องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เซเลอรี่

ชื่อสามัญ  Celery

ชื่อวิทยาศาสตร์  Apium graveolens var. secalium

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป เซเลอรี่จัดเป็นพืชในวงศ์ Apiaceae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับพลาส์เล่ย์ มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศสวีเดนถึงอียิปต์ และอบิสซิเนีย ลักษณะลำต้นสั้นอยู่ระหว่างรากและก้านใบ ก้านใบอวบหนา ใบเป็นแบบ pinnate มีจำนวน 5-7 ใบต่อก้านใบ ก้านที่อยู่ด้านในมีขนาดเล็ก กรอบเรียก “ the heart” ก้านใบเป็นสันชัดเจน โคนก้านใบกว้าง มีแป้งและสารอาหารประเภทแป้งสูง ใบเรียกต่างๆ กัน เช่น riba, shanks หรือ ก้านใบ เรียก bunches, head หรือ stalks ก้านใบจะหนาและกรอบ ใบประกอบด้วยสาร Apiin (apigenin 7-apiosylglucoside) ที่ทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติในใบเซเลอรี่

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร เซเลอรี่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด อาทิ ทำซุป ผัดกับปลาหรือรับประทานสดในสลัด มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต คนเป็นโรคไตทานได้ เพราะมีโซเดียมต่ำ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

เซเลอรี่เป็นพืชที่ชอบสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำโดยเฉพาะเวลากลางคืน และก่อนเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการปลูกอยู่ระหว่าง 15.5 - 18 องศาเซลเซียส   และไม่ควรเกิน 24.0 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด-ด่างของดิน 6.5 - 7.0

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า เพาะกล้าอย่างประณีตในถาดหลุม เมื่อมีอายุได้ 25 วัน ย้ายลงถุงเพาะขนาดใหญ่ หลังย้ายกล้าลงถุง 20-25 วันย้ายลงปลูก

การเตรียมดิน ขุดดินตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย 14 วัน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ขี้ไก่   โบแรกซ์ ผสมคลุกกับดินให้ทั่วแปลง

การปลูก ย้ายกล้าปลูกใช้ระยะปลูกแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละฤดูกาล เช่น ฤดูหนาวปลูกระยะ 40+30 ซม. ฤดูฝน 25+25

การให้น้ำ สามารถให้ได้ทั้งแบบสปริงเกอร์หรือวางระบบการให้น้ำพร้อมปุ๋ย (fertigation)

การให้ปุ๋ย เมื่อพืชอายุได้ 25-30 วัน เก็บวัชพืชออก เด็ดหน่อที่เกิดใหม่ทิ้ง พร้อมใส่ปุ๋ย 15-15-15 และ 21-0-0 หรือ 15-0-0 ในอัตราผสมจำนวน 50 กก./ไร่ 1:1 โดยโรยปุ๋ยบนหลังแปลง ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรก 2 สัปดาห์ โดยใช้ปุ๋ย 15-15-15 และ 15-0-0 ในอัตราผสมจำนวน 50 กก./ไร่ 2:1 และปุ๋ยมูลไก่อัตรา 3 กำมือ/ต้น

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่อต้นมีความสูงประมาณ 45 ซม. ขึ้นไป (อายุ 2.5-3.5 เดือน )

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวโดยการตัดด้วยมีดคมๆ ที่ระดับดิน

2. ตัดส่วนของปลายใบทิ้ง

3. คัดเลือกส่วนที่มีตำหนิหรือก้านใบที่ไม่ตั้งตรงทิ้งไป

4. ผึ่งให้แห้งถ้าผักเปียกน้ำ

5. บรรจุในตะกร้าพลาสติกโดยมีกระดาษกรุทั้งตะกร้า

6. ลดอุณหภูมิเฉียบพลันให้เหลือประมาณ 3 องศาเซลเซียส

7. ขนส่งด้วยรถห้องเย็น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นเซเลอรี่ซึ่งสมบูรณ์ทั้งต้น มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ไม่แก่เกินไปจนก้านใบกลวง สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง  1. ความยาวของก้านใบหลังตัดแต่งมากกว่า 35 เซนติเมตร ก้านใบกอดกันแน่นดีพอสมควร

       2. ไม่แทงช่อดอก มีรอยแผลจากแมลงได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ มีรอยช้ำหรือตำหนิได้เล็กน้อย

       3. น้ำหนักต่อต้น 700 กรัมขึ้นไป

       4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. ความยาวของก้านใบหลังตัดแต่ง 30 - 35 เซนติเมตร ก้านใบกอดกันแน่นดีพอสมควร

       2. อาจเริ่มแทงช่อดอก มีรอยแผลจากแมลงได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ มีรอยช้ำและตำหนิได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ มีเสี้ยนได้เล็กน้อย

       3. กลุ่มใบอ่อนยาวและโผล่

       4. น้ำหนักต่อต้น 400 – 700 กรัม

       5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U   1. มีน้ำหนักต่อต้น 250 – 400 กรัม

      2. มีรอยแผลจากแมลงได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ มีรอยช้ำและตำหนิได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ มีเส้นใยได้บ้างเล็กน้อย

      3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง เซเลอรี่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเตรียมสู่ตลาด

1. ตัดแต่งและกำจัดส่วนที่เป็นตำหนิ

2. ตัดส่วนของใบอีกประมาณ 5 เซนติเมตร

3. บรรจุลงถุงพลาสติกทรงกระบอกเจาะรู หรือใช้เทปรัด

การเก็บรักษา อุณหภูมิ -0.5 – 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 - 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 1– 2 เดือน


เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์