ดินปลูกกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง
กาแฟอราบิก้าเป็นพืชที่มีการปลูกบนพื้นที่สูงอย่างแพร่หลาย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือสวพส ได้วิจัยและส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตกาแฟอราบิก้าโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของตนเองทั้งการปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวและการปลูกร่วมกับต้นไม้ใหญ่ โดยได้นำองค์ความรู้การปลูกกาแฟจากโครงการหลวงมาส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สวพส. จำนวน 22 แห่งพื้นที่ปลูกกาแฟ 5,472.78 ไร่ เกษตรกรจำนวน 2,570 ราย มีผลผลิตกาแฟกะลาปีละประมาณ 757 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรคิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 41 ล้านบาท (สิทธิเดชและคณะ, 2563) สำหรับการปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตและมีคุณภาพ ดินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟควรเป็นดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นกรดด่าง (pH) ประมาณ 5-6 หน้าดินลึก ระบายนํ้าและอากาศได้ดี
ผลการเก็บตัวอย่างตัวอย่างดินและใบกาแฟของเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 9 แห่ง ไปวิเคราะห์สมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารในดินและในกาแฟ พบว่าส่วนใหญ่ดินปริมาณอินทรียวัตถุสูงมาก มี pH 3.69 – 5.08 ซึ่งอยู่ในช่วงที่เป็นกรดรุนแรงมากถึงกรดจัด ซึ่งจากการที่ดินเป็นกรดรุนแรงมากถึงกรดจัดส่งผลให้ต้นกาแฟไม่สามารถดูดใช้ธาตุอาหารบางชนิด เช่นฟอสฟอรัสได้ ส่วนปริมาณธาตุอาหารในดินพบว่ามีปริมาณธาตุอาหารหลัก (N P K) และธาตุอาหารรอง (Ca Mg) สูง แต่มีปริมาณจุลธาตุ (Zn Cu B) ต่ำมาก และเมื่อพิจารณาปริมาณธาตุอาหารในใบกาแฟกลับพบว่ามีปริมาณโพแทสเซียม แคลเซียม แมงกานีส ทองแดงและโบรอนต่ำ ซึ่งถ้ากาแฟในระยะให้ผลผลิตขาดธาตุโพแทสเซียมจะทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟไม่ดี และไม่ได้คุณภาพ
จากการทดสอบการจัดการปุ๋ยกาแฟในพื้นที่วาวีและปางมะโอโดยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่ไม่เพียงพอ ได้แก่ ฟอสฟอรัส แคลเซียม ทองแดง สังกะสี และโบรอน ในช่วงที่กาแฟติดเมล็ด โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือช่วงเดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคม ทำให้ผลผลิตกาแฟเพิ่มขึ้น โดยชนิดและปริมาณปุ๋ยที่ใส่ในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไปตามคุณสมบัติดิน และความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่ที่ปลูกกาแฟ
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: จุไรรัตน์ ฝอยถาวร และ ดารากร อัคฮาดศรี นักวิจัย สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)