องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสชี้แนะทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยตลอด นานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น สามารถดำเนินอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายใต้ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ซึ่งการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ดังนี้

๓ ห่วง ประกอบด้วย

๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจ เกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นอย่างรอบคอบ

๓. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

 

๒ เงื่อนไข เพื่อนำไปสู่สมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

๑.เงื่อนไขความรู้ คือ มีความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ใช้สติในการดำเนินชีวิต

๒. เงื่อนไขคุณธรรม คือ มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความอดทน มีความเพียรและใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

การทำเกษตรทฤษฎีใหม่

เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เป็นแนวทางการพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีการใช้อย่างมีความคุ้มค่า และยั่งยืน ดำเนินไปตามลำดับขั้นด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง มีภูมิคุ้มกัน อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ส่งผลให้ครอบครัวมีความสุข

“เกษตรทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริ

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ในโอกาสต่างๆ พอจะสรุปความหมายของ “ทฤษฎีใหม่ (New Theory)”  ได้ดังนี้ แนวทางการปฏิบัติและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่จำกัด ประมาณ ๑๐-๑๕ ไร่ ไหม้มีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างพอเพียงตลอดปี โดยมีเป้าหมายขั้นต้นที่จะให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองได้ (self-sufficiency) ในระดับที่ประหยัดก่อน ให้มีความมั่นคงด้านอาหาร (food security) คือให้สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการ

 

 

 คลิกรายละเอียด

แหล่งข้อมูล : อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
https://www.royalparkrajapruek.org/