องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ต้มไก่สมุนไพรม้ง อาหารเป็นยา รักษาสุขภาพ

      ม้ง (Hmong) เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงของประเทศไทย สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ ม้งขาว และม้งเขียว โดยมีความแตกต่างกันในรายละเอียดด้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และภาษาพูดที่ใช้สำเนียงแตกต่างกัน สำหรับในส่วนของวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อจะมีลักษณะเหมือนกัน ในส่วนของวัฒนธรรมการบริโภค อาหารที่ปรุงส่วนใหญ่จะเน้นรสชาติของวัตถุดิบเดิมเป็นหลัก โดยจะมีการปรุงแต่งรสชาติน้อยมาก เครื่องปรุงรสที่สำคัญคือ เกลือ เท่านั้น อาหารที่นิยมบริโภคเช่น ซุปฟักทอง (taub tsuag) ต้มผักกาดใส่กระดูกหมู (hau zaub ntsuab xyaw pob txha npua) ไส้อั่วหมู (nyhuv ntxwm npua xyaw qhiav) แคบหมู (kiav roj npua) น้ำพริกผักชี (kua txob zaub txhwb) และต้มไก่สมุนไพร (hau qaib tsaws tshuaj)

      ต้มไก่สมุนไพร เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่นิยมบริโภคเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง โดยมีการรักษาภูมิปัญญาและสืบทอดองค์ความรู้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง สรรพคุณหลักคือ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น บำรุงโลหิต บรรเทาอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหลังและปวดเอว ต้มไก่สมุนไพรเป็นอาหารที่ประกอบด้วยพืชสมุนไพรท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ มากกว่า 10 ชนิด โดยมีพืชสมุนไพรที่สำคัญและขาดไม่ได้ 5 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้ (tauj dub) เย้ชวนดั่ว (zej ntshua ntuag) จิงจูไฉ่ (ko taw os) ว่านท้องใบม่วง (tshuaj rhog) และว่านน้ำเล็ก (pawj qaib)

 วัตถุดิบหลักที่สำคัญ

1) ไก่กระดูกดำ (Qaib Dub)

2) ตะไคร้ (Tauj Dub)

3) เย้ชวนดั่ว (Zej Ntshua Ntuag)

4) จิงจูไฉ่ (Ko Taw Os)

5) ว่านท้องใบม่วง (Tshuaj Rhog)

6) ว่านน้ำเล็ก (Pawj Qaib)

7) เก็กฮวยป่า (Ko Taw Os Ntsuab)

8) ผักแพวแดง (Zaub Qiag Liab)

9) ชั่วเลียะ (Tshuaj Liab)

10) จิเตอเนง (Cib Taw Nees)

11) ชะซ้ง (Tshab Xyoob)

12) ก้ามปูหลุด (Zaub Raws Txaij)

13) โสมคน (Sab Txhim Paj)

14) ตี๋เม (Ntiv Me)

15) ตี๋ล่อ (Ntiv Loj)

16) ก้อทู (Koj Ntug)

     โดยพืชสมุนไพรแต่ละชนิดจะใส่ในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบในรสและกลิ่นของตัวพืชสมุนไพรนั้น ๆ เช่น ตะไคร้ 2 ต้น จิงจูไฉ่ 1 กำมือ เย้ชวนดั่ว 3 ใบ  

เครื่องปรุง

1) เกลือ

2) พริกไทยดำ   

วิธีทำ

1) เตรียมวัตถุดิบให้พร้อม (ไก่กระดูกดำ สมุนไพรต่าง ๆ เกลือ พริกไทยดำ และน้ำสะอาด)

2) ตั้งน้ำ ใส่ตะไคร้ลงไปต้มให้เดือดจากนั้น ใส่ไก่ลงไปต้มต่อไปอีก 15 นาที

3) ใส่เกลือ และสมุนไพรต่าง ๆ ต้มต่อไปอีกประมาณ 5 นาที แล้วยกหม้อลง

4) นำพริกไทยดำมาบดแล้วใส่ลงไป พร้อมรับประทานได้


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.จารุณี ภิลุมวงค์