องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

บ๊วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus mume Sieb.et.Zicc.

ลักษณะทั่วไป

บ๊วยเป็นไม้ผลเขตหนาวที่ใช้ในการแปรรูป โดยทั่วไป จะมีอายุยาวนานหลายสิบปี ทรงต้นมีขนาดใหญ่ แข็งแรง และทนแล้งได้ดี ดอกจะออกในเดือนธันวาคม มีสีขาวสวยงามมาก พันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้า ได้แก่ พันธุ์จากไต้หวัน

รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ

คุณภาพมาตรฐานผลผลิตของบ๊วย จะถูกกำหนดโดยโรงงานที่ทำการแปรรูปซึ่งโดนทั่วไปแล้ว ผลบ๊ววต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2 เซนติเมตร์ขึ้นไปลักษณะผลดี เช่นผิวผลเรียบสวยไม่มำหนิ ปราศจากโรค และแมลงต่างๆ

ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด 

ปลายเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน

การปลูกและการบำรุงรักษา

ดิน : ควรเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำดี

ระยะปลูก : ที่เหมาะสมควร 10 x 10 เมตร

อุณหภูมิ : บ๊วยต้องการช่วงสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับที่จะทำลายการพักตัวของตาซึ่งตาจะแตกออกมาในฤดูใบไม้ผลิ แต่บ๊วยไม่ต้องการอากาศที่หนาวเย็นนานมากนัก ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยของบ๊วยจะอยู่ประมาณ 13 – 15 องศาเซลเซียส ถ้าเย็นจัดจนกระทั่งถึงจุดที่ทำให้เกิดน้ำค้างแข็ง ย่อมจะเป็นอันตรายโดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นในช่วงที่บ๊วยกำลังผลิดอก ผลิใบ หรือเริ่มติดผล หรือใบอ่อนแห้งและร่วงเสียหายได้

การเตรียมหลุมปลูก : ควรจะให้กว้างและลึกพอสมควร ควรขุดขนาด 0.7 x 0.7 x 0.7 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือเศษพืชที่เน่าเปื่อยผุพังแล้วประมาณ 20 – 25กิโลกรัม จะทำให้ดินมีคุณสมบัติที่ดี ร่วน โปร่ง รากเจริญได้เร็ว อาจผสมปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12 ประมาณ 100-200 กรัมต่อหลุม เนื่องจากระบบรากของไม้ผลมีระบบรากลึก การเตรียมหลุมปลูกดีจะช่วยในการเติบโตและให้ผลต่อๆปอย่างมาก

การให้น้ำ : ในระยะที่บ๊วยออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคม จนกระทั่งผลแก่และสุกเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงดังกล่าวจะเป็นช่วงที่แห้งแล้ง ต้นบ๊วยขาดน้ำสำหรับการเจริญเติบโต ดังนั้นในช่วงนี้จำเป็นที่จะต้องให้น้ำมาก บ๊วยที่ได้รับน้ำอย่างเพียงพอตั้งแต่ช่วงเริ่มออกดอก จะทำให้มีการติดผลดีและให้ผลผลิตที่สูง อย่างไรก็ตามสภาพบนพื้นที่สูงมักจะประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรอยู่เสมอ ดังนั้นการให้น้ำแบบประหยัด เช่น แบบหยด จึงเป็นวิธีที่ดี

การให้ปุ๋ย : ควรจะให้ปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย คือ ครั้งแรกในขณะที่ตาเริ่มแตกหรือก่อนออกดอกเล็กน้อยและอีกครั้งหนึ่งเมื่อเก็บผลแล้ว ก่อนที่บ๊วยจะพักตัวหรืออาจจะแบ่งให้อีกครั้ง ในขณะที่ผลกำลังเจริญเติบโตก็ได้

การตัดแต่งกิ่ง : การตัดแต่งบ๊วย ควรใช้แบบ open center ฤดูกาลที่เหมาะคือในระยะที่ต้นกำลังพักตัว

การเก็บเกี่ยว

ตามปกติจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ระยะเวลาตั้งแต่ดอกบานเต็มที่ จนกระทั่งเก็บผล ประมาณ 100-120 วัน อาจจะต้องทยอยเก็บ 2-3 ครั้ง เนื่องจากผลแก่ไม่พร้อมกัน การใช้สารเคมีบางชนิด เช่น Ethrel อัตราความเข้มข้น 500-1,000 ppm. ฉีดพ่นก่อนที่ผลจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 15-20 วัน จะช่วยให้ผลแก่และเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน

วิธีการเก็บเกี่ยว บางกรณีใช้ เขย่ากิ่ง หรือต้นให้ผลร่วงลงมาโดยมีคนคอยขึงผ้าพลาสติกทั้ง 4 ด้าน รองรับอยู่ข้างล่าง ซึ่งจะมีผลแตกหรือช้ำมาก ควรใช้บันไดปีนขึ้นไปเก็บผลแต่ละผลใส่ลงในตะกร้าหรือภาชนะที่เตรียมขึ้นไปก็ได้ ถึงแม้จะต้องใช้แรงงานและเสียเวลามาก ซึ่งมีอัตราค่าจ้างค่อนข้างต่ำ การเก็บแต่ละผล จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าวิธีอื่น

ช่วงความแก่ที่สมบูรณ์นั้น อาจจะดูได้จากสีผิวของผล ผลจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวอมเหลือง หรืออาจจะมีสีแดงแต้มประปราย ตามแต่ชนิดและพันธุ์ของบ๊วย สำหรับบ๊วยแล้วการใช้สีผิวของผล สามารถใช้เป็นค่าดัชนีในการเก็บเกี่ยวผลได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการใช้ค่าทางเคมีบางอย่างก็ใช้ประกอบการบอกค่าความแก่สมบูรณ์เช่นเดียวกัน

โรคและแมลงศัตรูพืช

โรคผลจุดลาย

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อราในกลุ่มของ Hyphomycetes ลักษณะคล้าย Ramularia sp.

ลักษณะอาการ : อาการผลจุดลายของบ๊วยเพิ่งพบระบาดปี 2535 ในพื้นที่หลายแห่ง เช่น แม่ปูนหลวง แม่แฮ และปางอุ๋ง อาการที่พบบนผลคือ พบจุดสีน้ำตาลเข้มค่อนข้างกลม เมื่อใช้เล็บขูดจะออกโดยง่าย อาการดังกล่าวสามารถเกิดกระจายได้ทั่วต้น

การป้องกันกำจัด: ฉีดพ่นสารเคมี แคปแทน ทันทีที่พบอาการและในช่วงก่อนออกดอก ควรฉีดพ่นสารเคมีคูปราวิท ทุก 15 วัน จนกว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว (และโรคที่เกิดกับกิ่งบ๊วยด้วย)

โรคใบรู

สาเหตุ : พบเชื้อรา 2 ชนิดที่เกี่ยวข้องคือ Cercospora sp. และ Colletotrichum sp.

ลักษณะอาการ :อาการของโรคใบรู พบเห็นได้ทั่วไปในท้อ หรือพลัม ในระหว่างฤดูฝน แต่ปัจจุบันเริ่มพบอาการของใบรูระบาดรุนแรงในบ๊วย ที่ศูนย์ฯปางบง (แปลงบ้านห้วยแก้ว) โดยอาการดังกล่าวสามารถทำให้ต้นบ๊วยใบร่วงเกือบทั้งต้น ในระยะแรกจะพบอาการจุดกลมสีม่วงแดง จากนั้นเนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะหลุดออกทำให้ใบเป็นรู

การป้องกันกำจัด: ถ้าพบการระบาด ฉีดพ่น เบนเลท โอดี เดือนละครั้ง ถ้าพบอาการเพียงเล็กน้อยให้ใช้ ดาโคนิค หรือ ไดเทน เอ็ม-45 อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉีดพ่นทุก 15 วัน จนกว่าอาการจะดีขึ้น

พวกหนอนกินใบ

มีน้อย ไม่มีปัญหา อาจจะมีพวก หนอนเจาะกิ่ง หรือลำต้นจนทำให้กิ่งหักเสียหายได้ อาจจะใช้โฟลิดอล แดเข้าไปในรูที่พบว่าหนอนเจาะแล้วเอาดินเหนียวอุดไว้

เพลี้ยอ่อน

เป็นศัตรูพืชที่พบบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บ๊วยเริ่มแตกใบอ่อน จะทำให้ใบหงิก หรือขด ม้วน สังเกตเห็นได้ง่าย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นมากในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง อาจใช้น้ำฉีดพ่นใบบริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนเข้าทำลาย ถ้าระบาดมากก็ควรพ่นด้วยยากำจัดแมลง เช่น มาลาไธออน