กีวีฟรุต
กีวีฟรุตเป็นไม้ผลเขตหนาว อยู่ในวงค์ Actinidiaceae ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตอนเหนือของหุบเขาแยงซี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รู้จักกันมานานในชื่อ “ไชนิสกูสเบอรี่” (Chinese gooseberry) แต่ได้ถูกนำไปพัฒนาและปลูกเป็นการค้าที่ประเทศนิวซีแลนด์เป็นแห่งแรกและได้มีเปลี่ยนเป็นชื่อ “กีวีฟรุต” เพราะนกกีวีเป็นสัญลักษณ์ของประเทศนิวซีแลนด์ สำหรับกีวีที่นำมาปลูกในประเทศไทยนั้น นำเข้ามาครั้งแรกจากประเทศนิวซีแลนด์ในปี พ.ศ.2519 เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Actinidia deliciosa (A. Chev.) C.F.Liang et A.R.Ferguson var. deliciosa ทดลองปลูกที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศึกษาวิจัยพบว่า กีวีฟรุตบางพันธุ์สามารถออกดอกและติดผลได้ดี สามารถที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นอาชีพได้ ต่อมาจึงได้ขยายการศึกษาวิจัยโดยนำพันธุ์กีวีฟรุตชนิดต่าง ๆ มาศึกษาเพิ่มเติมเช่น A. chinensis และ A. arguta เป็นต้น แหล่งปลูก ที่สำคัญได้แก่ สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง และสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์
ลักษณะโดยทั่วไป
กีวีฟรุตเป็นไม้ผลเลื้อยที่สามารถเลื้อยขึ้นไปสูงถึง 9 เมตร มีอายุยาวนานหลายปี ใบเป็นแบบรูปไข่หรือรูปหัวใจยาวประมาณ 7.5-12.5 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้ม กิ่งและใบที่แตกออกใหม่มีสีแดง ดอกจะออกในเดือนกุมภาพันธ์หลังจากที่ต้นพักตัวแล้ว ดอกมีกลีบ 5 กลีบ สีขาวครีม กลิ่นหอม เส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 3.7-5.0 เซนติเมตร ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่แยกต้นกัน และเป็นคนละพันธุ์กัน ผลมีหลายลักษณะ เช่น ทรงกลม รูปไข่หรือกึ่งทรงกลมยาว ขนาดของผลมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึง 5-10 เซนติเมตร ขนาดมีขนสีน้ำ ตาลปกคลุม เนื้อสีเขียวหรือเหลืองอมเขียวขึ้นอยู่กับพันธุ์ แกนผลสีครีมมีเมล็ดสีดำกระจายอยู่รอบแกนผล กิ่งมีความแข็งแรงและเจริญเติบโตเร็วอาจยาวถึง 2-4 เมตรในแต่ละปี
สภาพภูมิอากาศและปัจจัยที่เอื้ออำนวย
กีวีฟรุตเป็นไม้ผลเขตหนาวที่แข็งแรง ปลูกง่าย แต่ต้องการความหนาวเย็นมากโดยเฉพาะชนิด A. deliciosa ต้องการความหนาวเย็นประมาณ 700-800 ชั่วโมง ดังนั้นพื้นที่ปลูกในประเทศไทยต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไป แต่สภาพพื้นที่สูงบางแห่งของประเทศไทยอากาศหนาวเย็นไม่ยาวนานเหมือนต่างประเทศจึงสามารถปลูกกีวีฟรุตได้เฉพาะบางพันธุ์เท่านั้น แต่ยังออกดอกและติดผลน้อยกว่า ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์กีวีฟรุตในชนิดอื่นเช่น A. chinensis ซึ่งต้องการความหนาวเย็นสั้นและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดี และจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไป
พันธุ์กีวีฟรุต
กีวีฟรุตเป็นพืชที่ดอกตัวผู้และตัวเมีย แยกต้นและแยกพันธุ์กันตัวผู้และตัวเมีย โดยมีพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงปลูกอยู่ดังนี้
1. พันธุ์ของต้นตัวเมีย
ส่วนใหญ่พันธุ์ที่ปลูกอยู่แต่แรกเป็นชนิด A. deliciosa ซึ่งมี 5 พันธุ์ได้แก่ บรูโน (Bruno) เฮเวอร์ด (Hayward) เดกเทอร์ (Dexter) มอนตี้ (Monty) และ แอบบอร์ด (Abbott) แต่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าที่ปลูกในปัจจุบันคือพันธุ์บรูโน (Bruno)
2. พันธุ์ Bruno การเจริญเติบโตดี กลีบดอกแคบขอบกลีบดอกย่นและกลีบดอกซ้อนทับกันเล็กน้อย ผลผลิตดกมีขนาดใหญ่ รูปทรงผลค่อนข้างยาว ผิวผลมีสีน้ำตาลเข้ม มีขนปกคลุมหนาแน่นแต่ขนสั้นและเปราะ เนื้อในมีสีเขียว มีเมล็ดมาก รสชาติหวาน น้ำหนัก 98 กรัมต่อผล กว้าง 4.24 เซนติเมตร ยาว 8.46 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์ความหวานประมาณ 13.25๐Brix
3. พันธุ์ Hayward การเจริญเติบโตดี กลีบดอกกว้างโค้งเป็นรูปถ้วย กลีบดอกซ้อนทับกัน ผลเป็นรูปไข่กว้างมาก รูปทรงผลกลมยาวแต่ไม่ยาวมากเหมือนพันธุ์ Bruno ขั้วผลและปลายผลมักแบน ผิวผลมีสีน้ำตาลอมเขียวซีด มีขนปกคลุมหนาแน่นขนละเอียดบอบบาง เนื้อในเป็นสีเขียวมีเมล็ดมาก รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม เป็นพันธุ์ที่ให้ผลที่มีรสชาติและคุณภาพในการเก็บรักษาที่ดีที่สุด แต่ให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ น้ำหนัก 80-120 กรัมต่อผล กว้าง 5.35 เซนติเมตร ยาว 6.78 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์ความหวานประมาณ 12.81๐Brix
4. พันธุ์ Dexter การเจริญเติบโตดี ผลผลิตไม่ค่อยดก ผลกลมยาว เนื้อในสีเขียวมีเมล็ดมาก รสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย น้ำหนัก 66 กรัมต่อผล กว้าง 4.5 เซนติเมตร ยาว 6.22 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์ความหวานประมาณ 13.29๐Brix
5. พันธุ์ Monty การเจริญค่อนข้างดี ผลผลิตไม่ค่อยดก รูปทรงผลยาว ความกว้างกับความยาวผลไม่แตกต่างกันมากนัก เนื้อในสีเขียวมีเมล็ดมาก รสชาติหวานอมเปรี้ยว น้ำหนัก 64 กรัมต่อผล กว้าง 4.3 เซนติเมตร ยาว 5.96 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์ความหวานประมาณ 13.69๐Brix
6. พันธุ์ Abbott การเจริญเติบโตค่อนข้างดี กลีบดอกกว้างเกิดแยกเป็นอิสระและไม่ซ้อนทับกัน ผลเป็นแบบ oblong รูปทรงผลกลมยาวคล้าย Hayward มีขนปกคลุมหนาแน่น ขนยาวและอ่อน ผลผลิตไม่ค่อยดก เนื้อในสีเขียวเมล็ดมาก รสชาติหวานอมเปรี้ยว น้ำหนัก 90 กรัมต่อผล กว้าง 4.8 เซนติเมตร ยาว 6.9 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์ความหวานประมาณ 14.13๐Brix
สำหรับพันธุ์ตัวเมียชนิด A. chinensis และ A. arguta นั้น ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยและทดสอบอยู่หลายพันธุ์ เช่น China No4, Yellow Joy, Koryuku Sunryuku และ Kosui (A. argutai) เป็นต้น มีบางพันธุ์ที่ทดสอบแล้วคาดว่าจะส่งเสริมเป็นการค้าได้ในอนาคต
7. พันธุ์ของต้นตัวผู้
ที่มีอยู่ในขณะนี้มี 2 ชนิด คือ A. deliciosa ได้แก่พันธุ์ Matua และ Tomuri และชนิด A. chinensin ได้แก่ China No5 และลูกผสมต่างๆ
- พันธุ์ Matua - พันธุ์ Tomuri
ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต
กีวีฟรุตสามารถเก็บเกี่ยวเมื่อผลอายุ 8.5-9 เดือนคือประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมขึ้นอยู่กับพื้นที่ โดยพื้นที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นจะสุกช้ากว่า การเก็บดูได้จากลักษณะผิวของผล อายุของแต่ละพันธุ์และความหนาแน่นเนื้อผล กีวีฟรุตแม้ว่าจะแก่แล้วผลก็ยังแข็งอยู่ ดังนั้นก่อนเก็บเกี่ยวต้องนำผลมาตรวจสอบปริมาณน้ำตาลในเนื้อผล ซึ่งในประเทศไทยเมื่อผลสุกจะมีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลประมาณ 8๐Brix ขึ้นไปหรืออาจสังเกตลักษณะผิวผลที่เป็นมันเพิ่มมากขึ้น มีสีน้ำตาลซีดลง ขนบริเวณขั้วผลสั้นและลดน้อยลง
ตลาดและการใช้ประโยชน์
ผลกีวีฟรุตสามารถใช้ประโยชน์ทั้งในรูปการบริโภคของผลสดและแปรรูปเป็นอาหารในรูปแบบต่างๆ เช่น สลัด ขนมเค้ก และโดนัท เป็นต้น ในด้านคุณค่าทางอาหารมีปริมาณวิตามินซีสูงถึง 66-122 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผลส่วนที่กินได้ 100 กรัม
รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ : กีวีฟรุตสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 เกรด
เกรดพิเศษ ลักษณะผลตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง มีน้ำหนักผลประมาณ 101 กรัมขึ้นไป
เกรด 1 ลักษณะผลตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง มีน้ำหนักผลประมาณ 81-100 กรัมต่อผล
เกรด 2 ลักษณะผลตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง มีน้ำหนักผลประมาณ 61-80 กรัมต่อผล
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด : เดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม