องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เล็บฮุ้ง

ชื่อสามัญ  Paris rhizome

ชื่อวิทยาศาสตร์ Paris polyphylla Sm.

วงศ์  TRILLIACEAE

ภาคเหนือ โต่สง ตีนฮุ้งดอย เล็บฮุ้ง ภาคกลาง สัตฤาษี ภาคอีสาน ภาคใต้ -

เล็บฮุ้งเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยวออกเวียนรอบข้อ 5-9 ใบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน โคนใบมนหรือสอบ ปลายใบแหลม ก้านใบสีน้ำตาล ดอกเดี่ยวสีเหลืองหรือสีส้ม ออกที่ปลายยอด มีใบประดับ 4-6 ใบรองรับ ผลแบบแคปซูล ทรงกลม ผิวเรียบ เมล็ดสีแดงอมส้ม

สภาพนิเวศ :  ชอบขึ้นตามพื้นในป่าสนเขา ที่มีเรือนยอดโปร่ง ความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดและแยกหัว

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : ชาวปางมะโอเก็บหาเหง้าในช่วงปลายฤดูฝน เนื่องจากช่วงฤดูหนาวเล็บฮุ้งจะทิ้งต้น แล้วนำเหง้ามาดองเหล้า ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเลือดแหล่งที่พบ : หายากใกล้สูญพันธุ์ พบในป่าลึก โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นป่าดิบเขา ปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) มีพ่อค้าจากนอกชุมชนมารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 60-80 บาท 

เกร็ดน่ารู้ : ตามตำราสมุนไพรจีน เล็บฮุ้งมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับพิษในร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว และห้ามเลือด