องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

“ข้าว ป่า น้ำ คน” บนความเพียงพอ..ที่พอเพียง

"ข้าว ป่า น้ำ คน" บนความเพียงพอ..ที่พอเพียง

ณ บ้านปงผาง แม่ทา ลำพูน

"ครัวเรือนไทยเป็นหนี้ 64.7% ส่วนที่ไม่เป็นหนี้มีเพียง 35% และใน 64.7%ที่เป็นหนี้นั้น เฉลี่ยเป็นหนี้ครัวเรือนละถึง 118,000 บาทในขณะที่ เมื่อ 4-5 ปีก่อน จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้มีประมาณ 50% และเป็นหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 80,000 กว่าบาท เท่านั้น"

ผมวางหนังสือเส้นทางสู่ความพอเพียง ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องค์มนตรี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้รับแจกมา ไว้บนโต๊ะ หลังจากมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น

ปลายสาย : "พรุ่งนี้เจอกัน ตอนบ่ายโมงที่วัดผาด่าน นะเจ้า" (นะคะ)

ผม : "ครับ ได้ครับ"

ปลายสาย : "พี่เตรียมตัวให้พร้อมนะ….."

ผมตกลงรับคำคู่สนทนา ไปด้วยความมึนงงนิดหน่อย กับวลีสุดท้ายที่ปลายสายทิ้งทวนบทสนทนาไว้……

วันเสาร์ อาทิตย์นี้ ผมมีโปรแกรมไปบ้านปงผาง ที่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ตามคำเชื้อเชิญของ เจ้าหน้าที่โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ บ้านปงผาง ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับทราบ คือ บ้านปงผางห่างจาก เชียงใหม่ ไม่เกิน 90 กิโลฯ เพียงเท่านั้น แต่อะไรคือความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ คำว่า "ให้ผมเตรียมตัวให้พร้อม"

ผมออกเดินทางจากเชียงใหม่ ตามเส้นทางเชียงใหม่ – ลำพูนสายเก่า ใช้เส้นทางไป อ.ป่าซาง แล้วแยกไป อ.แม่ทา มุ่งหน้าสู่ตำบลทากาศ ตามจุดหมายที่นัดไว้ "วัดผาด่าน"

แอ๋ม นั่งรอผมข้างๆมีรถมอเตอร์ไซด์แต่งแบบวิบากจอดอยู่สองคัน……

"สวัสดีเจ้าอ้าย" แอ๋มกล่าวทักทายพร้อมยกมือไหว้

"สวัสดีครับ" ผมยิ้มตอบพลางยกมือไหว้

"นี่รถเครื่องอ้าย เราต้องขี่เข้าไปปงผาง รถยนต์เข้าไม่ถึง" ผมมองหน้าแอ๋ม และก็ถึงบางอ้อเลยว่าทำไม ผมถึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม..สำหรับทริปนี้

เส้นทางจากวัดผาด่าน ไปยังบ้านปงผาง เป็นถนนที่ชาวบ้านช่วยกันขุดและทำขึ้น สภาพถนนเป็นลูกรังสลับกับเทคอนกรีตความกว้างของถนนคะเนด้วยสายตาไม่น่าเกิน 1 เมตร เส้นทางจะลัดเลาะไปตามไหล่เขา และแนวลำห้วย ผ่านทุ่งนาของชาวบ้านบ้าง จุดทีสร้างความน่าตื่นเต้นหวาดเสียวให้กับผมมากที่สุด คือการที่ผมต้องขับรถมอเตอร์ไซด์ข้ามผ่านลำห้วยที่มีน้ำสูงเกือบครึ่งเมตร ไปให้ได้ จุดนี้เองที่ทำให้ทั้งผมและแอ๋ม เปียกปอนชุ่มฉ่ำไปทั้งคู่

แอ๋มพาผมมาแวะพักที่บ้านแม่สะแงะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างทาง มีชาวบ้านแวะเวียนมาทักทายถามไถ่ แอ๋ม ว่าผมเป็นใคร มาจากไหน และที่สำคัญมาทำไมที่นี่…

เวลาเกือบชั่วโมง กับระยะทางสิบกว่ากิโลเมตร ช่างไกลแสนไกลเหลือเกินสำหรับผม….

บ้านปงผาง เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เรียกว่า "ยางขาว" หรือ "ยางโป" เรียกตนเองว่า โพล่ง หรือ ปากะญอ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ทากาศ อ.แม่ทา จ.ลำพูน แต่เดิมชาวบ้านอพยพมาจาก อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง สภาพหมู่บ้านตั้งอยู่ตามแนวของลำห้วยแม่ขะนาด แม่น้ำขะนาด หรือห้วยแม่คะนะ ข้าวเป็นพืชหลักเพียงอย่างเดียวที่ชาวบ้านที่นี่ปลูก ส่วนอาชีพที่ทำรายได้หลักให้กับชาวบ้าน คือการหาของป่าขายตลอดทั้งปี ทั้ง หน่อไม้ เห็ด ผักพื้นบ้าน และน้ำผึ้ง คือขุมทรัพย์ภายใต้ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่วนเวียนผลิ ผล ออกมาสร้างรายได้ให้กับคนที่นี่ โดยมีลำห้วยแม่ขะนาดที่ไหลผ่านหมู่บ้านคือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงให้คนที่นี่ยังมีข้าวกิน มีน้ำใช้ และมีป่าเขียวขจีตลอดปี ซึ่งก่อนหน้านี้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่ทา ได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านปงผางขึ้น เพื่อส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้หนังสือของชาวบ้าน และต่อมาในปี 2553 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ก็ได้เขามาดำเนินโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของโครงการหลวงสู่กระบวนการเรียนรู้แบบลองปฏิบัติจริง ให้กับชาวบ้านที่นี่…

รถมอเตอร์ไซด์สองคันที่เปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลนแล่นช้าๆผ่านกลางหมู่บ้าน สองเด็กชายอายุประมาณ 13 ขวบ วิ่งเหยาะตามรถเรา หน้าตามอมแมม แต่เต็มไปด้วยรอยยิ้มด้วยความดีใจ ที่ได้เห็นพวกเรา

สวัสดีครับ เด็กชายสองคนยกมือไหว้ทักทาย "ครูมาแล้ว…วันก่อนฝนตกบ้านครูมีแต่ใบไม้เต็มไปหมดเดี๋ยวผมจะไปช่วยครูกวาดบ้าน แล้วจะชวนยายไปช่วยครูทำกับข้าวด้วยนะครับ" สองเด็กชายพูดพลางวิ่งตามรถของแอ๋มมาจนถึงลานกลางหมู่บ้าน

นางสาวอัลปรียา สิริสิทธิ์ หรือแอ๋ม เป็นเจ้าหน้าที่โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง ประจำบ้านปงผาง เล่าว่า เป้าหมายที่เข้ามาทำงานตอนแรกๆที่ปงผางมี 3 เรื่องหลักๆคือ การสอนให้ชาวบ้านรู้จักปลูกผักเพื่อเอาไว้กินและขายภายในหมู่บ้าน การส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการจัดการกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อที่จะได้มีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นเร่งด่วน และสุดท้ายคือการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติชองชุมชนไม่ให้ถูกทำลาย ภายใต้การถ่ายทอดองค์ความรู้ของโครงการหลวง เริ่มแรกก็ได้ป้าเขียว ยายของ สุวิทย์ และไตรภพ สองเด็กน้อยนี่แหละที่เป็นเกษตรกรนำร่องในการที่ปลูกผัก ป้าเขียวบอกว่าชาวบ้าน อยากปลูกผักมาก เพราะผักที่ขายในหมู่บ้านเป็นผักที่พ่อค้าซื้อมาจากที่อื่น ถ้าคนอื่นปลูกได้ เราเองก็น่าจะปลูกได้ ถ้ามีคนมาสอนเราปลูก และนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการแรกที่ ได้ร่วมทำกับชาวบ้าน โดยมีครูสิหราช ยาโน หรือครูเทนของชาวบ้านเป็นคนคอยช่วยเหลืออีกแรง…

ค่ำนี้ เป็นมื้อเย็นที่สุดแสนจะโรแมนติกที่สุด เพราะได้ร่วมวงกินข้าวกับสาวๆ ถึงสองคน แกล้มด้วยเรื่องเล่าผจญภัยของสองเด็กน้อย แต่งแต้มด้วยแสงไฟดวงเล็กจากแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา ช่วยเพิ่มรสหวานของแกงหน่อไม้ที่พึ่งขุดมาสดๆของป้าเขียว กับ น้ำพริกผักต้ม คลุกกับข้าวสวยร้อนๆที่ปลูกเองในหมู่บ้าน ทำให้ผมลืมภาพเส้นทางบ่ายนี้ได้อย่างสนิทเลยทีเดียว ป้าเขียวบอกว่าข้าวที่ปลูกที่นี่มีทั้งข้าวนาและข้าวไร่ ทุกบ้านจะปลูกข้าวไว้กินเอง ก็มีบ้างบางปีที่ผลผลิตข้าวน้อยไม่พอกินบ้าง แต่ทุกคนก็แบ่งปันหยิบยืมกัน ทำให้ไม่มีปัญหา ป้าเขียวทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ข้าวจะไม่พอกินชาวบ้านก็ไม่เคยคิดที่จะไปถางป่าเพิ่ม เพราะกลัวน้ำไม่มี ถ้าไม่มีน้ำคนในหมู่บ้านก็อยู่ไม่ได้…

สุดท้ายผมก็ทิ้งตัวหลับใหลอยู่หน้าระเบียงบ้าน ไปรวดเดียวจนถึงเช้า….

เสียงนกปรอทหัวโขน บนต้นไม้ริมบ้านพักส่งเสียงร้องแต่เช้า สมุนไพรต้มในกาของลุงมอย สร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับผมได้เป็นอย่างดี วันนี้ผมมีนัด ที่จะไปเดินป่าหลังหมู่บ้านเพื่อสำรวจเส้นทางที่จะใช้เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและเขตอนุรักษ์ของชุมชน ร่วมกับ ครูเทน และคณะอีก7-8 คน ทำให้ผมต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ…

เส้นทางเดินเท้านี้เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรเดินทางเพื่อไปหาของป่าบนสันดอย เป็นทางเดินที่ลัดเลาะไปตามแปลงนาของชาวบ้าน และลำห้วย มีบางจุดทีต้องเดินลุยน้ำบ้าง มีก่อนหินใหญ่น้อย โผล่มาให้พวกเราได้เดินย้ำข้ามไปเป็นบางช่วง สองริมลำห้วยอุดมไปด้วยผักป่าหลายชนิด ทั้งผัดกูด มะระขี้นก หน่อกุ๊ก และเตา

"เตา"เป็น พืชตระกูล สาหร่าย มีสีเขียวอ่อน มักเกิดในแอ่งน้ำขังที่สะอาดตามข้างลำห้วย ชาวบ้านมีภูมิปัญญาในการเก็บเตาโดยการใช้กิ่งไม้เรียวยาวจุ่มลงไปในแอ่งน้ำที่มีเตาอยู่แล้วช้อนขึ้น วิธีนี้จะทำให้ได้เตาที่สะอาด ไม่มีเศษใบไม้บนติดมา อีกอย่างถ้าเก็บเตาโดยทำให้น้ำในแอ่งขุ่น เตาก็จะตายและไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อีก นอกจากเตาแล้ว ผมยังสังเกตเห็นรูปูน้อยใหญ่รายเรียงตามริมลำห้วย สองเด็กน้อยบอกผมว่ามันเป็นรูปปูห้วย…

"ปูหิน ปูลำห้วย หรือ ปูห้วย" ที่ชาวบ้านเรียก เป็นปูน้ำจืดที่อาศัยอยู่ตามลำห้วย หรือลำธารที่มีน้ำสะอาดไหลผ่าน ตลอดปี มันจึงเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและความสะอาดบริสุทธิ์ของสายน้ำแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

"ไม่กลัวปูหนีบหรือไง"

"ไม่กลัวหรอกครับ ผมจับมาตั้งแต่เด็กรู้วิธีจับมันดี"

สุวิทย์พูดพลางชู เจ้าปูห้วย ตัวโต ยื่นมาทางผม ทำให้ผมต้องถอยหนี เพราะกลัวปูจะหนีบเอา สร้างเสียงหัวเราะชอบใจให้กับทุกคน….

บ่ายคล้อย ผม และทุกคนเดินกลับมาถึงที่พัก ถึงแม้จะเหนื่อย แต่ก็ได้รับความรู้มากมาย รอยยิ้มที่เต็มเปี่ยมด้วยความจริงใจของทุกคนทำให้หายเหนื่อยไปเลย.. ก้อนเตาที่ห่ออยู่ในใบตองของโมที ปูห้วยในกระบอกไม้ไผ่ของ สุวิทย์ กับไตรภพ ผักกูดและยอดมะระขี้นกกำโตของป้าเขียว และปลากั๊งเกือบสิบตัวในถุงของลุงมอย มันคือ ขุมทรัพย์จากผืนป่า ที่มอบให้กับคนที่นี่ ทุกคนรู้จักใช้มันให้พอดี ถูกวิธี และเพียงพอกับความต้องการ…

ตะวันลาลับของฟ้า แสงจากดวงไฟ เข้ามาแทนที่ ผมนั่งอยู่หน้าระเบียงบ้าน ยำเตาใส่ปู แกงผักกูดใส่ปลากั๊ง กับน้ำพริกลวกยอดมะระขี้นก ทยอยออกมายั่วน้ำลาย เหล้าต้มพื้นบ้านของโมที เรียกน้ำย่อยของมื้อค่ำนี้ ได้เป็นอย่างดี บวกกับยำเตาทอดกรอบฝีมือผม ช่างเข้ากันเสียกระไร…

คนเฒ่าบอกว่าเหล้านี่"กินน้อยๆเป็นยา กินนักๆระวังจะเป็นหมา นะอาจารย์" ลุงมอยพูดแต่ไม่มองผม กลับชำเลืองมองหน้าโมทีแล้วยิ้ม ผมกับโมทียิ้มและมองหน้ากัน เราสองคนพยักหน้าเหมือนจะเข้าใจในสิ่งที่ลุงมอยพูด "ครับ ผมแค่อยากให้มันเป็นยา แค่นั้นจริงๆ"

ในวงข้าวลุงมอยบอกว่า ชาวบ้านที่นี่มีมีการรวมกลุ่มกันทำเป็นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ มีการฝากเงินกันทุกเดือน ใครมีน้อยก็ฝากน้อย ใครมีเยอะก็ฝากเยอะหน่อย แล้วก็เลือกคนในหมู่บ้านมาเป็นคณะกรรมการดูแลเงินฝาก

"เฮาก็มีหนี้บ้างเป็นหนี้ที่มาจากการหยิบยืมเงินจากเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องยามจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ เมื่อรับจ้าง หรือขายของได้เงินมาก็รีบเอาไปคืน รถยนต์น่ะเราก็อยากมี แต่อาจารย์ดูซิถนนก็บ่ดี แล้วจะเอารถมาทำไม"

อีกอย่างลุงมอยบอกว่าถ้าวันหนึ่งน้ำมันหมดโลก รถยนต์ก็ไม่มีประโยชน์

"แต่เฮาไม่ได้เก็บเงินไว้ในหมู่บ้านหรอก เราเอาไปฝากไว้ธนาคารโน้นน่ะ กลัวมันหาย"

ส่วนเงินออมของชาวบ้านก็มีไม่มากหรอก เพราะเป็นหมู่บ้านเล็ก ลุงมอยพูดทิ้งท้าย พวกเขามีเงินออม อยู่ ทั้งหมดตอนนั้น หนึ่งล้านแปดแสนกว่าบาท ผมฟังและพิมพ์ไม่ผิดครับ ล้านกว่าบาทจริงๆ….

สุดท้าย รางวัลจากผืนป่าที่มอบให้พวกเราบ่ายวันนี้ ก็เลี้ยงคนทั้ง 10 ชีวิตในค่ำนี้ได้อิ่มหนำ รส กลิ่นของอาหาร เสียงผสานขับกล่อมของจิ้งหรีดเรไร ผสมกับบรรยากาศของค่ำคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดาว ช่างลงตัวอย่างไม่มีที่ติ… และสุดท้าย ระเบียงหน้าบ้านก็ต้อนรับผมเป็นคืนที่สองอย่างเต็มใจ….

"ดังนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงอยู่ที่พวกเรา ถ้าพวกเราเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ที่จะได้ในการนำมาประยุกต์ใช้แล้ว ผมเชื่อว่าปรัชญาฯ นี้จะมีประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล และที่สุดแล้ว ก็จะไปเกิดอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อันช่วยส่งผลให้ประเทศชาติของเรา มีความสุข ความมั่นคงอย่างยั่งยืนสืบไป" ผมวางหนังสือ เส้นทางสู่ความพอเพียง ของศาสตรจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องค์มนตรี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่วางอยู่บนชั้นหนังสือ ของกศน.บ้านปงผาง ลง พลางคิดย้อนถึงวันก่อนหน้าที่ผมจะมาที่นี่….

ครับ…มันเป็นหนังสือเล่มเดียวกันกับที่ผมอ่าน ก่อนที่จะมาที่ปงผาง วันนั้นผมยังขบคิดถึงข้อความที่บอกว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ และเป็นหนี้มากขึ้นทุกปี ผมไม่ได้คิดหรอกว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพราะอะไร แต่ผมกลับขบคิดและตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีคนที่ไม่เป็นหนี้จริงๆหรือ แล้วถ้ามีคนที่ไม่เป็นหนี้จริงๆ เขาใช้ชีวิตอย่างไรจึงทำให้ไม่เป็นหนี้ ทั้งๆที่สิ่งรอบตัวเราในวันนี้เต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนได้มาระหว่างทรัพย์สินเงินทอง กับความสะดวกสบาย การใช้ชีวิตที่ทุกการตัดสินใจจะอยู่บนพื้นฐานความอยากได้ มากกว่าความจำเป็นเสมอ…

ณ ตอนนี้ผมว่า ผมมีคำตอบให้กับตัวเองบ้างแล้ว ผมเจอคนส่วนน้อยของประเทศที่ไม่เป็นหนี้ เขามีตัวตนอยู่จริง และที่สำคัญผมรู้แล้วว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไรถึงไม่มีหนี้ พวกเขามีการอยู่ การกิน การใช้ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิด โดยใช้หลักของคำว่าพอ เป็นเพียงตัวตัดสิน การที่จะลงมือทำอะไรทุกอย่าง ประกอบกับการมีสติ ไม่โลภ และไม่อยากได้เกินจำเป็น..อยู่ตลอดเวลา เพียงเท่านี้ก็ทำให้เขาไม่เป็นหนี้แล้ว

ผมร่ำลา จากทุกคน รถมอเตอร์ไซด์สองคันลัดเลาะตามถนนและแนวคันนา แล่นผ่านหน้าหมู่บ้านออกไป ตระกร้าหน้ารถฯของเราทั้งสองเต็มไปด้วยหน่อไม้ต้มและข้าวนาถุงใหญ่ มันเป็นสิ่งของเล็กน้อย ที่บ่งบอกถึงน้ำใจอันเปี่ยมล้นของคนที่นี่ยามมีแขกมาเยี่ยมเยือน เสียงลุงติ๊บที่บอกว่า "เฮาบ่มีเงินมีทอง แต่เฮามีข้าวมีน้ำเลี้ยงอาจารย์ มาที่นี่บ่ต้องกลัวอด บ่ต้องกลัวอยาก" ยังก้องอยู่ในหูผมไม่เคยลืม ทุกคนคงลืมไปว่ามีอีกสิ่งที่พวกเขาหล่อเลี้ยงผมตลอดสามวันที่อยู่ด้วยกัน คือคำพูดที่พวกสอนผมเสมอว่า "จงหาให้เพียงพอ และจงใช้ให้พอเพียง" นั่นแหละครับสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตผม…

ขอขอบพระคุณ

  • ครูเทน นายสิงหราช ยาโน ครูประจำศศช.ปงผาง
  • แอ๋ม นางสาวอัลปรียา สิริสิทธิ์ จนท.โครงการฯประจำบ้านปงผาง
  • ลุงติ๊บ ลุงมอย ป้าเขียว โมที พี่ดา สุวิทย์ ไตรภพ และชาวบ้านปงผางที่น่ารักทุกๆคน

สนใจศึกษาดูงานแปลงปลูกพืชแบบผสมผสาน และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์บ้านปงผาง และเดินป่าศึกษาธรรมชาติห้วยแม่ขะนาด /ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

  1. นายสิงหราช ยาโน ครูนิเทศอำเภอแม่ทา ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านปงผาง โทร 084-3681580
  2. นางสาวอัลปรียา สิริสิทธิ์ จนท.โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน บ้านห้วยฮ่อมใน และบ้านปงผาง โทร 089-5542377
  3. เด่น จนท.เทศบาลตำบลทากาศเหนือ โทร 085-6224827

ค่าบริการ

  • ที่พักชุมชน 1 หลัง 2 ห้อง พักได้ห้องละประมาณ 5-6 คน คนละ 100 บาท/คืน
  • อาหารพื้นบ้าน มื้อละ 60-80 บาทหรือแล้วแต่ตกลง
  • ไกด์ท้องถิ่นนำเที่ยวเดินป่า 200 บาท/คน
  • ค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้าง ไป-กลับ จากวัดผาด่านถึงบ้านปงผาง 300 บาท/คัน/เที่ยว

 

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ชูเกียรติ ไชยวุฒิ