องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ถั่วลันเตา

ชื่อวิทยาศาสตร์   Pisum sativum

ชื่อสามัญ  Garden Pea / Sweet Pea

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป ถั่วลันเตาจัดอยู่ในตระกูล Leguminosae มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศเอธิโอเปีย ต่อมาแพร่กระจายปลูกในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและเอเชีย และเขตอบอุ่นต่างๆ ของโลก ถั่วลันเตาเป็นพืชฤดูเดียว มีใบแบบสลับ ปลายใบเปลี่ยนเป็นมือเกาะ การเจริญเติบโตแบบพุ่มหรือขึ้นค้าง บางสายพันธุ์อาจมีเฉพาะใบบางพันธุ์อาจมีเฉพาะมือเกาะ ใบมีสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม ลำต้นเล็กเป็นเหลี่ยม รากเป็นระบบรากแก้ว ดอกเป็นแบบดอกสมบูรณ์เพศ ผสมตัวเอง สามารถแบ่งประเภทของถั่วลันเตาเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทฝักเหนียวและแข็ง เมล็ดโต นิยมปลูกเพื่อรับประทานเมล็ด ส่วนอีกชนิดปลูกเพื่อรับประทานฝักสด โดยฝักจะมีขนาดใหญ่มีปีก ฝักแบน

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ถั่วลันเตาเป็นถั่วฝักแบน สีเขียวอ่อน มีเมล็ดเล็กๆ เรียงอยู่ภายใน มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสมาก เหมาะอย่างยิ่งต่อการบำรุงกระดูกและฟัน เวลานำมาผัดจะมีรสหวานและกรอบ ควรผัดไฟแรงอย่างรวดเร็วจะทำให้คุณค่าวิตามินยังคงอยู่ หรือนำไปลวกรับประทานได้อร่อยเช่นกัน นอกจากนี้เราสามารถนำส่วนของยอดต้นถั่วลันเตาพันธุ์รับประทานยอด ซึ่งมีลักษณะอวบและรสชาติหวาน นิยมนำมาผัดน้ำมันไฟแรงอย่างรวดเร็ว หรือต้มจืดกับหมูสับ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกถั่วลันเตา ควรมีลักษณะร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง หน้าดินลึก และควรมี pH อยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 13 – 18 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 29 องศาเซลเซียส จะทำให้การเจริญเติบโตชะงัก และในกรณีที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ดอกและฝักร่วง ไม่ควรปลูกในสภาพอากาศเย็นมีน้ำค้างแข็ง โดยเฉพาะในระยะที่ดอกบานและเริ่มติดฝัก และควรได้รับแสงตลอดทั้งวัน

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน ขุดแปลงตากดินไว้ 2 สัปดาห์ ใส่ปูนขาวตามคำแนะนำจากการวิเคราะห์ดินอัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม. ทิ้งไว้ 10 วัน ก่อนปลูกคลุกปุ๋ย 0 – 4 – 0 อัตรา 40 กรัม/ตร.ม. กับ 12 – 24 – 12 อัตรา 25 – 30 กรัม/ตร.ม. ลงในดินแปลงกว้าง 1 ม. (แถวคู่)

การปลูก ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก./ตร.ม. รองพื้นก่อนปลูกและโรยตามร่องแถวปลูก พรวนดิน และหยอดเมล็ดโดยขีดร่องยาวตามแปลงลึก 5 ซม. หยอดเมล็ด 1 เมล็ด ห่างกัน 10 – 20 ซม. แถวห่าง 50 ซม. (ปลูกแถวคู่) กลบดินแล้วรดน้ำ ราดแปลงด้วยเซฟวิน 85 บนแปลงป้องกันมดกินหรือขนย้ายเมล็ด

ข้อควรระวัง

  1. หยอดเมล็ดลึกจะทำให้เน่า
  2. ควรคลุกเมล็ดด้วยไตรโคเดอร์มาหรือเอพรอน 35

การทำค้าง เมื่อปลูกได้ 10 วัน โดยปักไม้ค้างสูง 2 ม. ระยะห่าง 1 ม. ผูกเชือกช่วงละ 20 ซม. ของค้าง

การให้น้ำ ให้น้ำทุก 2 – 3 วัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก หากขาดน้ำจะไม่ติดฝัก

การให้ปุ๋ย

- พืชอายุ 20 วัน ให้ปุ๋ย 46 – 0 – 0 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม.

- พืชอายุ 30 วัน ให้ปุ๋ย 13 – 13 – 21 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม. กลบดินบางๆ แล้วรดน้ำตาม ควรกำจัดวัชพืชพร้อมการให้ปุ๋ย

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว

ถั่วลันเตา : เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 55 – 60 วัน เก็บฝักอ่อน เมล็ดเล็ก ฝักยังไม่โป่ง เนื่องจากเมล็ดแก่

ยอดถั่วลันเตา : เก็บเกี่ยวหลังจากย้ายหยอดเมล็ด 45 วัน

การเก็บเกี่ยว

ถั่วลันเตา :

1. เก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสมตามตลาดต้องการ

2. ใช้มือปลิด ให้มีขั้วติดฝักมาด้วย

3. คัดฝักที่มีตำหนิจาก โรค และแมลงออก จัดชั้นคุณภาพ

4. บรรจุตะกร้าพลาสติกหรือกล่องกระดาษ

5. ลดอุณหภูมิลงเหลือ 1 – 2 องศาเซลเซียส

6. ขนส่งโดยรถห้องเย็น

ยอดถั่วลันเตา :

1. เก็บเกี่ยวโดยการใช้มีดหรือกรรไกรตัดยอด

2. ควรเก็บผลผลิตในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น แดดไม่ร้อน

3. บรรจุในลังที่รองด้วยกระดาษทั้ง 4 ด้าน

4. น้ำหนักไม่เกิน 3 กิโลกรัม ต่อหนึ่งตะกร้าสีส้ม

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ

ถั่วลันเตา : คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ฝักตรง มีสีเขียวอ่อน สด เมล็ดเล็ก ไม่แก่ สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

ยอดถั่วลันเตา : คุณภาพขั้นต่ำ เป็นยอดถั่วลันเตาที่มีลักษณะ รูปร่าง และสีตรงตามพันธุ์ ไม่มีรอยเน่า หรือช้ำ ไม่มีตำหนิจากโรคหรือแมลง สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ : ถั่วลันเตา

ชั้นหนึ่ง  1. ความยาวฝัก 8 เซนติเมตรขึ้นไป

      2. ไม่มีตำหนิใดๆ

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. ความยาวฝัก 6 - 8 เซนติเมตร

      2. มีฝักโค้งหรือมีสีเหลืองปะปนมาได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. มีตำหนิได้บ้างไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      4. มีเมล็ดใหญ่ทำให้ผักโป่งปะปนมาได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนภาชนะบรรจุ

      5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ฝักมีขนาดเท่ากับชั้นสอง

      2. มีรอยตำหนิได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. มีเมล็ดใหญ่ทำให้ฝักโป่งไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

การจัดชั้นคุณภาพ : ยอดถั่วลันเตา (Sweet Pea Shoot)

ชั้นหนึ่ง 1. ความยาวของยอดไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร

      2. มีคุณภาพตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง

ถั่วลันเตา : ถั่วลันเตาในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

ยอดถั่วลันเตา : ยอดถั่วลันเตาในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเตรียมสู่ตลาด

1. คัดฝักที่มีตำหนิและไม่ได้คุณภาพออก

2. บรรจุถุงพลาสติกเจาะรู

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 – 2 สัปดาห์

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์