องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

หน้าวัว

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

หน้าวัวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anthurium andraeanum เป็นพืชในสกุล Anthurium วงศ์ Araceae มีถิ่นกำเนิดมาจากเขตร้อนของทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ความสวยงามของทั้งใบ และดอกทำให้มีพืชชนิดต่างๆ ในสกุลหน้าวัวถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางพืชสวน ทั้งในรูปไม้ตัดดอก ไม้ตัดใบ และไม้กระถาง หน้าวัวมีดอกสมบูรณ์เพศ คือ มีเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ดอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงตัวกันแน่นบนช่อดอกที่เรียกว่า ปลี (Spadix) ซึ่งมีหลากสีเช่น สีส้ม สีแดง สีเขียว สีชมพู สีม่วง สีขาว หรือมีหลายสีรวมกันในจานรองดอกเดียวกัน ปกติจานรองดอกมีอายุการใช้งาน 15 วันขึ้นไป ดอกหน้าวัวจะบานหลังจากจานรองดอกคลี่ประมาณ 3 - 4 วัน ดอกจะบานจากโคนปลีสู่ปลายปี และเกสรตัวเมียพร้อมผสมก่อนเกสรตัวผู้ของดอกเดียวกัน โดยเกสรตัวมียจะโผ่ลขึ้นจากดอกเห็นเป็นตุ่มขรุขระ ยอดเกสรตัวเมียเหล่านี้พร้อมได้รับการถ่ายละอองเกสรในช่วง 8.00 - 10.30 น. ของวันที่มีอากาศเย็นซึ่งจะสังเกตเห็นว่ายอดเกษรตัวเมียมีลักษณะเป็นเมือกเหนียวเป็นมันหากสภาพแวล้อมเหมาะสม ส่วนเกสรตัวผู้มีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายผงแป้ง ซึ่งจะสังเกตเห็นเวลา 8.00 - 10.30 น. ของวันที่มีอากาศเย็นเช่นกัน การถ่ายละอองเกษรสามารถทำได้โดยใช้พู่กันแตะเกสรตัวผู้แล้วนำไปสัมผัสกับเกสรตัวเมียและควรทำวันเว้นวันตั้งแต่โคนปลีจนสุดปลายปลี

ลักษณะของลำต้นหน้าวัว : เป็นพืชอายุหลายปีที่ไม่มีเนื้อไม้ เป็นพืชเขตร้อนลำต้นตรงหรือเลื้อย ลำต้นอาจเจริญโดยมียอดเดียวหรือแตกกอได้ เมื่อยอดสูงจะพบรากบริเวณลำต้น รากเหล่านี้จะเจริญลงหาอาหารในเครื่องปลูกเมื่อสภาพอากาศภายในโรงเรือนชื้น ระบบรากของหน้าวัวเป็นรากอากาศสามารถดูดน้ำ และความชื้นจากอากาศภายในโรงเรือน ดังนั้นการเลือกวัสดุปลูกควรเป็นวัสดุปลูกที่โปร่งมีการระบายอากาศที่ดี ใบหน้าวัวเป็นใบเดี่ยว มีรูปร่างแตกต่างกันออกไป เช่น ใบพาย ใบกลม ใบแบบข้าวหลามตัด ผิวใบเป็นมัน การเรียงตัวของใบจะเรียงเป็นเกลียวรอบต้น พวกที่มีใบกว้างเส้นใบจะเรียงตัวคล้ายร่างแห ขณะที่พวกใบแคบเส้นใบจะเรียงตัวคล้ายเส้นขนาน แต่ทั้งนี้เส้นใบมักจะนูนขึ้นอย่างชัดเจน

ความสำคัญ

หน้าวัวจัดเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าไม้ตัดดอกชนิดอื่นๆ ทั้งนี้เพราะว่าดอกหน้าวัวมีสีสันสวยงาม สะดุดตา ก้านดอกยาวแข็งแรง มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 15 วันขึ้นไป ปัจจุบันเป็นไม้ตัดดอกที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาด จากการสำรวจพบว่าหน้าวัวเป็นไม้ตัดดอกที่ทำรายได้ต่อพื้นที่สูงที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตในปีแรกสูงก็ตาม แต่ในปีต่อไปจะลดลงจึงทำให้การผลิตหน้าวัวคุ้มค่าต่อการลงทุน ประเทศไทยได้มีการนำเข้าหน้าวัวมาปลูกครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 หรือมากกว่า 100 ปีมาแล้ว ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์หน้าวัวลูกผสมขึ้นในประเทศไทย และนำเข้าลูกผสมจากต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ส่วนใหญ่สั่งซื้อมาจากเนเธอร์แลนด์ และมลรัฐฮาวายประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสีสันสวยงามรูปทรงแปลกใหม่ มีความหลากหลาย ทนทานต่อการขนส่ง ปลูกเลี้ยงง่ายโดยสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ ประกอบกับทัศนคติในการใช้ดอกหน้าวัวเปลี่ยนแปลงไป มีการนิยมนำดอกหน้าวัวมาใช้ในงานมงคลมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มตลาดดอกหน้าวัวในตลาดโลก ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการปลูกเลี้ยงหน้าวัวเป็นการค้ามากขึ้น

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

โดยทั่วไปการปลูกเลี้ยงหน้าวัวสามารถปลูกเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ทั้งแสง อุณหภูมิและความชื้นมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของหน้าวัว หน้าวัวเป็นไม้ตัดดอกเมืองร้อนให้ผลผลิตตลอดปี แต่สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยงดอกหน้าวัวควรเป็นที่ราบ น้ำไม่ที่วมขังหรืออยู่ในเส้นทางการไหล่บ่าของน้ำเวลาฝนตก และเป็นพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ไม่ควรเป็นพื้นที่ที่มีกระแสลมแรง มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี สะอาดและเพียงพอใช้ตลอดปี พื้นที่ปลูกควรเดินทางได้สะดวกหรืออยู่ใกล้แหล่งคมนาคม อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยงเวลากลางวันควรอยู่ในช่วง 20 – 30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิกลางวัน – กลางคืนไม่ควรแตกต่างกัน คือ 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 70 – 90 เปอร์เซ็นต์

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์ :

1. การขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ด สามารถทำได้โดยคัดเลือกต้นพ่อแม่พันธุ์ที่ต้องการแล้วผสมเกสรให้ติดเมล็ด หลังจากนั้นนำเมล็ดไปเพาะและคัดเลือกลูกผสม ระยะเวลาที่ทำการถ่ายละออกเกสรจนติดเมล็ดใช้เวลา 6 – 7 เดือน แล้วแต่สายพันธุ์ ระยะเวลาในการเพาะเมล็ด ประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ รอจนต้นที่ได้ สูง 6 – 8 เซนติเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลา 1 ปี จึงย้ายลงในกระถาง หลังจากนั้นเลี้ยงต้นอีก 1 ปี จึงจะออกดอกแรก วิธีนี้จะใช้เฉพาะในการปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น

2. การตัดชำยอด จะทำเมื่อต้นสูงประมาณ 60 เซนติเมตร โดยตัดยอดให้มีใบติดอยู่ 3 – 5 ใบและมีราก 2 – 3 ราก

3. การตัดหน่อ นิยมทำหลังจากตัดยอดแล้วต้นตอที่ถูกตัดยอดจะมีหน่อใหม่เกิดขึ้นมาสามารถตัดหน่อไปปลูกใหม่ได้

4. การปักชำต้นตอ สามารถทำได้โดยตัดชำลำต้นใต้ดินที่ยาวหรือต้นที่เหลือจากการตัดชำยอดออกเป็นท่อนๆ (แต่ไม่ใช่ว่าทุกพันธุ์จะมีลำต้นยาวเสมอไป)

5. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดซึ่งจะสามารถผลิตต้นหน้าวัวได้ในปริมาณที่มาก และรวดเร็วนิยมใช้กับพันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า

การอนุบาล : การปลูกหน้าวัวเป็นการค้าในปัจจุบัน จะนิยมใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากมีความแข็งแรง เติบโตสม่ำเสมอและปลอดโรค เมื่อได้ต้นพันธุ์จากห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้ว ควรปลูกต้นพันธุ์ในถาดหลุม และนำไปเลี้ยงในโรงเรือนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมีการพรางแสง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาในการอนุบาลก่อนออกปลูกจะใช้ระยะประมาณ 4 เดือน ช่วงเวลาอนุบาลต้นกล้านั้นหากใบพืชมีการเสียหายเนื่องจากเป็นโรคหรือใบหักช้ำ ให้ตัดแต่งใบส่วนที่เสียหายออกและราดหรือฉีดพ่นสารเคมีป้องกันเชื้อโรค ไม่ควรตัดแต่งใบหน้าวัวออกเกินความจำเป็น เนื่องจากต้นพันธุ์มีขนาดเล็ก จะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตหรือเติบโตช้ากว่าปกติ เมื่อต้นหน้าวัวโตขึ้นจนระยะที่ปลายพุ่มใบแต่ละใบชิดกัน ควรย้ายลงกระถางขนาด 4 และ 8 นิ้ว ตามลำดับ ก่อนย้ายลงแปลงปลูกหรือกระถางขนาด 11 – 15 นิ้ว เพื่อการผลิตเพื่อตัดดอกต่อไป ทั้งนี้พันธุ์ไม้กระถางมักจำหน่ายในกระถางขนาด 8 นิ้ว

ช่วงระยะเวลาที่ใช้ในการขยายพันธุ์ : เนื่องจากหน้าวัวมีวิธีการขยายพันธุ์หลายวิธี ระยะเวลาในการขยายพันธุ์หน้าวัวก็ขึ้นอยู่กับวิธีการขยายพันธุ์ด้วยเช่นกัน แต่ส่วนมากจะนิยมขยายพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน) เพราะมีความชื้นสูงง่ายต่อการเกิดรากใหม่

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีปลูก

การเตรียมแปลง : การปลูกหน้าวัวโดยทั่วไปนั้นจะต่างกับการปลูกไม้ดอกชนิดอื่นๆ ตั้งแต่วัสดุปลูกและแปลงปลูก โดยการปลูกหน้าวัวนั้นใช้วัสดุปลูกที่เป็นเปลือกมะพร้าว เปลือกไม้ผุ ถ่านไม้ ถ่านกะลาปาล์ม ถ่านซังข้าวโพดหรืออิฐมอญทุบ โดยวัสดุปลูกที่ทนทานหาง่ายในท้องถิ่นและมีราคาถูก การปลูกหน้าวัวมีวิธีการเตรียมปลูกที่ง่ายไม่ซับซ้อน

การปลูกลงแปลง : จะทำการยกพื้นโดยการใช้คอนกรีตบล็อคก่อเป็นแปลงสูงประมาณ 20 เซนติเมตร กว้าง 1.2 เมตร เว้นช่องทางเดิน 30 เซนติเมตร ช่องว่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร การใช้ระยะปลูก 30 เซนติเมตร จะทำให้ปลูกต้นหน้าวัวได้ราว 10,000 – 12,000 ต้น/ไร่ พื้นแปลงปลูกควรทำเป็นสันนูนเต่า เพื่อให้น้ำสามารถระบายออกทางด้านข้างแปลงโดยไม่ขังแฉะ และควรใช้ผ้าพลาสติกปูพื้นแปลงเพื่อป้องกันไส้เดือนดิน จากนั้นใส่เครื่องปลูกโดยให้มีความหนาประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร ปักหลักลงในแปลง วางต้นหน้าวัวลงและผูกต้นให้ตั้งตรงโดยให้โคนต้นชิดกับเครื่องปลูกและให้รากแผ่กระจายบนเครื่องปลูกแล้วจึงเติมเครื่องปลูกลงไป โดยไม่ให้กลบยอด

การปลูกในกระถาง : ใช้อิฐมอญทุบหรือหินรองก้นกระถางเพื่อระบายน้ำออกจากกระถาง หลังจากนั้นใส่วัสดุปลูกลงไป วางต้นหน้าวัวตรงกลางของกระถางและรากกระจายอยู่โดยรอบ เติมวัสดุปลูกลงไปโดยไม่ให้กลบยอดเช่นเดียวกับการปลูกลงแปลง หรือทำชั้นวางกระถางให้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร เพื่อลดปัญหาการติดเชื้อในดิน โรงเรือนปลูกหน้าวัวต้องพรางแสงด้วยตาข่ายพรางแสง 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดปัญหาการได้รับแสงมากเกินไป

เทคนิคการปลูก : ต้นหน้าวัวที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะต้องนำต้นมาทำการอนุบาลก่อน โดยจะต้องนำไปเลี้ยงในโรงเรือนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีการพรางแสง 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ หรือความเข้มแสงควรน้อยกว่าปกติเล็กน้อย ถ้าเป็นต้นพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ได้จากการแยกกอ ตัดชำหน่อหรือตัดชำข้อปล้อง ตลอดจนต้นจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ผ่านการอนุบาลแล้ว ควรนำมาแช่ในสารเคมีป้องกันเชื้อราก่อนทำการปลูกหากมีบาดแผล วิธีการปลูกต้นหน้าวัว นำอิฐมอญทุบรองก้นกระถางเพื่อให้ระบายน้ำก่อน หลังจากนั้นใส่วัสดุปลูกลงไปในกระถาง วางต้นหน้าวัวลงไปแล้วจึงค่อยๆใส่วัสดุปลูกเพื่อให้รากยึดเกาะพยุงต้น และค่อยๆ เติมลงไปอีกหลังจากวัสดุปลูกยุบตัว

การดูแลรักษา

การจัดการด้านความเข้มแสง : หน้าวัวเป็นไม้ตัดดอกเมืองร้อน แต่การปลูกหน้าวัวนั้นจำเป็นจะต้องปลูกภายใต้โรงเรือนพรางแสง หากปลูกกลางแจ้งโดยไม่มีการพรางแสงใบของต้นหน้าวัวจะไหม้ โดยทั่วไปต้นหน้าวัวจะเจริญได้ดีในที่ระดับความเข้มแสงประมาณ 16,000 – 27,000 ลักซ์ หากความเข้มแสงเกิน 27,000 ลักซ์ ต้นหน้าวัวจะแตกกิ่งก้านดีแต่สีของดอกและใบจะซีดเหลือง ใบไหม้ ขอบใบจะแห้งและไหม้ได้ โดยทั่วไปจะพรางแสงประมาณ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะใช้ตาข่ายพรางแสง 2 ชั้น ชั้นบนสุดอาจติดตาข่ายแบบถาวร ส่วนด้านล่างสุดเป็นตาข่ายแบบเลื่อนปิดเปิดได้ ในช่วงที่แสงมีความเข้มไม่มากให้เปิดตาข่ายชั้นล่างเพื่อให้ต้นหน้าวัวได้รับแสงและปรุงอาหารได้เต็มที่

การจัดการด้านอุณหภูมิ : โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงหน้าวัวกลางวัวอยู่ระหว่าง 20 - 30 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานและต่อเนื่องจะทำให้ต้นและใบไหม้ สีจานรองดอกซีด และอายุการปักแจกันสั้นลง และถ้าหากอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียสจะทำให้ต้นและใบดอกหน้าวัวเสียหายได้เช่นกัน อุณหภูมิกลางคืนควรอยู่ระหว่าง 21 - 24 องศาเซลเซียส ถ้าหากกลางคืนอุณหภูมิต่ำประมาณ 10 องศาเซลเซียส จะทำให้หน้าวัว มีการเจริญเติบโตช้าและเกิดอาการสะท้านหนาว ทำให้ใบเน่าช้ำเสียหายได้

การให้ปุ๋ย : ควรให้ปุ๋ยหน้าวัวทางรากผ่านระบบน้ำมากกว่าฉีดพ่นทางใบ เนื่องจากใบหน้าวัวมีชั้นของแวกซ์หนา ทำให้ดูดซึมปุ๋ยได้ไม่ดี ดังนั้นการให้ปุ๋ยที่ดี คือ การให้ปุ๋ยร่วมกับระบบน้ำโดยใช้เครื่องจ่ายปุ๋ย ซึ่งต้นหน้าวัวจะได้รับปุ๋ยในปริมาณที่ถูกต้องทุกครั้งที่ให้น้ำ แต่ควรมีการเสริมปุ๋ยทางใบเป็นบางครั้ง สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นปุ๋ยทางใบ ควรเลือกช่วงที่ปุ๋ยจะจับอยู่ที่ใบได้นานๆ ดังนั้นช่วงที่มีความชื้นสูงในตอนเช้าตรู่จะเหมาะกว่าช่วงที่มีอากาศร้อน ส่วนการให้ปุ๋ยผ่านทางระบบน้ำถ้าเป็นปุ๋ยที่เจือจางอาจจะรดปุ๋ยทดแทนการให้น้ำเลยก็ได้ ซึ่งเราสามารถเตรียมสารละลายปุ๋ยเข้มข้นไว้ก่อน 2 ถัง คือ ถัง A และถัง B ซึ่งปุ๋ยทั้งสองถังมีความเข้มข้นเท่ากัน ค่า pH ของน้ำผสมปุ๋ยควรจะเป็น 5.5 - 5.6 ส่วนค่า EC ควรมีประมาณ 1.2 ms/cm

การเตรียมแม่ปุ๋ย สารละลายปุ๋ยเข้มข้น นำไปใช้โดยเจือจางกับน้ำอัตราส่วน 1 : 200 

แม่ปุ๋ย                        สูตร         ถัง A (กรัม/น้ำ 10 ลิตร)       ถัง B (กรัม/น้ำ 10 ลิตร)

แอมโมเนียมไดไฮโดรเจนฟอสเฟต        12-60-0          490                      - 

โพแทสเซียมไนเตรท               13-0-46          830                     830

แคลเซียมไนเตรท                 15-0-0            -                     910 

แมกนีเซียมซัลเฟต                   -             900                     - 

ยูนิเลท                                        25                      25 

กรด HNO3                                      10                      10 

 

การให้ปุ๋ย ปริมาณน้ำที่ให้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุปลูกและอายุของหน้าวัว การให้น้ำนั้นสามารถให้น้ำได้หลายวิธี

1.อาศัยน้ำฝน วิธีนี้มักจะใช้กับการปลูกหน้าวัวในโรงเรือนที่มีตาข่ายพรางแสง ปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา วิธีนี้ช่วยให้ประหยัดน้ำแต่มีข้อเสีย คือ ไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้และถ้าหากฝนตกหนักจะทำให้น้ำฝนล้างปุ๋ยออกจากแปลงและอาจเกิดเชื้อโรคได้เพราะต้นหน้าวัวเปียกตลอดเวลา

2.ทางสปริงเกอร์เหนือต้น วิธีนี้จะใช้เมื่อฝนตกไม่ต่อเนื่องแต่วิธีนี้มีข้อเสีย คือ ต้นหน้าวัวเปียกเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย

3.แบบสปริงเกอร์ระดับแปลง สปริงเกอร์ 1 สายต่อ 1 แปลง โดยวางสปริงเกอร์ในแนวกลางแปลง ระยะระหว่างหัว 75 เซนติเมตร ให้น้ำ 3-5 ลิตร/ตารางเมตร/วัน โดยให้น้ำวันละ 4 ครั้ง ควรใช้สปริงเกอร์ 360 องศา เพื่อให้น้ำกระจายทั่วแปลงโดยเฉพาะบริเวณของแปลง การยกของแปลงเหนือวัสดุปลูก 10-20 เซนติเมตร จะทำให้ขอบแปลงเปียกเพียงพอและทางเดินไม่แฉะ

4.ระบบน้ำหยด โดยใช้ 4 สาย/แปลง ให้สายน้ำหยดวางตามแนวแถวต้นหน้าวัวระหว่างรูน้ำหยด 25 เซนติเมตร วิธีนี้จะต้องผ่านการกรองอย่างดี เพราะรูน้ำอาจอุดตันได้ง่าย ประหยัดน้ำแต่จะให้น้ำบ่อยขึ้นประมาณ 4 ครั้ง/วัน

5.ใช้สายยางรด โดยติดตั้งท่อน้ำและก๊อกน้ำไว้ตามมุมของหัวแปลงปลูกและใช้แรงงานคนในการรดน้ำ ปริมาณการให้น้ำจะขึ้นอยู่กับวัสดุปลูก ถ้าวัสดุเปียกน้ำหรืออุ้มน้ำมากก็จะให้น้ำวันเว้นวันหรือวัสดุปลูกแห้งให้น้ำทุกวันสลับกับการให้ปุ๋ย

การเก็บเกี่ยว

 

ระยะการเก็บเกี่ยว ดอกหน้าวัวควรมีระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพราะจะทำให้ดอกที่มีคุณภาพลักษณะดอกที่สวยงามสีสันสดใส และที่สำคัญมีอายุการใช้งานที่นาน เป็นที่ต้องการของตลาด ระยะที่เหมาะสมของการตัดดอกหน้าวัวขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์และขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดด้วย โดยทั่วไประยะที่เหมาะสมในการตัดดอกหน้าวัวจะดูจากการเปลี่ยนสีของปลีซึ่งก็คือการที่เกสรตัวเมียบาน และชูขึ้นเหนือดอกจากโคนปลีไปยังปลายปลี ระยะการบานที่เหมาะสม ปลีของหน้าวัวจะบานประมาณ 2/3 ของความยาวปลีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แต่ส่วนมากจะใช้ระยะการบานนี้ การตัดดอกหน้าวัวที่อ่อนเกินไปจะทำให้ดอกมีอายุการใช้งานสั้น ในขณะที่ตัดดอกที่แก่เกินไปจะทำให้ดอกที่มีคุณภาพด้อยโดยที่สีของจานไม่สดใส

วิธีการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวดอกหน้าวัวมีข้อควรคำนึงหลายประการ

ความคมของอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดดอก เพราะการหักหรือการตัดดอกโดยใช้มือหรือมีดที่ไม่คมตัดดอกจะทำให้เกิดแผลช้ำบนผิวที่ถูกตัด ซึ่งต่อไปเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวจะถูกเข้าทำลายโดยแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และโรคอื่นๆ ทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน

ความสะอาดของอุปกรณ์ตัดดอก เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและโรคอื่นๆ ควรมีมีดหรือกรรไกรอย่างน้อย 2 อัน เพื่อสลับเปลี่ยนกันใช้ และแช่ในแอลกอฮอล์ก่อนนำไปตัดต้นอื่นๆ

ความสะอาดของน้ำและภาชนะที่ใช้แช่ดอก น้ำและภาชนะที่ใช้แช่ดอกควรสะอาดเพราะถ้าภาชนะเก็บหรือบรรจุไม่สะอาดจะนำพาเชื้อโรคได้

การควบคุมความร้อนจากแสงแดด ดอกไม้ที่ตัดแล้วควรแช่น้ำทันที และควรเก็บดอกให้อยู่ในร่มตลอดเวลา

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : ควรคำนึงถึงหลักการใหญ่ๆ คือ

การเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวไม้ตัดดอกความสะอาดถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยว เช่น มีด กรรไกรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว และดอกไม้ทุกชนิดหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วไม่ควรวางทิ้งไว้บนพื้นดิน เพราะอาจมีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกและเชื้อจุลินทรีย์ ดังนั้นเมื่อตัดดอกแล้วจึงควรแช่น้ำทันที โดยน้ำนั้นจะต้องเป็นน้ำสะอาด รวมทั้งภาชนะที่ใช้แช่ควรเป็นภาชนะที่สะอาด และควรใช้สารเคมีผสมลงไปด้วยซึ่งอย่างน้อยควรมีสารเคมีที่ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ผสมอยู่ด้วย

การจัดมาตรฐาน หรือการคัดเกรด การจัดชั้นมาตรฐานของดอกไม้ จะใช้ความยาวของก้านดอก และความแข็งแรงของก้าน ความกว้างของจานรองดอก ความสม่ำเสมอของขนาดดอก คุณภาพของใบ และการตำหนิของดอก ซึ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินขนาดของดอกไม้หลายขนิด จะต้องให้สม่ำเสมอและมีมาตรฐาน รวมทั้งอายุการใช้งานและการใช้ประโยชน์ด้วย

มาตรฐานการคัดเกรดของดอกหน้าวัว

Ex  1. ความยาวของจานรองดอก มากกว่า 16 เซนติเมตร ขึ้นไป       2. ความยาวของก้านดอก 60 เซนติเมตร ขึ้นไป

 1. ความยาวของจานรองดอก มากกว่า 14 เซนติเมตร ขึ้นไป       2. ความยาวของก้านดอก 50 เซนติเมตร ขึ้นไป

B  1. ความยาวของจานรองดอก มากกว่า 12 เซนติเมตร ขึ้นไป       2. ความยาวของก้านดอก 40 เซนติเมตร ขึ้นไป

C  1. ความยาวของจานรองดอก มากกว่า 10 เซนติเมตร ขึ้นไป       2. ความยาวของก้านดอก 30 เซนติเมตร ขึ้นไป


มาตรฐานการคัดเกรดของดอกหน้าวัวเปลวเทียน

Ex  1. ความกว้างของจานรองดอก 7 เซนติเมตร ขึ้นไป

    2 ความยาวของจานรองดอก มากกว่า 9 เซนติเมตร ขึ้นไป

    3. ความยาวของก้านดอก 60 เซนติเมตร ขึ้นไป

A  1. ความกว้างของจานรองดอก 6 เซนติเมตร ขึ้นไป

   2. ความยาวของจานรองดอก มากกว่า 8 เซนติเมตร ขึ้นไป

   3. ความยาวของก้านดอก 50 เซนติเมตร ขึ้นไป

 1. ความกว้างของจานรองดอก 5 เซนติเมตร ขึ้นไป

   2. ความยาวของจานรองดอก มากกว่า 7 เซนติเมตร ขึ้นไป

   3. ความยาวของก้านดอก 40 เซนติเมตร ขึ้นไป

 1. ความกว้างของจานรองดอก 4 เซนติเมตร ขึ้นไป

   2. ความยาวของจานรองดอก มากกว่า 6 เซนติเมตร ขึ้นไป

   3. ความยาวของก้านดอก 30 เซนติเมตร ขึ้นไป

การเข้ากำหรือการบรรจุหีบห่อ ตามปกติการจำหน่ายดอกไม้ มักจะทำในรูปของกำ ในแต่ละกำจะผันแปรไปตามแหล่งที่ปลูก ตลาด และชนิดของดอกไม้ ดอกไม้บางชนิดอาจจะเข้ากำตามน้ำหนัก การจัดดอกไม้ให้เป็นกำโดยใช้ลวดหรือยางหุ้มรัดไว้ นอกจากนั้นอาจใช้ถุงกระดาษหรือกระดาษเคลือบไขหรือพลาสติกบางชนิดห่อหุ้มก็ได้ เพราะว่าบางครั้งอาจเกิดความเสียหายกับดอกไม้เวลาจับต้องหากมีการจัดมาตรฐานและเข้ากำให้เสร็จภายสวน

