องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เมี่ยง... ของดีพื้นที่สูง

ชาอัสสัม หรือชาเมี่ยง (Camellia sinensis var. Assamica) มีต้นกำเนิดจากรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบมากบนพื้นที่สูงทางจังหวัดภาคเหนือ มีชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น ชาป่า ชาพื้นเมือง หรือชาเมี่ยง ซึ่งมีการใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานาน นิยมนำใบชามายำใส่ปลากระป๋อง หรือใช้ใบชากึ่งอ่อนกึ่งแก่มามัดรวมกันเป็นก้อนแล้วนำไปนึ่ง จากนั้นเรียงในถังหมัก เรียกว่า ชาเมี่ยง นิยมนำมาขบเคี้ยวหลังอาหารเพื่อดับคาวหรือแก้เลี่ยน อีกทั้งยังนิยมอมเมี่ยงเพื่อช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย แก้ง่วง ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหาย และยังใช้เลี้ยงแขกในงานพิธีต่างๆ เช่น งานศพ งานแต่งงาน หรือขึ้นบ้านใหม่อีกด้วย นอกจากนี้เมี่ยงยังมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อ โดยมีการใช้เมี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสักการะ ใช้ในพิธีกรรม การสะเดาะเคราะห์ รวมทั้งไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ เป็นต้น

ผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดใบชาเมี่ยง พบว่า มีสารสำคัญกลุ่มโพลีฟีนอลและกลุ่มฟลาโวนอยในกลุ่มคาเทชินสูง (Catechins) มีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวกระจ่างใส ลดเลือนริ้วรอย ลดรอยแดงและจุดด่างดำจากการเกิดสิว เสริมสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง และยับยั้งการเกิดเม็ดสีผิวเมลานิน ต้านเชื้อก่อสิว ยับยั้งเชื้อก่อโรคในช่องปากและลำคอ รวมทั้งเชื้อก่อโรคทางเดินอาหารด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันสูง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีการนำสารสกัดชาเมี่ยงมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลายชนิด เช่น ยาพัฒนาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่มชาชง เป็นต้น

จากประสิทธิภาพต่างๆ จะเห็นได้ว่าชาอัสสัม หรือชาเมี่ยงจึงเป็นพืชพื้นที่สูงที่มีศักยภาพในการนำมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับเป็นพืชสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สีเขียวและยังสามารถปลูกร่วมกับป่าไม้ด้วย 


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : นางสาวกรรณิกา ศรีลัย และสิทธิเดช ร้อยกรอง


ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน