แบงเซีย
ชื่อสามัญ Banksia
ชื่อวิทยาศาสตร์ Banksia sp.
ไม้ดอกกลุ่มโพรเทีย (Banksia) ได้นำมาปลูกทดสอบในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวงจำนวนหลายชนิดด้วยกัน ในจำนวนที่นำเข้ามาปลูกมีหลายชนิดที่สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ดี และยังเป็นที่ต้องการของตลาด แบงเซียก็เป็นดอกไม้ในกลุ่มโพรเทียที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศบนที่สูงของประเทศไทย นอกจากปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้แล้วยังสามารถปลูกเป็นไม้ตัดใบ และไม้ประดับได้อีกด้วย
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
แบงเซียเป็นไม้ที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถเจริญเติบโตได้ในอากาศที่เย็น ดินมีค่าความเป็นกรดอยู่ระหว่าง 4.5-6.0 น้ำฝน ประมาณ 900-1,500 มิลลิเมตรต่อปี
การตลาด
เนื่องจากแบงเซียมีลักษณะที่แปลกตาและสามารถนำมาใช้งานได้ทั้งดอก และใบ ซึ่งทำได้ทั้งดอกไม้สด และดอกไม้แห้งทำให้ตลาดมีความต้องการสูง
การขยายพันธุ์ แบงเซียสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ
การเพาะเมล็ด
เพาะในกระบะเพาะ วัสดุเพาะ ได้แก่ ทรายหยาบ ขุยมะพร้าว ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1:1 ระยะเวลาใช้ในการเพาะประมาณ 15-20 วัน จึงเริ่มงอก
การปักชำ
ใช้กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนได้ผลดี ชำในวัสดุชำ ประกอบด้วย ขุยมะพร้าว ทราย ในอัตราส่วน 2:1 หรือใช้ขุยมะพร้าว ทราย และเม็ดโฟม ในอัตราส่วน 8:4:1 ใช้ฮอร์โมนเร่งรากที่เป็นการค้า เช่น รูสโกรความเข้มข้น 3,000 ppm หรือใชฮอร์โมนในระดับความเข้มข้น NAA 2,000 ppm + IBA 2,000 ppm ระยะเวลาสำหรับการปักชำประมาณ 45-60 วัน
การเตรียมแปลงปลูกและวิธีปลูก
เนื่องจากแบงเซียเป็นไม้ดอกที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ ดังนั้นระยะปลูกจึงใช้ระยะ 2?2 เมตร ขุดหลุมลึก 50 เซนติเมตร หลังจากปลูกควรพยุงต้นโดยใช้ไผ่ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 60 เซนติเมตร เพื่อป้องกันต้นเอียงหรือล้ม พื้นที่ปลูกควรเป็นที่ลาดชันเพื่อให้มีการะบายน้ำดีน้ำไม่ท่วมขัง
การดูแลรักษา
แสงและอุณหภูมิ
แบงเซียต้องการแสงเต็มที่ในการเจริญเติบโตในพื้นที่สูงประมาณ 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล พื้นที่ปลูกควรเป็นที่โล่งแจ้งรับแดดได้ตลอดวันมีการระบายอากาศได้ดี
การให้น้ำและปุ๋ย
ในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนฤดูฝนควรสังเกตอย่าให้น้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเน่าได้
ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 10 กรัม/ต้น เดือนละ 1 ครั้ง และพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 30-20-10 เดือนละ 1 ครั้ง
โรคและแมลง
โรคที่พบส่วนใหญ่ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Fusarium sp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเน่าคอดิน
การป้องกันและกำจัด ก่อนปลูกให้รองก้นหลุมโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ถ้าโรคเกิดที่ดินเก่าอาการไม่รุนแรงให้ขุดบริเวณรอบต้นแล้วใส่เชื้อไตรโครเดอร์ม่าลงไป แล้วถ้าพบอาการเป็นมากแล้ว ให้ขุดทิ้งแล้วเผาทำลาย
การเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยว ช่วงระยะการเก็บเกี่ยวถึงเป็นดอกตั้งแต่เดือนกันยายน-มีนาคม ขึ้นอยู่กับพันธุ์
วิธีเก็บเกี่ยว ตัดเมื่อประมาณครึ่งหนึ่งของดอกย่อยบนช่อดอกบาน ใบต้องไม่เป็นสีดำ
สภาพแวดล้อมขณะเก็บเกี่ยว สามารถตัดได้ตลอดทั้งวันเพราะพืชกลุ่มนี้ก้านดอกเป็นไม้เนื้อแข็งทนต่อการขาดน้ำได้ดี
การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
เนื่องจากไม้ดอกชนิดนี้เป็นไม้เนื้อแข็ง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวจึงไม่ยุ่งยาก เมื่อตัดมาจากต้นควรแช่น้ำทันที สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-4 องศาเซลเซียสได้ 3-4 สัปดาห์ ถ้าต้องการนำไปใช้เป็นดอกไม้แห้งให้แขวนไว้ในที่ร่มที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เมื่อแห้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อาจมีการย้อมสีเพื่อให้มีสีสวยงาม
เอกสารอ้างอิง :
มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.