องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เอ๊ะ!!!... กินได้หรือทิ้งดี ???

คุณเคยสังเกตฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหารกันบ้างไหม ที่ฉลากของกินส่วนใหญ่จะมีอักษรย่อและตัวเลขที่บอกถึงวันหมดอายุ วันผลิต ว่าเราสามารถรับประทานหรือเก็บรักษาผลิตภัณฑ์นี้ได้นานเพียงใด ซึ่งข้อมูลของผลิตภัณฑ์นี้จะแสดงเป็นลักษณะตัวย่อไว้บนบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น MFG, EXP, BBF เรามาทำความรู้จักกับตัวย่อวันที่แต่ละตัว ซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจซื้อสินค้า เก็บรักษาสินค้า รวมไปจนถึงการทิ้งสินค้ากันดีกว่า

กฎหมายไทยกำหนดให้มีการระบุ ‘วันหมดอายุ’ และ ‘ควรบริโภคก่อน’ บนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารแทบทุกอย่าง ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 (ฉบับที่ 367) ได้กำหนดให้ฉลากต้องมีข้อความครบถ้วน ได้แก่ ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบ เลขสารบบอาหาร ชื่อ-สถานที่ผลิต และวันผลิต/หมดอายุ/ควรบริโภคก่อน เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าจะได้รับสารอาหารอะไรและพลังงานเท่าไหร่ รวมไปถึงเครื่องหมายระบุวันหมดอายุและควรบริโภคก่อน และได้กำหนดนิยามไว้ว่า

“หมดอายุ” หมายความว่า วันที่ซึ่งแสดงการสิ้นสุดของคุณภาพอาหาร ภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาที่ระบุไว้ และหลังจากวันที่ระบุไว้นั้น อาหารนั้นวางจําหน่ายไม่ได้

“ควรบริโภคก่อน” หมายความว่า วันที่ซึ่งแสดงการสิ้นสุดของช่วงเวลาที่อาหารนั้นยังคงคุณภาพดี ภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาที่ระบุไว้ และหลังจากวันที่ระบุไว้นั้น อาหารนั้นวางจําหน่ายไม่ได้

ความแตกต่างระหว่าง “วันหมดอายุ” กับ “วันที่ควรบริโภคก่อน”

“วันที่หมดอายุ” หรือ EXP/ EXD ย่อมาจาก Expiry Date /Expiration Date เป็นวันที่บ่งบอกถึงวันที่อาหารหมดอายุ เพราะหลังจากวันนั้นเป็นต้นไป อาหารจะเริ่มบูดหรือเน่าเสีย และไม่ปลอดภัยในการบริโภค จึงไม่ควรรับประทานอาหารนั้นหลังจากวันที่กำหนดบนฉลากว่าหมดอายุแล้ว ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเรามักพบในผลิตภัณฑ์อุปโภคหรือสินค้าจำพวกยา แบบนี้ห้ามใช้หลังวันที่ที่ระบุไว้เด็ดขาดเพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจเสื่อมสภาพหรือเสื่อมสรรพคุณไปแล้ว

ส่วน ควรบริโภคก่อน “Best before…” หรือ “Best before end…” (BB/BBE) เป็นวันที่บ่งบอกว่าอาหารนั้นยังคงมีคุณภาพและมีรสชาติที่ดีเหมือนเดิมจนถึงวันที่ระบุไว้ หากเลยจากวันดังกล่าวก็ยังรับประทานได้อย่างปลอดภัยแต่อาจสูญเสียรสชาติหรือรสสัมผัสไปบางส่วน เช่น กลิ่นหอมอาจลดลง ไม่กรอบเหมือนเดิมโดยวันที่ดังกล่าวเป็นการคาดการณ์โดยผู้ผลิต ภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษา เช่น อุณหภูมิหรือความชื้นตามที่ระบุไว้ แต่ก่อนบริโภคควรพิจารณาว่ามีลักษณะ กลิ่น สี และรสชาติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เช่น มีเส้นใยหรือจุดของเชื้อรา หรือ มีลักษณะเป็นเมือก หากพบว่าอาหารนั้นมีลักษณะไม่พึงประสงค์ก็ไม่ควรบริโภค

สำหรับอาหารที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น และต้องเก็บรักษาไว้ในที่เย็นตลอดเวลา เช่น นม และน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ ไม่ควรรับประทานหลังวันหมดอายุ

ดังนั้น ก่อนจะหยิบอาหารมารับประทานก็ควรตรวจดูตัวอักษรเหล่านี้ให้ดีก่อน นอกจากต้องเข้าใจวันที่บนฉลากผลิตภัณฑ์แล้ว ต้องอาศัยการเก็บรักษาที่ดี รวมกับประสบการณ์ โดยอาจจะสังเกตลักษณะ สี รูปร่าง บรรจุภัณฑ์ เปลี่ยนไปมากน้อยหรือไม่ ดมกลิ่น เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า เพื่อให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าที่ดีที่สุด 


ข้อมูลอ้างอิง

ข้อมูลจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 (ฉบับที่ 367) เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย :  กรรณิกา ศรีลัย นักวิจัย สำนักวิจัย
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน