องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

แตงหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์     Cucumis melo

ชื่อสามัญ   Musk melon ,Cantaloupe melon

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป แตงหอมจะมีผิวเปลือกสีเขียว และมีลักษณะเป็นตาข่าย เนื้อมีสีเขียวอ่อน และสีส้มขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน พันธุ์สีเขียวเนื้อจะมีลักษณะกรอบ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

เป็นพืชที่ชอบอากาศอบอุ่นถึงร้อน อุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับการเจริญเติบโต อยู่ระหว่าง 25 - 30 องศาเซลเซียสอุณหภูมิที่เหมาะสำหรับ การงอกของราก แคนตาลูป อยู่ระหว่าง 25 - 30 องศาเซลเซียส ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนมีอิทธิพลต่อความหวานและคุณภาพ ถ้าความแตกต่างยิ่งมากจะทำให้ความหวานและคุณภาพยิ่งสูง แต่สภาพที่หนาวเย็นจะทำให้ผลแคนตาลูปไม่โต การเจริญเติบโตจะชะงัก แคนตาลูปเป็นพืชที่ชอบแสงแดดตลอดวัน ฉะนั้นในการเลือกพื้นที่ ปลูกควรเป็นพื้นที่โล่งแจ้งและไม่เคยปลูกพืช ตระกูลแตงมาก่อน ควรเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรด - ด่าง อยู่ระหว่าง 6.0 – 6.8

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมเมล็ดพันธุ์และการหยอดเมล็ด พื้นที่ปลูก 1 ไร่ เตรียมเมล็ดพันธุ์อัตรา 0 - 100 กรัม นำเมล็ดพันธุ์บรรจุลงในถุงพลาสติกหรือถุงซิบที่เจาะรูพรุน หรือถุงเน็ต ลงแช่ในน้ำสะอาดนาน 4 - 6 ชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดออกมาสลัดน้ำทิ้งใช้ผัาขนหนูที่เปียกพอหมาดๆ ห่อ และนำไปบ่มในอุณหภูมิ 28 - 32 องศาเซลเซียส โดยใช้หลอดไฟขนาด 40 - 60 W. บ่มนาน 24 ชั่วโมง เมล็ดแคนตาลูปจะเริ่มงอกรากยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก็สามารถนำไปหยอดลงในถุงดินหรือถาดเพาะกล้าต่อไป

การเตรียมถุงดินสำหรับเพาะเมล็ด ใช้ดินร่วน 2 - 3 บุ้งกี๋ ปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว 1 บุ้งกี๋ ปุ๋ย 0 - 46 - 0 กำมือ ผสมให้เข้ากัน กรอกลงในถุงพลาสติกขนาด 4 x 4 นิ้ว หรือ 4 x 6 นิ้ว โดยเจาะรูที่ก้นถุงทั้ง 2 ข้าง เพื่อระบายน้ำและนำถุงดินไปวางเรียงในแปลงเพาะ ขนาดกว้าง 1.0 - 1.5 เมตร โดยวางเรียงประมาณ 12 - 15 ถุงต่อแถว จากนั้นรดน้ำถุงดินให้ชุ่มนำเมล็ดที่งอกรากแล้ว หยอดลงไปถุงละ 1 เมล็ด หลังหยอด 2 - 3 วัน เมล็ดจะเริ่มชูใบเลี้ยงขึ้นมา ช่วยแกะเอาเปลือกของเมล็ดออกด้วย รดน้ำต้นกล้าทุกเช้าเย็น อายุต้นกล้าที่เหมาะสม 10 - 12 วัน มีใบจริง 2 - 4 ใบ ก็สามารถย้ายลงปลูกในแปลงได้

การเตรียมแปลงปลูก ไถดินตากไว้ 1 - 2 อาทิตย์ จากนั้นไถพรวนให้ละเอียดทำการยกร่องแปลง โดยใช้ปุ๋ยคอก (ขี้ไก่ 800-1,000 กก./ไร่) ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ฟูราดาน 2-3 กก./ไร่ ถ้าสภาพดินที่มี pH ต่ำ ควรใช้ปูนขาวอัตรา 100-200 กก./ไร่ การเตรียมแปลงถ้าเป็นแบบขึ้นค้างให้ห่างกัน 1.2-1.5 เมตร ความกว้างของร่องน้ำ 60-70 ซม. หลังแปลงกว้าง 80-90 ซม. ใช้พลาสติกคลุม(พลาสติก 2 สี สีบรอนซ์และสีดำ) แล้วทำการเจาะหลุมปลูกห่างกัน 40-45 ซม. ถ้าเป็นแปลงแบบเลื้อย ใช้ขนาดแปลงกว้าง 3-4 เมตร เตรียมแปลงคู่(แบบเดียวกับแตงโม) ร่องน้ำกว้าง 60-70 ซม.

