องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

นายเมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา

เกษตรกรผู้นำ: ด้านเศรษฐกิจ
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง: ดอยปุย
หมู่บ้าน: บ้านดอยปุย

สมัยก่อนชาวบ้านทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดแต่หลังจากเริ่มต้นปลูกพืชเมืองหนาวสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและหมู่บ้านอย่างยั่งยืน

นายเมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

นายเมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ผู้นำเกษตรกร โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า “สมัยก่อนชาวบ้านทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด แต่หลังจากเริ่มต้นปลูกพืชเมืองหนาว ทั้งผลไม้ เช่น ลิ้นจี่ สาลี่ สตรอเบอร์รี่ และดอกไม้นานาชนิด เช่น ซัลเวีย เดซี่ เหล่านี้ก็กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและหมู่บ้านอย่างยั่งยืน” พ่อหลวงนวย หรือ เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านดอยปุยเล่า ดอยปุยเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง การติดต่อ การสื่อสาร การเรียนรู้ วัฒนธรรมหรือเทคโนโลยีถูกนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตและปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของหมู่บ้านทุกวันนี้เด็กในหมู่บ้านก็เรียนรู้ภาษาม้งเพื่อใช้สนทนาในครอบครัวแต่ก็ควบคู่กับเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคต ชาวบ้านร้านค้าที่ถักเสื้อขายเริ่มนำเทคโนโลยีการตัดเย็บมาใช้ถักทอเสื้อชนเผ่าแทนการถักด้วยมือที่ใช้เวลานานหลายเดือน การค้าขายเริ่มมีการขนส่งสินค้า เริ่มใช้สื่อดิจิทัลในการประชาสัมพันธ์และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ สิ่งที่ทำให้ดอยปุยประสบความสำเร็จทุกวันนี้ มาจากการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งด้านธรรมชาติที่ชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูเขาหัวโล้นเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ จนได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่ดูแลป่าได้ดีที่สุดในประเทศไทยอีกทั้งยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง เริ่มจากกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนที่สร้างรากฐานหมู่บ้านแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อน และแหล่งเรียนรู้และพื้นที่วัฒนธรรมของชาวไทยและม้งที่ยังคงเอกลักษณ์ของตนไว้เพื่อให้ลูกหลานสืบสานต่อไป”