึ้นไป มีฝักโป่งพองปะปนมาได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. ฝักมีขนาดยาว 3.5 - 4.5 เซนติเมตร มีฝักที่มีเมล็ดแก่ เป็นฝักโป่งพองปะปนมาได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ความยาวของฝักน้อยกว่า 3.5 เซนติเมตร

     2. มีตำหนิปะปนมาได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     3. มีฝักโป่งพองปะปนมาได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง ถั่วหวานที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเก็บรักษา ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 98 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 สัปดาห์

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์