องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ทีบอ ภูมิปัญญาการจัดการน้ำบนพื้นที่สูงของชุมชนกะเหรี่ยง

     เมื่อฤดูฝนเริ่มมาเยือน ก่อนฤดูทำนาในทุกปีชาวบ้านที่ใช้น้ำในสายน้ำเดียวกันจะร่วมแรงร่วมใจช่วยกันซ่อมแซมฝาย ลงแขกเตรียมนา หว่านกล้า และเลี้ยงผีฝายก่อนดำนา โดยนำเหล้า อาหาร และไก่/หมู มาเซ่นไหว้ เรียกว่า พิธีลื้อทีบอโคะ เพื่อบอกกล่าวผีฝายให้ช่วยดูแลข้าวให้งอกงาม ดูแลน้ำให้มีเพียงพอ และคุ้มครองชาวนาให้มีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัย ความสำคัญของการไหว้ลื้อทีบอโคะของชาวกะเหรี่ยงไม่ใช่เพียงแค่ระลึกถึงคุณของน้ำและการบนบานศาลกล่าว แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบชิดในระดับเครือญาติและความสามัคคีของคนที่ใช้น้ำร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย

      ทีบอ หรือบางแห่งออกเสียงว่า ทีโบ เป็นการจัดการน้ำบนพื้นที่สูงของชุมชนกะเหรี่ยงซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อาจจะมองว่าล้าสมัย ไม่คงทนถาวรเหมือนการส่งน้ำผ่านท่อคอนกรีต หรือ pvc ในปัจจุบัน แต่หากมองในเชิงของการอนุรักษ์ ลำเหมืองดินมีประโยชน์อย่างมากเพราะช่วยเกื้อกูลระบบนิเวศป่าไม้ หากเส้นทางใดมีเส้นทางน้ำไหลผ่านก็จะนำพาความชุ่มชื้นไปสู่ที่นั่น ก่อนทำนาขั้นบันไดชาวกะเหรี่ยงจะทำการสำรวจเส้นทางน้ำในบริเวณป่าต้นน้ำไปจนถึงพื้นที่ที่จะทำนา หากพบว่ามีสายน้ำไหลผ่านไปถึง ชาวบ้านจะเริ่มลงมือขุดนาขั้นบันไดควบคู่ไปกับการทำระบบทีบอเพื่อนำน้ำมาใช้ในการเพาะปลูกข้าว ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ทีบอโกล เหมืองดินขนาดเล็กที่ชาวบ้านขุดขึ้น เชื่อมต่อจากแหล่งน้ำขนาดน้อยใหญ่ในป่าต้นน้ำ ลัดเลาะตามแนวขอบเขาเพื่อนำน้ำจากพื้นที่สูงมาใช้ในการทำนาขั้นบันไดที่ลดหลั่นไปตามที่ราบระหว่างหุบเขา โดยมี ลี ทำหน้าที่เสมือนท่อลำเลียงน้ำ ทำจากท่อนไม้ที่ขุดเซาะด้านในให้เป็นร่อง หรือบางจุดอาจใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกในการส่งน้ำข้ามสิ่งกีดขวางอย่างช่องเขาหรือจุดที่มีแม่น้ำสายเล็กๆ ตัดผ่าน ส่วนพื้นที่นาที่อยู่สูงกว่าลำห้วยหรือแม่น้ำสายหลัก ชาวบ้านก็มีวิธีนำน้ำมาใช้โดยการสร้าง ทีเตาะ หรือฝายทดน้ำที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ ก้อนหิน ท่อนไม้ และไม้ไผ่ วางเป็นชั้นขัดกันสลับไปมาโดยใช้ไม้หลักเป็นตัวยึดเพื่อช่วยยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเบี่ยงทางน้ำสายหลักให้ไหลลงสู่ทีบอโกลที่จะนำน้ำไปยังนาขั้นบันได ซึ่งฝายยังมีประโยชน์ในการช่วยชะลอการไหลของน้ำ กักเก็บตะกอน เพิ่มความชื้น และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็กด้วย

ทีบอโกล เหมืองดินขนาดเล็กที่ขุดลัดเลาะขอบเขาเพื่อลำเลียงน้ำสู่นาขั้นบันได

ลี ท่อลำเลียงน้ำทำจากท่อนไม้ที่ขุดเซาะด้านในให้เป็นร่องหรือไม้ไผ่ผ่าซีกในการส่งน้ำข้ามสิ่งกีดขวาง

ทีเตาะ ฝายทดน้ำที่ทำจากวัสดุธรรมชาติตามภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยง

ลื้อทีบอโคะ พิธีเลี้ยงผีฝายหรือเจ้าที่ของน้ำให้ช่วยดูแลนาข้าว

นาขั้นบันไดที่ได้รับน้ำจากระบบทีบอ

     ปัจจุบันระบบทีบอยังพบเห็นได้ในชุมชนกะเหรี่ยงที่มีการทำนาขั้นบันได เช่น บ้านวัดจันทร์ ในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ บ้านเมืองอาง ในสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ บ้านหัวเลา ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ บ้านแม่มะลอ ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ บ้านแม่หลองน้อย ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง บ้านปิพอ ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะบ้านขุนตื่นน้อย และบ้านแม่แฮหลวง ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะบ้านแม่แฮหลวง เป็นต้น การจัดการน้ำบนพื้นที่สูงของชุมชนกะเหรี่ยงด้วยทีบอนี้ จะเป็นต้นแบบสำคัญในการจัดการทรัพยากรน้ำและป่าไม้ของชุมชนบนพื้นที่สูงที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรจากการทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ลาดชันมาเป็นการทำนาขั้นบันไดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่และสืบทอดภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและป่าไม้ของชาวกะเหรี่ยงบนพื้นที่สูง โดยความร่วมมือของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และวัดห้วยบง ได้สนับสนุนการนำไปใช้ประโยชน์โดยให้เยาวชนกะเหรี่ยงที่มีทักษะด้านศิลปะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่ติดตั้งไว้ ณ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เยาวชนกะเหรี่ยง และผู้สนใจต่อไป

ภาพวาดภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรน้ำและป่าไม้ของชาวกะเหรี่ยงบนพื้นที่สูง

วาดโดยเยาวชนกะเหรี่ยง นายบุญโรจน์ มีทรัพย์กว้าง และ นายเปจัง มิตรสาธิต

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล

พระปลัดสุชาติ สุวฑฒโก     ผู้อำนวยการศูนย์ปกาเกอะญอศึกษาวัดห้วยบง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่

นายพัฒนา มงคลวาท       เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบฯ บ้านขุนตื่นน้อย ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

นายวัชรินทร์ พจณบัณฑิต   ผู้นำชุมชนบ้านเมืองอาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นายวาสุใจ น่อชะเจ         เยาวชนกะเหรี่ยง บ้านขุนตื่นน้อย ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

นายปฏิพล ท่ออิ           เยาวชนกะเหรี่ยง บ้านปิพอ ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

นายเสกสรรค์ ใจมา        เยาวชนกะเหรี่ยง บ้านหัวเลา ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

 

 เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: กชพร สุขจิตภิญโญ และ ณฐภัทร สุวรรณโฉม