การย้ายปลูก หลังเตรียมแปลงเสร็จก่อนย้ายปลูก 1 - 2 วัน ให้ฉีดพ่นยาต้นกล้า หรืองดการให้น้ำต้นกล้า เพื่อให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบบโต (Harddening) ใช้ระยะปลูก 40 - 45 ซม. รดน้ำหลุมให้ชุ่ม แล้วนำต้นกล้าปลูกลงไปหลุมละ 1 ต้นหลังปลูกเสร็จรดน้ำตามอีก 1 รอบ

การให้ปุ๋ย

ครั้งที่ 1 หลังปลูก 7 - 10 วัน ให้ยูเรีย อัตรา 1 ช้อนแกงต่อนำ 10 ลิตร รดที่โคนต้น ระวังอย่าให้ถูกใบ

ครั้งที่ 2 หลังย้ายปลูก 20 - 30 วัน ให้ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 25 กก./ไร่ โดยวิธีฝังระหว่างต้นหรือโรยที่ร่องน้ำ

ครั้งที่ 3 หลังย้ายปลูก 40 วัน ให้ปุ๋ย 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตรา 25 กก./ไร่ โดยวิธีฝังระหว่างต้น หรือโรยตามร่องน้ำ

ครั้งที่ 4 เพิ่มปุ๋ยโปแตส เพื่อเพิ่มความหวานและสีสรร อาจใช้ปุ๋ยยูเรียผสมในอัตรา 1:1 โดยหว่านตามร่องน้ำก่อนการเก็บ 1-2 สัปดาห์

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้แคนตาลูปเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ อย่าให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการติดผล ซึ่งจะทำให้ผลแคนตาลูปอาจไม่โต การให้น้ำไม่สม่ำเสมอนอกจากระทำให้การเจริญเติบโตชะงักแล้ว อาจทำให้ผลปริแตกได้

การไว้ผลและการตัดแต่งกิ่ง กิ่งแขนงที่เกิดตั้งแต่ข้อที่ 1 จนถึงข้อที่ 8 ให้ตัดแต่งออกให้หมด และเริ่มไว้ผลข้อที่ 9-10,11-12 ให้เลือกผลที่ดีที่สุดไว้ 1 ผล แล้วทำการห้อยผลไว้กับราวไม้เพื่อป้องกันมิให้ผลวางกับพื้น ซึ่งจะทำให้ผลเน่าเสียหายได้ ส่วนกิ่งแขนงตั้งแต่ข้อที่ 13 ขึ้นไป ให้ตัดแต่งออกให้หมดและทำการเด็ดยอดข้อที่ 30 - 35

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

การเก็บเกี่ยว ให้เลือกเก็บเกี่ยวผลแคนตาลูปที่สุกไม่น้อยกว่า 80% ขึ้นไป และใช้หลักในการพิจารณาเก็บแคนตาลูป ดังนี้ นับอายุ หลังจากดอกบานแล้วประมาณ 30-35 วัน

  • สังเกตรอยแตกปริของขั้วผล
  • สังเกตจากสีผิว ถ้าเป็นพันธุ์ผิวเรียบ ผิวจะเป็นมันเรียบสีนวลตามสายพันธุ์ แต่ถ้าเป็นพันธุ์ที่มีตาข่าย จะสังเกตเห็นตาข่าย นูนเด่นชัดเจน
  • สังเกตจากกลิ่น ถ้าเป็นแคนตาลูปพันธุ์ที่มีกลิ่นหอม ถ้าสุกกลิ่นจะเริ่มหอมขณะเดินไปแปลงจะได้กลิ่น

การจัดการในแปลงปลูก

  • เก็บเกี่ยวเมื่อแก่พอดี โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดบริเวณขั้ว ใบมีลักษณะเป็นรูปตัว T
  • บรรจุในตะกร้าพลาสติก โดยมีที่กั้นระหว่างผลแต่ละผลหรือหุ้มโฟมเม็ต
  • ไม่เก็บรักษาหรือขนส่งร่วมกับผลิตที่มีความไวต่อการตอบสนองต่อเอทธิลีน เช่น ดอกคาร์เนชั่น
  • ขนส่งโดยรถห้องเย็นหรือรถธรรมดา

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ สด สะอาด รูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรคหรือแมลง ตลอดจนรอยแผลต่างๆ ปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง   1. ผลมีขนาด 800 – 1300 กรัม

       2. มีความหวานตั้งแต่ 13 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป

       3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง   1. ผลมีขนาด 500 กรัม ขึ้นไป

       2. มีความหวานไม่น้อยกว่า 12 เปอร์เซ็นต์

       3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง แตงหอมในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน ชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเก็บรักษา

แคนตาลูป : อุณหภูมิ 0 – 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์ เก็บรักษาได้นาน 1 – 2 สัปดาห์

Honeydew : อุณหภูมิ 7 – 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์ เก็บรักษาได้นาน 3 – 4 สัปดาห์

ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : พ.ค. - ธ.ค.


เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์