องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

“ดงเซ้ง” ภูมิปัญญาการรักษาป่าของชุมชนม้ง

        เมื่อเสียงย้ำฆ้องพร้อมคำเชิญเจ้าที่ดังขึ้น เป็นสัญญาณเริ่มต้นของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ดงเซ้ง ที่ชุมชนม้งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีหลังเทศกาลปีใหม่ เพื่อเซ่นไหว้ขอพรเจ้าที่ผู้รักษาดินรักษาป่าให้ช่วยคุ้มครองคนในชุมชนให้อยู่ดีมีสุข “ดงเซ้ง” ในภาษาม้งแปลว่า “ต้นไม้ใหญ่” ตั้งแต่อดีตเมื่อชุมชนม้งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดแล้ว มักจะประกอบพิธีดงเซ้งโดยเริ่มสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณใกล้หมู่บ้านที่มีต้นไม้ใหญ่ลักษณะเด่นสง่า แผ่กิ่งก้านงดงาม ไม่มีกิ่งแห้ง ไม่มีรอยตำหนิ ลำต้นตั้งตรง และอยู่ในทำเลที่เหมาะสม จากนั้นก็จะอันเชิญเทพสี่องค์ ได้แก่ เทพถือติ คุ้มครองผืนดินและป่า เทพสะแส่งติจือ คุ้มครองสัตว์ต่างๆ เทพเจ้าจื้อเซ้งโล่งเม่ คุ้มครองดูแลใต้พิภพ และเทพฝือแส่ง ควบคุมปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย มาปกปักรักษาผืนดิน ผืนป่า และคนในชุมชน เมื่อประกอบพิธีเสร็จสิ้นป่าบริเวณนั้นจะกลายเป็นป่าดงเซ้ง ที่ชุมชนกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปบุกรุกทำลาย ตัดต้นไม้ ล่าสัตว์ หรือหาพืชสมุนไพร เนื่องจากจะทำให้เทพทั้งสี่ไม่พอใจ หากไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ก็จะเกิดภัยต่อตนเองหรือชุมชนได้ ชุมชนม้งบ้านปางแก ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก เล่าว่าเคยมีคนต่างถิ่นเข้าไปล่าสัตว์บริเวณป่าดงเซ้งแล้วเกิดปืนลั่นจนเสียชีวิต อีกทั้งยังเคยมีคนในหมู่บ้านฝ่าฝืนเข้าไปตัดไม้ในบริเวณนั้นก็เกือบจะมีอันเป็นไปเนื่องจากกิ่งไม้แห้งตกใส่จนได้รับบาดเจ็บ ชาวบ้านจึงเกิดความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธ์และไม่กล้าเข้าไปรบกวนป่าดงเซ้งอีกเลย

          พิธีไหว้ดงเซ้ง จึงเป็นพิธีกรรมระดับชุมชนที่เป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน แต่ละครอบครัวจะช่วยกันจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ธูปเทียน เหล้า น้ำอัดลม หมูดำตัวผู้ หรือไก่ตัวผู้และตัวเมีย 1 คู่ รวมถึงกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับเผาให้เจ้าที่ตามจำนวนที่ได้บนบานไว้ในปีที่ผ่านมา จากนั้นผู้นำทางจิตวิญญาณจะกล่าวคำเชิญพร้อมตีฆ้องเป็นเสียงเรียกเทพทุกทิศทาง ที่เป็นเทพสูงสุดบนฟ้าและเทพสี่องค์ให้มารับของเซ่นไหว้ โดยระหว่างที่มีการประกอบพิธีกรรมอยู่นั้นจะต้องระวังไม่ให้ธูปเทียนดับ เมื่อเทียนละลายถึงครึ่งเล่มชาวบ้านจะช่วยกันฆ่าหมูและนำเลือดพร้อมหัวหมูมาเซ่นไหว้เจ้าที่ เผากระดาษเงินกระดาษทอง และทำพิธีขอบคุณผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นอันเสร็จพิธี ส่วนเนื้อหมูนั้นจะนำมาประกอบอาหารและรับประทานร่วมกันในชุมชนเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป

      เมื่อยุคสมัยของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ชุมชนบ้านปางแกยังได้นำความรู้ปัจจุบันและความเชื่อทางศาสนาพุทธ ได้แก่ การทำแนวกันไฟและบวชป่ามาผนวกร่วมกับการประกอบพิธีดงเซ้ง โดยมีคนในชุมชน คณะครูและนักเรียน นายอำเภอทุ่งช้าง เจ้าหน้าที่จากโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ 5 (พมพ.5) และตำรวจตระเวนชายแดนที่ 325 เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เกิดความสมดุลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ไม่ใช่เพียงการใช้ประโยชน์ หากยังมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูควบคู่กันไป โดยใช้ประเพณีและพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวม้งมาเป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้เกิดความรักความสามัคคี การบูรณาการความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานท้องถิ่น และการสืบทอดภูมิปัญญาของคนรุ่นใหม่ที่เกิดจากเรียนรู้วิถีชีวิตผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน

 

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล ล่ามแปลภาษาม้ง-ไทย และนักพัฒนาของ สวพส.

นายจรัล ทิวานนท์ ผู้นำจิตวิญญาณบ้านปางแก ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จ.น่าน

นายเน้ง แซ่ย่าง  ผู้นำจิตวิญญาณบ้านถ้ำเวียงแก ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จ.น่าน

นายแสวง แซ่ท้าว ผู้นำเกษตรกรบ้านปางแก ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จ.น่าน

นายสมบัติ สารใจ หัวหน้าโครงการ พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จ.น่าน


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: กชพร สุขจิตภิญโญ