พืชผักพื้นบ้านชาวมอญ สะท้อนวิถีชีวิต กับแนวคิดกินอาหารให้เป็น “ยา”
"ห้วยเขย่ง" คือ ตำบลหนึ่งในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้งไทย มอญ กะเหรี่ยง ขมุ พม่า และลาว โดยห้วยเขย่งนั้นถือว่าเป็นชุมชนเล็กที่มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างเงียบสงบ อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ท่ามกลางขุนเขา และมีการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ด้วยสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายอันประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติและมรดกสืบทอดของชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้เมนูอาหารของที่นี่เต็มไปด้วยสีสันและรสชาติหลากหลาย
ชาวมอญนับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของอาหารที่โดดเด่นและยังคงสืบทอดกันอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เอกลักษณ์อาหารมอญที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือ ชาวมอญมักจะนำพืชท้องถิ่นหรือสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาประกอบอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารไทย เพราะคิดว่าถ้าเอามาทำอาหารคงไม่อร่อยหรือคาดไม่ถึงว่าจะนำมาทำเป็นอาหารได้ แต่ชาวมอญสามารถนำมาประยุกต์จนเกิดเป็นเมนูอาหารที่มีรสชาติอร่อยและเป็นที่ติดอกติดใจต่อผู้ที่เคยลิ้มลองรสชาติ และด้วยวิถีอยู่ง่ายกินง่ายกับธรรมชาติของชาวมอญ สำรับอาหารจึงเต็มไปด้วยพืชผักท้องถิ่นที่น่าสนใจ โดยพืชท้องถิ่นที่ชาวมอญนิยมกินและนำมาประกอบอาหารนั้น ส่วนมากจะเป็นพืชที่มีเมือกลื่นหรือมีรสเปรี้ยว เช่น มะตาด กระเจี๊ยบมอญ ส้มป่อย ส้มมะงั่ว มันกระทาก (มันเสา) และมะเขือพม่า เป็นต้น สำหรับการนำมาประกอบอาหาร ส่วนใหญ่จะนิยมนำพืชผักพื้นบ้านที่มีตามฤดูกาลมาทำเป็นเมนูแกง เช่น แกงส้ม แกงคั่ว แกงเลียง เป็นต้น รสชาติของอาหารจะคล้ายอาหารไทยแต่จะหนักเครื่องแกงและมีรสชาติจัดกว่า บางเมนูนิยมใส่กระชายลงไปด้วยเพื่อดับกลิ่นคาว แต่ไม่นิยมใส่น้ำตาล ดังนั้น แกงของชาวมอญจึงมักจะมีรสเปรี้ยวหรือเค็ม แต่อร่อยจนยากจะลืมเลือน เชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามที่ได้ลิ้มรสอาหารมอญ เป็นต้องติดอกติดใจกันทุกราย เพราะนอกจากรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว อาหารมอญยังถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน และยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ผ่านเมนูอาหารที่สวยทั้งรูปและจูบก็หอม นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวมอญทุกคน
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ศิริรัตนาพร หล้าบัววงค์ สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนนาพื้นที่สูง