ความหมาย ลายผ้า ปกาเกอะญอที่วัดจันทร์
ในอำเภอกัลยานิวัฒนาภาพที่เห็นเป็นประจำ คือ หญิงสาวปกาเกอะญอนั่งทอผ้าด้วยกี่เอวขนาดเล็ก ตามใต้ถุนบ้านหรือระเบียง บ้างก็แต่งแต้มสีสันบนผืนผ้าด้วยการปักลูกเดือยและด้ายหลากสีให้มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น กันยพัชร์ ธนวัฒน์ชาญสิน ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอำเภอกัลยาณิวัฒนา หรือ พี่นิด เล่าให้ฟังว่า การทอผ้าด้วยกี่เอวเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากแม่สู่ลูก เมื่อลูกสาวอายุได้ 5-7 ขวบ แม่จะเริ่มสอนให้ลูกฝึกการทอผ้าแบบพื้นฐานด้วยการใช้ใบเตาะเนาะอิ มีลักษณะคล้ายใยปอที่นำมาตากแห้งและปั่นเป็นเส้นใย เพื่อนำมาฝึกทอแทนฝ้ายจริง จนลูกสาวเกิดความชำนาญจะให้ทอผ้าชิ้นเล็กๆ เช่น ผ้าโพกศรีษะ หรือย่ามใบเล็กที่ไม่มีลวดลาย พอย่างเข้าวัยสาวก็สามารถทอผ้าใช้เองและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลวดลายตามจิตนาการ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการนำเอาลักษณะเด่นของสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนประเพณีและค่านิยมของชนเผ่ามาประยุกต์ถ่ายทอดลงสู่ผืนผ้าที่สะท้อนตัวตน
“การทอผ้าของชาวปกาเกอะญอจึงไม่ใช่แค่การถักทอเครื่องนุ่งห่ม...แต่เป็นอีกสิ่งที่แม่พยายามถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้ลูกหลานสืบไป”