องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เห็ดกินได้และเห็ดพิษ

เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเราจะพบว่ามีเห็ดมากมายหลายชนิดถูกนำออกมาวางขายตามข้างทางหรือในตลาด มีทั้ง เห็ดห้า (ตับเต่า) เห็ดโคน เห็ดถอบ (เห็ดเผาะ) เห็ดแดง เห็ดหล่ม เห็ดขมิ้น เห็ดไข่ ซึ่งเป็นเห็ดที่มีรสชาติดีเป็นที่นิยมนำมารับประทาน แต่ก็ยังมีข่าวการกินเห็ดพิษเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากความเข้าใจผิดในลักษณะรูปร่างที่คล้ายคลึงกันกับเห็ดที่เคยรับประทาน หรือมีการเก็บเห็ดปะปนกันมาจากบริเวณที่เคยเก็บ ซึ่งอาจมีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดเบื่อ (เห็ดเมา หรือเห็ดพิษ) โดยนำมาคัดแยกในภายหลัง ทั้งนี้การเก็บเห็ดป่ามีองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นในชุมชน ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีจำนวนผู้รู้ลดลงเนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของชุมชน อีกทั้งการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาสารเคมีโดยเฉพาะที่อยู่ใกล้บริเวณป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของเห็ด อาจทำให้มีสารเคมีปนเปื้อนไปกับดอกเห็ดและทำให้เห็ดกินได้กลายเป็นพิษ จึงควรมีการคัดแยกเห็ดก่อนนำมารับประทาน

ตัวอย่างลักษณะของเห็ดกินได้และเห็ดพิษ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับเห็ด

การเก็บเห็ด

  • ไม่กินเห็ดที่ไม่รู้จัก
  • เก็บเห็ดที่มีรอยแมลงกัดกิน ซึ่งบ่งชี้ว่าเห็ดนั้นไม่เป็นพิษ
  • หลีกเลี่ยงเห็ดที่มีรอยกัดแทะของเต่า/กระต่าย เนื่องจากเต่า/ กระต่ายกินเห็ดพิษได้
  • ไม่กินเห็ดสีสันฉูดฉาด เนื่องจากเห็ดพิษจะมีสีฉูดฉาด แต่เห็ดที่รับประทานได้จะมีสีอ่อน
  • ไม่กินเห็ดที่เก็บจากป่าสน เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเห็ดพิษมาก

การทดสอบเห็ดพิษ

การทดสอบเห็ดพิษเบื้องต้นทั้ง 6 วิธีดังกล่าว ยังไม่สามารถทดสอบพิษของเห็ดได้อย่าง 100 % เนื่องจากคุณสมบัติของสารพิษมีความแตกต่างกัน วิธีที่ดีที่สุด คือ รับประทานเห็ดที่เคยบริโภคแล้ว และต้องสังเกตแหล่งที่มาของเห็ดด้วย ถึงแม้จะทราบว่าเป็นเห็ดกินได้ แต่หากพบเห็ดอยู่ติดกับพื้นที่ทำการเกษตรไม่ควรเก็บมาบริโภค เนื่องจากอาจกลายสภาพเป็นเห็ดพิษได้ เพราะการใช้สารเคมีในแปลงเกษตร

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษ

เมื่อรู้ว่ารับประทานเห็ดพิษเข้าไปหรือเมื่อมีอาการ จะต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนอาหารออกมาให้มากที่สุด พร้อมกับดื่มน้ำอุ่นผสมถ่านบดละเอียดร่วมกับทำอาเจียน 2-3 ครั้ง เนื่องจากผงถ่านมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษ หากผู้ป่วยอาเจียนยากให้ผสมเกลือแกง 3 ช้อนชากับน้ำอุ่นดื่มด้วยจะทำให้อาเจียนง่ายขึ้น แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันทีพร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ (หากยังเหลืออยู่)


เรียบเรียง
สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

เอกสารอ้างอิง
สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย. 2543. เห็ดพิษ. บริษัท นิวธรรมดาการพิมพ์ (ประเทศไทย) จำกัด กรุงเทพฯ. 63 หน้า