การบรรจุหีบห่อดอกหน้าวัวนั้น หลังจากตัดดอกหน้าวัวแล้วแช่ก้านดอกลงในน้ำทันที แล้วบรรจุจานรองดอกไปในถุงพลาสติกที่เจาะรูที่โคนก้านดอก ใช้หลอดพลาสติกที่บรรจุน้ำหรือน้ำยายืดอายุแช่ไว้ การบรรจุลงกล่องต้องวางเรียงเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นต้องมีกระดาษฝอยรองรับอย่าให้น้ำกระเด็นถูกกลีบดอก เพราะจะทำให้สีของดอกเปลี่ยนไปหรือชอกช้ำได้หากบรรจุไม่เต็มกล่องควรมีที่ยึดหรือไม้กดทับบริเวณก้านดอกเพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ขณะขนส่ง

การใช้สารเคมี การใช้สารเคมีบางชนิดหลังการเก็บเกี่ยวดอกไม้ เพื่อให้ดอกไม้มีคุณภาพและมีความคงทน

การแช่น้ำยา (ส่วนประกอบของน้ำยา) ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของอายุการปักแจกันของดอกไม้ คือ ความสามารถในการลดการเต่งหรือความสด ดอกไม้จะต้องมีความสามารถในการดูดน้ำขึ้นมาแทนน้ำที่สูญเสียไป และหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งของสารเคมีที่ใช้ในการยืดอายุของดอกไม้ คือ การรักษาดอกให้มีความเต่งตลอดเวลา อายุการปักแจกันของดอกไม้นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนแบคทีเรียในน้ำ การผสมน้ำยาฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ลงไปในน้ำจะช่วยยืดอายุการปักแจกันได้ การใช้สารเคมีสำหรับหน้าวัวนั้นจะใช้สารแคลเซียมไฮโปรคลอร์ไรต์ หรือคลอรอกซ์ 50 มิลลิกรัม/ลิตร การแช่นาน 10 นาที ในสารละลายเกลือเงินไนเตรท 170 มิลลิลิตร/ลิตร แล้วล้างน้ำอีกครั้งหลังจากเสร็จ มิฉะนั้นก้านจะดำ การเคลือบแวกซ์ที่ดอกนั้นจะช่วยยืดอายุการปักแจกันได้โดยใช้ Carnuaba Wax หน้าวัวเป็นไม้ดอกที่ไม่ตอบสนองต่อเอธิลีน การใช้สารเคมีที่ระงับการสร้างหรือทำงานของเอธิลีนไม่ช่วยยืดอายุของการปักแจกัน

อุณหภูมิที่เหมาะสมในการรักษา (หลังการเก็บเกี่ยว) การลดอุณหภูมิ การรักษาดอกไม้ภายใต้สภาพอุณหภูมิต่ำจะช่วยยืดอายุการใช้งานของดอกไม้ได้ ดังนั้นจึงช่วยลดอุณหภูมิของดอกไม้ทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว ดอกไม้ส่วนใหญ่เก็บรักษาได้ดีที่อุณหภูมิ 0-1 องศาเซลเซียส ส่วนหน้าวัวนั้นเป็นดอกไม้เขตร้อน การเก็บรักษาอุณหภูมิควรอยู่ประมาณ 12.5-20 องศาเซลเซียส เพราะดอกหน้าวัวอ่อนแอต่อการสะท้านหนาว การเก็บรักษาดอกที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส จะทำให้ดอกเป็นสีน้ำตาลและแห้งตาย การขนส่งด้วยรถห้องเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำต้องรักษาสภาพภายในกล่องให้มีฉนวนเพื่อป้องกันอุณหภูมิต่ำ ตามปกติเก็บรักษาได้ ประมาณ 1 สัปดาห์ ที่ 15 องศาเซลเซียส

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.