องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ป่าเมี่ยง : กำแพงธรรมชาติสู่การกักเก็บคาร์บอน

ป่าเมี่ยงเป็นรูปแบบของการทำการเกษตรที่พึ่งพิงกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าในพื้นที่สูง ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ป่าเมี่ยงมีความสำคัญต่อการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sequestration) เนื่องจากต้นไม้และพืชในป่าเมี่ยงมีความสามารถในที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการสังเคราะห์แสง และตรึงคาร์บอนไปเก็บสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ทั้ง ลำต้น กิ่ง ใบ และรากในรูปของมวลชีวภาพ ในขณะเดียวกันเศษซากพืชที่หลุดร่วง ยังถูกย่อยสลายและถูกเก็บสะสมในรูปของอินทรีย์คาร์บอนในดิน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ ที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังพบว่าป่าเมี่ยงเป็นตัวอย่างของการจัดการพื้นที่โดยชุมชน ที่มีความสอดคล้องกับธรรมชาติและวิถีชีวิตท้องถิ่น การศึกษาสถานภาพและความหลากหลายของพรรณไม้ในป่าเมี่ยงสามารถให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าว ดังนั้น ป่าเมี่ยงไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการกักเก็บคาร์บอนจากบรรยากาศ (ณัฐวุฒิ และวิชญ์ภาส. 2564) อีกทั้ง ป่าเมี่ยง เป็นระบบวนเกษตรที่คงความสมดุลในด้านการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างลงตัว เป็นพื้นที่แนวกันชนระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมกับพื้นที่ป่าธรรมชาติ (พรชัย และคณะ, 2546)

ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของต้นไม้ (Tree) ในบริบทป่าเมี่ยง ของชุมชน บ้านปางมะกล้วย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีมวลชีวภาพรวม 261.75 ตัน/แฮกตาร์ ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพรวม 123 ตัน/แฮกตาร์ คิดเป็นปริมาณการดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 451.06 ตัน/แฮกตาร์ มีความหลากหลายด้านพรรณพืชและพรรณไม้ทั้งหมด 30 ชนิด 27 สกุล 19 วงศ์ โดยมีลักษณะโครงสร้างสังคมพืชและองค์ประกอบชนิดพันธุ์ ดังนี้

ระดับไม้ใหญ่ (Tree) ของสังคมพืชป่าเมี่ยง พบทั้งสิ้น 30 ชนิด 27 สกุล 19 วงศ์ มีค่าดัชนี ความหลากชนิดของไม้ใหญ่ เท่ากับ 1.95 สังคมพืชบริเวณนี้มีขนาดพื้นที่หน้าตัดโดยรวม เท่ากับ 13.94 ตารางเมตร/แฮกตาร์ นอกจากนั้นยังมีความหนาแน่นของหมู่ไม้ เท่ากับ 1,988 ต้น/แฮกตาร์ ชนิดไม้ที่มีค่าความหนาแน่นสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ชาอัสสัม(เมี่ยง) มะแขว่น มะม่วง อะโวคาโด และ กล้วยฤาษี เท่ากับ 1,506, 75, 75, 63 และ 31 ต้น/แฮกตาร์ ตามลำดับ มีค่าดัชนีความสำคัญ (IVI) สูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ชาอัสสัม(เมี่ยง) มะแขว่น ทะโล้ มะม่วง และ อะโวคาโด เท่ากับ 168.09, 22.00, 15.28, 14.66 และ 11.97 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) 

โครงสร้างทางด้านตั้งของสังคมพืชบริบทป่าเมี่ยง แบ่งชั้นเรือนยอดได้เป็น 2 ชั้น ได้แก่ เรือนยอดชั้นบนสูงประมาณ 5-18 เมตร ไม้ที่สำคัญในชั้นเรือนยอดนี้ ได้แก่ กล้วยฤาษี จำปีป่า มะกูดต้น และสอยดาว เป็นต้น และเรือนยอดชั้นล่างหรือระดับชั้นไม้พุ่มสูงน้อยกว่า 7 เมตร มีไม้ปรากฏอยู่ปริมาณน้อยและกระจายตัวอยู่ห่างๆ และมีชนิดอื่นขึ้นปะปน ได้แก่ ชาอัสสัม อะโวคาโด และมะม่วง เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบว่าสังคมพืชบริเวณนี้มีการปกคลุมของเรือนยอดประมาณ 34% ดังภาพ

แหล่งอ้างอิง

ณัฐวุฒิ ไขแจ้ง และวิชญ์ภาส สังพาล. 2564. สถานภาพและความหลากหลายของพรรณไม้ในสวนเมี่ยง ภายใต้ภูมิสังคมบ้านแม่แมะ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์

ปริญญาโท. มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

พรชัย ปรีชาปัญญา. 2544. ภูมิปัญญาพื้นบ้านเกี่ยวกับระบบนิเวศวนเกษตรบนแหล่งต้นน้ำลำธาร

ในภาคเหนือ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่: ธนบรรณการพิมพ์.


เขียน/ เรียบเรียงเรื่อง โดย กมลทิพย์ เรารัตน์ อลญา ชิวเชนโก้ และนายพิทักษ์ไทย ประโมสี

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน