องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

บ่าลิดไม้(เพกา)

 

 

ชื่อสามัญ   Indian trumpet flower

ชื่อวิทยาศาสตร์   Oroxylum indicum (L.) Kurz

วงศ์    BIGNONIACEAE

ภาคเหนือ บ่าลิดไม้ ลิ้นฟ้า  ภาคกลาง เพกา ภาคอีสาน บักลิ้นไม้ บักลิ้นฟ้า ลิ้นงู ภาคใต้ ดูแก เบโก

บ่าลิดไม้เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นสูงชะลูด แตกกิ่งก้านน้อย มีรอยแผลที่เกิดจากการหลุดร่วงของใบ ลำต้นและกิ่งก้านมีรูระบายอากาศ ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ออกตรงข้ามที่ปลายกิ่ง ใบรูปไข่ โคนใบสอบกลมหรือรูปไต ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกกลมยาวคล้ายหลอด ดอกอ่อนสีเขียว เมื่อแก่ด้านนอกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วงปนแดงหรือน้ำตาลคล้ำ ด้านในสีเหลืองปนน้ำตาล กลีบดอกมีเนื้อแข็งและหนา ขอบกลีบย่นเมื่อบาน ผลเป็นฝักแบนยาวสีเขียวเข้ม รูปฝักดาบ ห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอดหรือปลายกิ่ง เปลือกฝักหนา เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีกจากปลายผล เมล็ดแบนสีขาว มีปีกบางกว้างล้อมรอบ

สภาพนิเวศ : ขึ้นได้ทั่วไปตามธรรมชาติ พบตั้งแต่ที่ราบเชิงเขา หุบเขา ริมห้วย ลำธาร หนองบึง ตามท้องทุ่ง ริมทาง ตลอดจนป่าละเมาะทั่วไป

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดและปักชำราก

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : ฝักอ่อนออกช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน นำมาเผาหรือคั่ว แล้วขูดผิวเนื้อที่ไหม้ออก ล้างด้วยน้ำอุ่น หั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำไปยำ หรือกินกับน้ำพริกและลาบ ส่วนดอกลวกแล้วนำมายำหรือกินกับน้ำพริก ยัดไส้หมูสับแล้วนำมาทอด ใบอ่อนนำมาเผากินกับน้ำพริกและลาบ ส่วนเปลือกต้นขูดเป็นผงแล้วนำมาผสมกับลาบปลา ช่วยป้องกันอาการท้องเสีย นอกจากนี้ฝักแก่นำมาเผาแล้วจุ่มน้ำเกลือ หั่นเป็นชิ้นให้วัวกิน ช่วยขับถ่ายพยาธิและทำให้ขนสวย

แหล่งที่พบ : ขึ้นอยู่ในป่ารอบชุมชน สวนหลังบ้าน และสวนเมี่ยง

สาระน่ารู้ : บ่าลิดไม้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน นำเมล็ดมาต้มน้ำดื่มวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร แก้อาการไอและขับเสมหะ นอกจากนั้นเมล็ดยังเป็นส่วนผสมของน้ำจับเลี้ยง ซึ่งมีสรรพคุณแก้ร้อนใน ส่วนเปลือกใช้ย้อมผ้า ให้สีเขียวเข้ม ใบและเมล็ดมีสารประกอบ Flavonoids มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการแพ้ ต้านอนุมูลอิสระ และเซลล์มะเร็ง