องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

มะเขือเทศเชอรี่

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lycopersicon esculentum

ชื่อสามัญ  Cherry Tomato

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป มะเขือเทศเชอรี่หวานเป็นมะเขือเทศสำหรับรับประทานสด ผลมีขนาดเล็กพอดีคำ มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศเปรู ซิลี และอีเควเตอร์ เป็นพืชในตระกูลเดียวกับพริก ยาสูบ มันฝรั่ง มีลำต้นและระบบกิ่งก้านที่แตกแขนง สลับกันเป็นจำนวนมาก  ลำต้นอ่อนมีขนปกคลุม ลำต้นแก่มีลักษณะเป็นเหลี่ยม ในระยะแรกของการเจริญเติบโต ลำต้นตั้งตรงในระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อลำต้นสูง 1 - 2 ฟุต จะทอดไปในแนวราบ ใบเป็นใบประกอบเจริญสลับกัน มีขนอ่อนขึ้นบนใบและมีต่อมสารระเหยที่ขน เมื่อถูกรบกวนจะปลดปล่อยสารที่มีกลิ่นออกมา สายพันธุ์ส่วนใหญ่ขอบใบเป็นหยัก ระบบรากมะเขือเทศเป็นระบบรากแก้วเจริญเติบโตได้เร็ว ดอกมะเขือเทศเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกมะเขือเทศจะอยู่สลับกันในช่อ ช่อดอกสามารถแตกกิ่งได้มากกว่าสองกิ่ง และการเจริญเติบโตของกิ่งจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งดอกช่อแรกบาน การเพิ่มจำนวนช่อดอกจะทำได้โดยการใช้อุณหภูมิต่ำ มะเขือเทศส่วนใหญ่ผสมตัวเอง ผลเป็นแบบ berry จะมีรูปร่างลักษณะ เช่น กลม กลมแป้น กลมยาว หรือเป็นเหลี่ยม ผิวของมะเขือเทศจะไม่มีสีผิว ส่วนผลสีชมพู หรือเหลืองเกิดจากเนื้อผล

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร เป็นมะเขือเทศรับประทานสด มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย เนื้อเนียนฉ่ำ รสชาติกลมกล่อม เป็นแหล่งของคาโรนีนอยด์ และโปแทสเซียม อุดมด้วยวิตามินซีและวิตามินอี

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

การปลูกมะเขือเทศเชอรี่ในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน จะให้ผลผลิตและคุณภาพที่แตกต่างกัน โดยผลผลิตจะลดลงเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น อุณหภูมิมีอิทธิพลต่อการติดและการพัฒนาของผล อุณหภูมิต่ำกว่า 12.8 ?C และสูงกว่า 32.2 ?C ละอองเกสรจะเป็นหมันไม่สามารถงอกท่อละอองเกสรลงไปผสมไข่ในรังได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 15 – 25 ?Cช่วงแสงที่เหมาะสมสำหรับการเจริญ และผลผลิตมะเขือเทศอยู่ระหว่าง 8 – 16 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงแสงไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน ช่อดอกจะเจริญเติบโตและติดผลเร็ว คุณภาพแสงสีน้ำเงินจะช่วยให้มะเขือเทศมีข้อสั้นกว่าสีแดง มะเขือเทศสามารถเจริญได้ดีในดินที่ร่วนซุย มีหน้าดินลึก ระบายน้ำได้ดี มีอินทรีย์วัตถุสูง  pH 6.0 – 6.8 ข้อสำคัญพื้นที่ปลูกไม่ควรปลูกซ้ำกับพืชชนิดอื่นในตระกูลเดียวกัน เพราะเป็นแหล่งสะสมโรคแมลง

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดินปลูก ขุดดินตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เก็บวัชพืชออกให้หมด ย่อยดินแล้วใส่ปูนขาวหรือโดโลไมด์อัตรา 0-100 กรัม/ต.ร.ม.คลุกเคล้าร่วมกับปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก./ตร.ม. และปุ๋ยสูตร 0 – 4 – 0 อัตรา 100 กรัม/ตร.ม. ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน

การเตรียมกล้า ทำการยกแปลงขนาด 1 เมตร ย่อยดินให้ละเอียด แปลงห่างกัน 70 ซม. ร่องลึกประมาณ 10 ซม. ทำขวางแปลงความห่างระหว่างร่อง 10 ซม.รองพื้นด้วยไตรโคเคอร์มา แล้วกลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม หรือคลุมด้วยตาข่ายพลาสติก หรือเพาะกล้าในถาดหลุม อายุกล้า 20-25 วัน จึงย้ายปลูก

การปลูก ทำแปลงกว้าง 1 ม. เว้นร่องน้ำ 70 ซม. ระยะห่างระหว่างหลุม 40 – 50 ซม. เวลาปลูกรองพื้นด้วยปุ๋ยสูตร 15 – 15 –15 ผสมคลุกเคล้ากัน แล้วย้ายกล้ามาปลูกกลบดินรดน้ำให้ชุ่มพอสมควร

