องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ปวยเหล็ง

ชื่อวิทยาศาสตร์  Spinacia oleracea L.

ชื่อสามัญ Spinach

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป ปวยเหล็งอยู่ในวงศ์ CHENOPODIACEAE หรือ GOOSE FOOT มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย แถบตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย หรือแถบประเทศอิหร่าน และอัฟกานิ-สถาน เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้นเป็นกอ อวบน้ำ ใบเจริญเป็นพุ่มจากลำต้นที่อวบสั้น กาบใบซ้อนกัน ใบใหญ่สีเขียวเข้มหนาเป็นมัน ผิวใบเป็นคลื่น ใบหยิกหรือเรียบ ขอบใบอาจเรียบหรือหยัก ใบมีหลายลักษณะ เช่น ค่อนข้างกลม กลมยาว หรือค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ปลายใบมีลักษณะคล้ายหัวลูกศร ใบแรกจะมีขนาดใหญ่หลังจากนั้น จะเล็กลงตามลำดับ มีจำนวน 25 – 35 ใบต่อต้น ใต้ใบมีขนอ่อน ๆ ก้านใบเล็ก กรอบ สีเขียวอ่อน ความยาวประมาณ 25 – 45  เซนติเมตร จำนวนใบจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ปวยเหล็งเป็นพืชที่มีต้นตัวผู้และตัวเมียแยกกัน ดอกตัวผู้จะเจริญเป็นกลุ่มบนก้านดอก และมักตายหลังจากดอกบาน ดอกตัวเมียไม่มีกลีบเลี้ยง เป็นพืชผสมข้าม ละอองเรณูจะแพร่กระจายโดยลม

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร สามารถรับประทานได้ทั้งใบและต้น นำประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ผัดน้ำมันหอย ต้มจืด ลวกใส่ในก๋วยเตี๋ยว สุกี้ ทำแกงจืด ต้นอ่อนรับประทานสดในสลัด หรืออาหารจำพวกซุป ปวยเหล็งประกอบไปด้วยคุณค่าทางอาหารหลายชนิด เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และมีสารเบต้าแคโรทีน และวิตามินซี เป็นจำนวนมาก ช่วยบำรุงสายตา ผิวพรรณ และทำให้กระดูกแข็งแรง และช่วงป้องกันโรคมะเร็ง 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

ปวยเหล็งสามารถปลูกได้ดีในสภาพที่มีอุณหภูมิต่ำและช่วงแสงสั้น อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญอยู่ระหว่าง 18 – 20 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 24 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส พืชจะชะงักการเจริญเติบโต ใบหนา เป็นคลื่น และมีขนาดเล็ก ในสภาพอุณหภูมิสูง ช่วงแสงยาว หรือในสภาพที่มีอุณหภูมิสูงต่ำสลับกัน จะแทงช่อดอกเร็ว หากช่วงแสงสั้น การแทงช่อดอกจะช้ากว่าปกติ อายุการเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับอัตราการเจริญ สายพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวเร็วจะมีอัตราการเจริญสูง ดังนั้นในการปลูกควรคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง   และแทงช่อดอกช้า เพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพสูง เนื่องจากเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น และต้องการธาตุอาหารสูง ดินปลูกควรร่วนซุย และมีความอุดมสมบูรณ์สูง  สำหรับ ความเป็นกรด-ด่างของดิน ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 6.2 – 6.9  และได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน ขุดพลิกดินตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย 14 วัน ยกแปลงกว้าง 1.20 ม. ร่องแปลงห่าง 50 ซม. ลึก 30 – 40 ซม. ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1,500 – 2,000 กก./ไร่ ใส่ปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 อัตรา 20 กก./ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากันปรับหน้าดินให้เรียบ ข้อควรระวัง ควรนำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์หาสภาพเป็นดินกรด ควรแก้ไขด้วยปูนขาว อัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม

การเตรียมกล้า/เมล็ด  แช่เมล็ดพันธุ์ก่อนเพาะใน GA3 ที่ความเข้มข้น 100 ppm. เป็นเวลา 1 ชั่วโมง และห่อด้วยผ้าเปียกเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส

การปลูก เจาะร่องลึกประมาณ 1 ซม.โรยเมล็ดพันธุ์ลงไปและกลบดินให้เรียบแล้วจึงรดน้ำอย่าโรยเมล็ดแน่นเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโรคโคนเน่า เมื่อต้นกล้ามีอายุ 10 – 15 วัน ให้ถอนแยกต้นที่ชิดกันมากเกินไปออก ระยะปลูก (ต้น x แถว) 10 x 15 ซม. หลังถอนแยก

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยพิจารณาจากความชุ่มชื้นของดินเป็นหลัก

ข้อควรระวัง

1.อย่าให้น้ำมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโคนเน่า

2.ไม่ควรฉีดพ่นสารเคมีใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นเก็บเกี่ยวเร็ว

การให้ปุ๋ย เมื่อต้นกล้าอายุได้ 15 วัน หลังการถอนแยกต้นที่ชิดเกินไปออกให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46 – 0 – 0 และ 13 – 13 – 21 อัตรา 1 : 1 ปริมาณ 50 กิโลกรัม/ไร่ (โรยระหว่างแถวและพรวนดินกลบ)  

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 33 – 45 วัน แล้วแต่ฤดูกาล

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวโดยใช้มีดตัดในระดับดิน

2. ระวังอย่าให้ใบก้านใบหัก ช้ำ และอย่าให้สกปรกเปื้อนดิน

3. ผักที่เปียกน้ำต้องผึ่งให้แห้งเพื่อหลีกเลี่ยงการเน่าเสีย

4. บรรจุในตะกร้าพลาสติก กรุด้วยกระดาษทั้งตะกร้า

5. ขนส่งโดยรถห้องเย็น การขนส่งโดยรถธรรมดา ควรบรรจุน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกวางไว้ตรงกลางของภาชนะบรรจุ

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ใบมีสีเขียวสม่ำเสมอทั่วทั้งใบ ไม่มีใบเหลืองปะปน ไม่มีอาการปลายยอดไหม้ สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. ต้นมีความยาว 25 – 30 เซนติเมตร

      2. มีตำหนิจากโรค แมลง ใบหักและฉีกได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในภาชนะบรรจุ แต่ต้องไม่มีรอยช้ำ

      3. กลุ่มใบยอดหยิกได้เล็กน้อย และอาจมีการแตกแขนงได้บ้าง

      4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. ต้นมีความยาว 20 – 25 เซนติเมตร

      2. มีตำหนิจากโรค แมลง ใบหักและฉีกได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในภาชนะบรรจุ และมีรอยช้ำได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. กลุ่มใบยอดหยิกได้เล็กน้อย และอาจมีการแตกแขนงได้บ้าง

      4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ต้นมีความยาว 18 – 30 เซนติเมตร มีรอยช้ำได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ มีตำหนิจากแมลงใบหักและฉีกไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง ปวยเหล็งที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเตรียมสู่ตลาด

1. ตัดแต่ง คัดเลือกตำหนิทิ้ง

2. ถ้ามีอาการเหี่ยวมาก ควรแช่ในน้ำซึ่งมีส่วนประกอบของคลอรีน แล้วผึ่งให้แห้ง

3. บรรจุถุงพลาสติกเจาะรู

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 เปอร์เซ็นต์ เก็บรักษาได้นานประมาณ 10 วัน

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์