องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ขิงแดง

ชื่อสามัญ  Red ginger

ชื่อวิทยาศาสตร์  Alpinia purpurata (Vieill.) K. Schum.

ขิงแดง เป็นพืชในวงศ์เดียวกับ ขิง ข่า Zingibevaceae ซึ่งมีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า (rhizome) แตกสาขาทอดขนานไปกับผิวดิน ลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่ซ้อนกันแน่น ลำต้นเหนือดินสูง 1-2 เมตร ลำต้นขึ้นอัดแน่นเป็นกอใหญ่ ขิงแดงเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินทั่วไป ชอบอากาศร้อนชื้นต้องการแสงไม่มาก เป็นพืชที่ปลูกในร่มต้องการความชื้นสูงขึ้นได้ดีในดินร่วนซุย ขิงแดงมีรูปทรงของดอกแปลกกว่าดอกชนิดอื่น เมื่อนำไปปักแจกันในอุณหภูมิปกติ อยู่ได้นาน 4-5 วัน และเป็นพืชที่ให้ผลผลิตตลอดปี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ทั้งปี

การขยายพันธุ์

1. การแยกหน่อ (division) คือ การแบ่งเหง้าใหญ่ที่เกิดจากต้นแม่ ใช้หน่อที่ไม่แก่เกินไป หรือต้นอายุพันธุ์ 2 ปี จึงสามารถแบ่งก่อได้

2. ใช้ตะเกียง (aerial offshoots) เมื่อดอกแก่จะสร้างตะเกียงหรือหน่อเล็กที่โคนกลีบประดับ นำมาชำให้เกิดรากประมาณ 4-5 สัปดาห์ สามารถนำมาลงถุง หรือลงแปลงปลูกได้

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก 

การเตรียมแปลง

สร้างโรงเรือนขนาด 24 ? 16 เมตร สูง 4 เมตร พรางแสงด้วยซาแลน 70 เปอร์เซ็นต์ การสร้างโรงเรือนควรสร้างโรงเรือนสูงเพราะความสูงของดอกประมาณ 3-4 เมตร เพื่อไม่ให้ดอกชนซาแลน เกิดความเสียหาย

การเตรียมดิน

ไถพลิกดินให้ลึก 30 เซนติเมตร ปรับสภาพดินโดยปูนขาว เติมปุ๋ยคอก เปลือกข้าว เปลือกถั่ว ถ้ากรณีดินที่ปลูกเป็นดินเหนียวให้ใช้ทรายผสมลงไปด้วย ผสมให้เข้ากันแล้วปรับพื้นที่ให้เรียบ หลังจากนั้นขุดร่องลึก 20 เซนติเมตร เป็นรูปท้องอ่าง กว้าง 1.5 เมตร ขนานยาวไปตามความยาวของโรงเรือน ขุดลึกปลูกให้ลึกเท่ากับปากถุงต้นกล้า ระหว่างแถวห่าง 120 เซนติเมตร ระหว่างต้น 100 เซนติเมตร เมื่อปลูกเสร็จใช้ระยะเวลาในการดูแล 6-8 เดือน จึงเริ่มให้ผลผลิต

การดูแลรักษา 

การให้ปุ๋ย

ขิงแดงเป็นพืชที่ชอบปุ๋ยคอกหรืออินทรียวัตถุมาก ต้องเติมปุ๋ยคอก เศษไม้ ฟางข้าว เดือนละครั้ง ใช้ปุ๋ยเคมีบ้างเล็กน้อย

การให้น้ำ

ให้น้ำโดยระบบสปริงเกอร์ เปิดตอนเช้านาน 2 ชั่วโมง หรือสังเกตดินเริ่มแฉะใช้สายยางโดยใช้คนรด มีข้อดี คือ ลดน้ำทั่วถึงสามารถดูแล และตรวจแปลงทั่วถึง ข้อเสียคือ ใช้ระยะเวลานานในการรด

โรคและศัตรูพืช

โรคต้นเน่า ป้องกันกำจัดโดย ขุดทิ้ง ราดสารเคมี เทอร์ราคอซุปเปอร์เอ็กบริเวณต้นใกล้เคียง

แมลง

เพลี้ยอ่อน ป้องกันกำจัดโดยสารเคมี จำพวกโตกุไธออน

เพลี้ยไฟไรแดง ป้องกันกำจัดโดยสารเคมี นิสโชรัน หรือโอไมค์ จะพบแมลงระบาดในตอนฤดูร้อน

หนอนเจาะลำต้น ป้องกันกำจัดโดยตัดต้นทิ้งหรือผ่าเอาตัวหนอนมาฆ่าทิ้ง ใช้สารเคมีฉีดพ่น

การเก็บเกี่ยว 

ระยะการเก็บเกี่ยว ขิงแดงที่เหมาะสมสังเกตจากการบานของดอก ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ วิธีการตัดต้องเตรียมถังน้ำทรงสูง เมื่อตัดเสร็จต้องแช่น้ำสะอาดทันทีแล้วนำมาคัดแยก ซึ่งมีมาตรฐานเกรดดังนี้

- ดอกใหญ่ ความยาวช่อดอก 5-6 นิ้ว ความยาวก้าน 75 เซนติเมตร

- ดอกกลาง ความยาวช่อดอก 4-5 นิ้ว ความยาวก้าน 75 เซนติเมตร

- ดอกเล็ก ความยาวช่อดอก 3-4 นิ้ว ความยาวก้าน 60-75 เซนติเมตร

ในแต่ละก้านเหลือใบทิ้งไว้ 3-4 ใบ

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว 

การเข้ากำ กำละ 10 ช่อ ห่อด้วยกระดาษปลุ๊ฟ หุ้มก้านด้วยสำลีแช่น้ำสะอาด ห่อด้วยพลาสติกใส บรรจุลงกล่องเก็บรักษาที่อุณหภูมิประมาณ 7 องศาเซลเซียส ถ้าในฤดูหนาวสามารถไว้ในอุณหภูมิปกติได้

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.