การให้น้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ 1-2 วัน/ครั้ง

การให้ปุ๋ย

 การให้ปุ๋ยพร้อมน้ำระบบ Fertigation ในอัตราดังนี้

 ระยะที่ 1   ปุ๋ย 46 – 0 – 0    1    ส่วนน้ำหนัก

        ปุ๋ย 20 – 20 – 20 1.2 ส่วนน้ำหนัก

        หรือ สูตรใกล้เคียง อัตราใช้ 0.25 – 1 กรัม/ตร.ม./วัน

ระยะที่ 2  ปุ๋ย 46 – 0 – 0    1    ส่วนน้ำหนัก

        ปุ๋ย 20 – 20 – 20 1.2 ส่วนน้ำหนัก

        หรือ ปุ๋ย 20 – 10 – 30 หรือ ปุ๋ยสูตรใกล้เคียง อัตรา 1 – 3 กรัม/ต.ร.ม./วัน

ระยะที่ 3  ปุ๋ย 0 – 0 – 51    1    ส่วนน้ำหนัก

        ปุ๋ย 20 – 10 – 30 5  ส่วนน้ำหนัก

        หรือ ปุ๋ย 20 – 10 – 30 หรือ ปุ๋ยสูตรใกล้เคียง อัตรา 3 กรัม/ตร.ม./วัน หรือมากกว่า

การให้ปุ๋ยเม็ด

ครั้งที่ 1 หลังปลูก7-15 วัน ใช้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 46-0-0 อัตรา 25 กรัม/ต.ร.ม. เพื่อเร่งการเติบโต

ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรก 15 วัน ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 50 กรัม/ต.ร.ม.

ครั้งที่ 3 หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 15 วัน ใส่ปุ๋ย 0-0-60 อัตรา 30 กรัม/ต.ร.ม.

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่อมีอายุประมาณ 60 วัน (หลังย้ายปลูก)

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวเมื่ออายุเหมาะสม โดยใช้กรรไกรตัดก้านผลให้เหลือก้านยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ควรเก็บผลที่มีสีเขียวปนเหลืองหรือชมพู (Pink stage)

2. คัดแยกผลที่มีสีใกล้เคียงกันและจัดชั้นคุณภาพ

3. บรรจุในตะกร้าพลาสติกให้น้ำหนักไม่เกิน 17 กิโลกรัม

4. ขนส่งโดยรถบรรทุกธรรมดาหรือรถห้องเย็นที่อุณหภูมิ 10 – 15 องศาเซลเซียส

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นมะเขือเทศเชอรี่ทั้งผล มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ผลไม่นิ่ม ไม่ด่าง ไม่ม่สีเขียวปนที่ไหล่ ไม่มีตำหนิใดๆ สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. ขนาดของผลมีความสม่ำเสมอทั้งภาชนะบรรจุ

      2. มีผลแตกปะปนมาได้ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. ขนาดของผลมีความสม่ำเสมอโดยมีข้ออนุโลมให้มีผลขนาดอื่นปนมาได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      2. มีผลแตกปะปนมาได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. มีผลที่เป็นขนาดอื่นปะปนได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     2. มีผลแตกปะปนมาได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

การเตรียมสู่ตลาด

1. ตัดแต่ง คัดขนาด และสีของผลให้ใกล้เคียงกัน

2. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู

การเก็บรักษา ผลมะเขือเทศที่แก่ในระยะ mature green เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 18 – 22 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 95 เปอร์เซ็นต์ ได้นาน 1 – 3 สัปดาห์ ส่วนผลที่แก่ในระยะ firm ripe เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 – 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 95 เปอร์เซ็นต์ ได้นาน 4 – 7 วัน

หมายเหตุ : ระยะการแก่และการสุกของผลมะเขือมะเทศ โดย U.S.U.United Fresh Fruit & Vegetable Association ร่วมกับ USDA

1. ระยะผลแก่สีเขียว (Mature green stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศแก่จัดแต่ผิวของผลยังมีสีเขียวอยู่ ผลมะเขือเทศที่แก่จัด เมื่อใช้มีดคมผ่าครึ่งเมล็ดจะไม่ถูกตัด และเนื้อในจะเริ่มมีสีเหลือง แต่ถ้าผลไม่แก่จัดเมล็ดจะถูกตัดขาดได้ และเนื้อในจะมีสีเขียวและยังแข็งอยู่

2. ระยะเริ่มเปลี่ยนสี (Breaker stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศเริ่มเปลี่ยนสีผิวจากสีเขียวเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีส้มไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิว

3. ระยะเปลี่ยนสี (Turning stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศมีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือส้มแดงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวและใช้เวลา 1 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

4. ระยะสีชมพู (Pink stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศ มีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีส้มแดงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวและใช้เวลา 2 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

5. ระยะสีเริ่มแดง (Light red stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศมีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดงมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิว และใช้เวลา 3 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

6. ระยะสีแดง (Red stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศ มีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลา 3 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

7. ระยะผลสุกสีแดง (Red ripe stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศสุกมีสีแดงเข้มตามลักษณะสีประจำพันธุ์นั้นๆ และใช้เวลา 6 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์