องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

แตงโม

ชื่อวิทยาศาสตร์   Citrullus vulgaris Schard. 

ชื่อสามัญ Watermelon

วงศ์  CUCURBITACEAE

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป แตงโม เป็นผลไม้เมืองร้อน แตงโมเป็นไม้เถาวงศ์เดียวกับแตงกวา แคนตาลูปและฟัก ลำต้นเป็นเถาเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ใบมีลักษณะเว้าลึก 3-4 หยัก ก้านใบยาว ทั้งเถาและใบมีขนอ่อนปกคลุมผลแตงโมมีทั้งแบบกลม กลมรี และทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 15-40 ซม. เปลือกแข็ง สีเขียว สีเขียวเข้ม และสีเหลือง บ้างก็มีลวดลายสีขาวเป็นแถบยาวจากขั้วถึงปลายผล รสราติที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของแตงโมคือหวานกรอบ และฉ่ำน้ำ ในเนื้อมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กแทรกอยู่บริเวณใจกลางผล

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร แตงโมนิยมรัปประทานผลสด เนื้อมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โพแทสเซียมและวิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินเอ มีมากเป็นพิเศาในเนื้อสีแดง นอกจากนี้ยังมีสาร citrulline ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยถอนพิษสุราได้ และมีเอนไซม์ที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร น้ำแตงโม ช่วยให้ร่างกายขับปัสสาวะได้ดี ช่วยล้างไตและกระเพาะปัสสาวะ บรรเทาอาหารผิวหนังแห้งกร้านอันเนื่องมาจากภาวะเลือดเป็นกรด เพราะกินเนื้อสัตว์ ของทอด ขนมหวาน อาหารแป้งขัดขาว และเครื่องดื่มพวกกาแฟหรือน้ำอัดลมมากเกินไป น้ำแตงโมจะช่วยไม่ให้ร่างกายสะสมกรดยูริก อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไขข้อ และโรคเกาต์ ส่วนผลอ่อนนิยมนำมาประกอบอาหารคาว เช่น แกงส้ม แกงเลียง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แตงโมเป็นผลไม้ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี แต่ฤดูกาลของแตงโมจริง ๆ นั้นอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน แตงโมเป็นพืชที่หยั่งรากลึกมากกว่า 120 เซนติเมตร และต้องการดินที่อุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นมากพอ ฉะนั้นถ้ามีการไถพรวนหรือขุดย่อยดินให้มีหน้าดินร่วนโปร่ง และลึกก็จะช่วยป้องกันการขาดน้ำได้เป็นอย่างดีในระยะที่ต้นแตงโมกำลังเจริญเติบโต การเตรียมดินให้หน้าดินลึกร่วนโปร่งจะช่วยทำให้ดินนั้นยึดและอุ้มความชื้นได้มากขึ้น และเป็นทางเปิดให้รากแตงโมแทรกตัวเองลึกลงไปใต้ดินซึ่งจะช่วยให้รากหาอาหารและน้ำได้กว้างไกลยิ่งขึ้นและเป็นการช่วยทำให้พืชสามารถใใช้น้ำใต้ดินมาเป็นประโยชน์ได้อย่างดีอีกด้วย ถ้าจำเป็นต้องปลูกแตงโมในหน้าฝน ควรเลือกปลูกในดินที่มีการระบายน้ำดี คือ เป็นดินเบา หรือดินทราย แต่ถ้ามีที่ปลูกเป็นดินหนักหรือค่อนข้างหนักควรปลูกแงโมในหน้าแล้ง และขุดดิน หรือไถดินให้ลึกมากที่สุดจะเหมาะกว่า

การปลูกแตงโม ใช้เมล็ดพันธุ์หยอดเป็นหลุมให้แต่ละหลุมในแถวห่างกัน 90 เซนติเมตร ส่วนแถวของแตงนั้นควรให้ห่างจากกันเท่ากับความยาวของเถาแตงโม หรือประมาณ 2-3 เมตร ในดินทรายขุดหลุมให้มีความกว้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนในดินเหนียวขุดหลุมให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกที่ละเอียดคลุกเคล้ากับดินบน ใส่รองก้นหลุม ๆ ละ 4-5 ลิตร เตรียมหลุมทิ้งไว้ 1 วัน แล้วจึงลงมือปลูก หยอดหลุมละ 5 เมล็ด

การช่วยให้เมล็ดงอก สำหรับผู้ที่หยอดเมล็ดแตงโมในฤดูหนาว มักจะพบว่าแตงโมงอกช้า หรือไม่งอกเลย ทั้งนี้เพราะว่า ถ้าอุณหภูมิในดินปลูกต่ำกว่า 15.5 องศาเซลเซียส เมล็ดแตงโมจะไม่งอกโดยธรรมชาติ ฉะนั้นเพื่อขจัดปัญหาเมล็ดไม่งอกในฤดูหนาวควรทำการหุ้มเมล็ดโดยแช่เมล็ดแตงโมในน้ำอุ่น แล้วทิ้งไว้ 1 วันกับ 1 คืน แล้วเอาผ้าเปียกห่อวางไว้ที่อื่น ๆ ในบ้าน จะช่วยทำให้เมล็ดแตงโมงอกได้เร็วขึ้น และงอกได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อรากเริ่มโผล่ออกมาจากเมล็ด ก็เอาไปเพาะในถุงหรือกระทงใบตองได้ รอจนกล้ามีใบจริงแล้ว 2-3 ใบ จึงนำลงปลูกในไร่ หรือหากไม่สะดวกเพราะต้องการประหยัดแรงงาน ก็อาจนำเมล็ดที่งอกนั้นไปปลูกในแปลงได้เลย โดยหยอดลงในหลุมแบบเดียวกับหยอดเมล็ดที่ยังไม่งอก แต่ต้องให้น้ำในหลุมที่จะหยอดล่วงหน้าไว้ 1 วัน เพื่อให้ดินในหลุมชื้นพอเหมาะ หยอดเมล็ดที่งอกแล้วกลบดินทับหนาไม่เกิน 1 เซนติเมตร แล้วรดน้ำ ต้นแตงโมจะขึ้นมาสม่ำเสมอกันทั้งไร่

การให้ปุ๋ย 

ปุ๋ยคอก การใส่ปุ๋ยคอกให้แก่แตงโมก็มีความสำคัญมาก เพราะปุ๋ยคอกช่วยทำให้ดินร่วนโปร่ง ช่วยทำให้ดินมีธาตุอาหารมากขึ้น แล้วยังช่วยทำให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อยู่ในสภาวะสมดุลเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้นด้วย ควรใส่ปุ๋ยคอกในพื้นที่ปลูกจริง อัตราไร่ละ 2-4 ตัน

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี ควรใช้ปุ๋ยเคมีอัตราส่วน 1 : 1 : 2 ซึ่งได้แก่ปุ๋ยเคมี สูตร 10-10-20 เป็นต้น หรือใช้ปุ๋ยสูตรใกล้เคียงได้ เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ในอัตราไร่ละ 100-150 กิโลกรัม จะตัดสินใจใส่ปุ๋ยมากหรือน้อยก็ต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของดิน และราคาแตงโมประกอบกันด้วย ปกติแล้วจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ประมาณ 120-150 กก./ไร่ต่อฤดูปลูก

ผู้ปลูกแตงโมส่วนใหญ่ยังนิยมใส่ปุ๋ยเคมี ลงบนผิวดิน โดยหว่าน หรือวางเป็นกระจุกหน้าดิน แล้วรดน้ำเพื่อให้ปุ๋ยละลายน้ำลงไปสู่รากแตงดม การใส่ปุ๋ยวิธีดังกล่าวนี้ เป็นวิธีที่จะทำให้เปลืองปุ๋ยมาก รากพืชจะได้รับธาตุไนโตรเจนกับโปแตสเซียมจากปุ๋ยเคมีเท่านั้น แต่จะไม่ได้รับธาตุฟอสฟอรัสจากปุ๋ยเคมีนั้นเลย หรือได้รับก็ได้รับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตามปกติธาตุฟอสฟอรัสจะไม่เคลื่อนย้ายจากผิวหน้าดินลงไปสู่รากแตงโมแต่อย่างใด ซึ่งธาตุฟอสฟอรัสนั้นก็เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแตงโมมากพอสมควรทีเดียว

ฉะนั้น การใส่ปุ๋ยเคมี จึงควรใส่ไว้ใต้ดินเป็นกลุ่ม ๆ เช่น ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือใส่ไว้ใต้ผิวดินห่างจากโคนต้นแตงโม สัก 1 ฟุต ใส่เป็นกลุ่ม แตงโมจะได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่

การให้น้ำ ตามธรรมชาติต้นแตงดมต้องการผิวดินชุ่มชื้น แต่ไม่ถึงกับแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ผลแตงโมกำลังเจริญเติบโต เป็นตอนที่ต้นแตงโมต้องการน้ำมากการให้ความชุ่มชื้นแก่ดินในแปลงควรให้ทั้งแปลงเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินแห้งแข็งและจับปึก ซึ่งจะทำให้ดินขาดอากาศอ๊อกซิเจน ถ้าดินขาดอากาศเมื่อใด รากแตงโมจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตเมื่อนั้น ซึ่งหมายถึงว่าต้นแตงโมจะได้รับน้ำ และธาตุอาหารอยู่ในขอบเขตที่จำกัดไปด้วย ดินที่ขาดน้ำแล้วแห้งแข็งทำให้ขาดอากาศไปด้วยนั้นคือดินเหนียว และดินที่ค่อนข้างหนัก ส่วนดินทรายและดินร่วนทราย รากแตงโมจะไม่ขาดอากาศ แม้ว่าจะขาดน้ำก็ตาม ดินร่วนทรายและดินทรายสามารถไถพรวนในหน้าดินลึกมาก ๆ ได้ เพื่อให้สามารถยึดจับความชื้นที่เราให้ไว้ได้มากขึ้น ส่วนดินเหนียวนั้นไม่สามารถไถพรวนให้ลึก เท่าดินทราย หรือดินร่วนทรายได้ เพราะเนื้อดินทั้งเหนียวและแน่นอุ้มน้ำไว้ในตัวได้มากกว่าดินทราย แต่ก็คายน้ำออกจากผิวดินได้ไวมาก และดูดซับความชื้นได้ตื้นกว่าดินทราย หรือดินร่วนทราย จึงทำให้ต้องให้น้ำกับต้นแตงโมที่ปลูกในดินเหนียวมากกว่า คือต้องให้น้ำอย่างน้อย 5 วันครั้ง หรือรดน้ำทุกวัน ๆ ละครั้ง

การคลุมด้วยฟาง เมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง เราควรจะปิดคลุมหน้าดินด้วยฟาง การคลุมดินด้วยฟางจะมีผลดังนี้ คือ

-ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้คงอยู่ได้นาน ทำให้รากแตงโมดูดซับธาตุอาหารในดินได้ติดต่อกันโดยไม่ขาดตอน

-ทำให้ต้นแตงโมเป็นโรคทางใบน้อยลง เพราะต้นและเถาเลื้อยอยู่บนฟางไม่ได้สัมผัสกับดิน

-ป้องกันไม่ให้ดินร้อนจัดเกินไป

-เป็นการรองผลทำให้สีของผลสม่ำเสมอ

-ควบคุมไม่ให้หญ้าขึ้นและเจริญเติบโตมาแข่งกับแตงโม เพราะแตงโมแพ้หญ้ามากเนื่องจากหญ้าส่วนใหญ่มีใบปรกดิน เถาแตงโมนั้นทอดนอนไปกับผิวดิน หากหญ้าขึ้นคลุมแตงโมเมื่อใด หญ้าจะบังใบแตงโมไม่ให้ถูกแดดทำให้ใบแตงโมปรุงอาหารไม่ได้เต็มที่ และจะอ่อนแอลงทันทีในที่สุดจะตายหมด ภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ เท่านั้น

การคลุมฟางจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของแตงโมมาก ในต่างประเทศนิยมใช้พลาสติกสำหรับคลุมแปลง ซึ่งสะดวกในการปฏิบัติมาก และขณะนี้วัสดุดังกล่าวเริ่มนำมาใช้ในการปลูกแตงเทศในภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว

การจัดเถา ถ้าปล่อยให้เถาแตงโมเลื้อยและแตกแขนงไปตามธรรมชาติเถาแตงของแต่ละต้นก็จะเลื้อยทับกัน และซ้อนกันจนหนาแน่นทำให้ผลผลิตลดน้อยลง สืบเนื่องมาจากแมลงช่วยผสมเกสรได้ไม่ทั่วถึงเพราะไม่อาจแทรกหาดอกได้ทั้งหมด ฉะนั้น เมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตไปจนมีความยาว 1-2 ฟุต ควรได้มีการจัดเถาให้เลื้อยไปในทางเดียวกันและตัดเถาให้เหลือไว้ต้นละ 4 เถา เถาที่เป็นเถาแขนงก็จะแตกแขนงต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ จึงควรริดแขนงที่ไม่จำเป็นเหล่านั้นออก ให้คงเหลือไว้ต้นละ 4 เถา ซึ่งเป็นเถาที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ตามเดิม

การช่วยผสมเกสรด้วยมือ (การต่อดอก) ผู้ปลูกแตงโม มักประสบปัญหาแตงโมไม่ติดผล เนื่องจากไม่มีแมลงช่วยผสม เพราะใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นต้นแตงโมมากไปและไม่เลือกเวลาฉีด ทำให้แมลงที่ช่วยผสมเกสร เช่น ผึ้งถูกสารฆ่าแมลงตายหมด จึงเกิดปัญหาไม่มีผึ้งช่วยผสมเกสรจึงต้องใช้คนผสมแทน เราสามารถผสมพันธุ์แตงโมได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 10.00 น. หลังจากเวลา 10.00 น. ไปแล้ว ดอกตัวเมียจะหุบและไม่ยอมรับการผสมเกสรอีกต่อไป การผสมด้วยมือทำได้โดยเด็ดดอกตัวผู้ที่บานมาปลิดกลีบดอกสีเหลืองของดอกตัวผู้ออกเสียก่อน จะเหลือแต่อับเรณู ซึ่งมีละอองเกสรตัวผู้เกาะอยู่ทั่วไป จากนั้นจึงคว่ำดอกตัวผู้ลงบนดอกตัวเมียให้อับเรณูของดอกตัวผู้ แตะสัมผัสกับเกสรตัวเมียโดยรอบให้ละอองเกสรตัวผู้สีเหลืองจับอยู่บนเกสรตัวเมียทั่วกันทั้งดอกก็เป็นอันเสร็จสิ้นการผสมซึ่งวิธีนี้ชาวบ้านเรียกว่า "การต่อดอก"

การปลิดผลทิ้ง แตงโมผลแรกที่เกิดจากเถาหลัก ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและคุณภาพต่ำ เราควรปลิดทิ้งตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ และแตงที่มีลักษณะผลบิดเบี้ยวก็ควรปลิดทิ้งด้วย ขนาดที่ปลิดทิ้งไม่ควรปล่อยให้โตเกินลูกปิงปอง หรือผลฝรั่ง แตงที่ปลิดทิ้งนี้สามารถขายเป็นผลแตงอ่อนได้ และตลาดยังนิยมอีกด้วย ควรเลี้ยงต้นแตงโมไว้เถาละลูกจะดีที่สุด เถาแตงโมเถาหนึ่ง ๆ อาจติดเป็นผลได้หลายผล ให้เลือกผลที่มีก้านขั้วผลขนาดใหญและรูปทรงผลได้รูปสม่ำเสมอทั้งผลไว้ ซึ่งจะทำให้ผลแตงโมมีขนาดใหญ่และมีคุณภาพสูง เพราะขนาดก้านขั้วผลมีความสัมพันธ์กับขนาดของผล ถ้าก้านขั้วผลใหญ่ ผลก็จะใหญ่ ถ้าก้านขั้วผลเล็กผลก็จะเล็ก

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

การเก็บเกี่ยว แตงโมเป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่ผลแก่แล้วไม่แสดงอาการว่าสุกงอมให้เห็นเหมือนผลมะเขือเทศ หรือพริก ซึ่งจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดง หรือไม่เหมือนกับมะม่วง ซึ่งทั้งเปลี่ยนสีแล้วยังมีกลิ่นหอมด้วย ฉะนั้นการดูว่าแตงโมแก่เก็บได้หรือยัง จึงต้องพิถีพิถันมากกว่าปกติอีกเล็กน้อย คือ คาดคะเนการแก่ของผล ด้วยการดูลักษณะที่พบได้ทั่วไปเมื่อแตงโมแก่

- มือเกาะที่อยู่ใกล้กับขั้วของผลมากที่สุดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้งเป็นบางส่วนจากปลายมาหาโคน

- วัดความแก่อ่อนของผลแตงโมได้จากการดีดฟังเสียงหรือตบผลเบา ๆ ฟังเสียงดูถ้ามีเสียงผสมกันระหว่างเสียงกังวานและเสียงทึบ แตงจะแก่พอดี (แก่ 75%) มีเนื้อเป็นทรายถ้าดีดแล้วเป็นเสียงกังวานใส แสดงว่าแตงยังอ่อนอยู่ ถ้าดีดแล้วเสียงทึบเหมือนมีลมอยู่ข้างใน แตงจะแก่จัดเกินไปที่ชาวบ้านเรียกว่า "ไส้ล้ม" (แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับผลแตงที่เป็นโรคเถาตาย ควรเก็บผลตอนบ่ายไม่ควรเก็บผลตอนเช้าเพราะจะทำให้ผลแตงแตกได้

- สังเกตนวลของผล ถ้าจางลงกว่าปกติแสดงว่าแตงเริ่มแก่

การจัดการในแปลงปลูก

  • เก็บเกี่ยวที่ดัชนีการเก็บเกี่ยวเหมาะสม โดยตัดขั้วด้วยกรรไกร
  • บรรจุลงในตะกร้าพลาสติกกรุรองด้วยกระดาษหรือฟองน้ำ
  • ขนส่งโดยรถธรรมดาหรือรถห้องเย็น
  • หลีกเลี่ยงการขนส่ง หรือเก็บรักษารวมกับผลิตผลที่สังเคราะห์เอทธิลีนมาก
  • มีความหวาน (ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้) 12 องศาบริกซ์ขึ้นไป

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ สด สะอาด รูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรคหรือแมลง ตลอดจนรอยแผลต่างๆ ปลอดภัยจากสารเคมี

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 5 – 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 – 90 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 2 – 3 สัปดาห์

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์