องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การปลูกมะม่วง

วงศ์ Anacardiaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica L.

ถิ่นกำเนิดมาจากเขตติดต่อระหว่างอินเดียและพม่า ปัจจุบันพบมะม่วงในตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮาวาย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เวสอินเดีย อาฟริกาตะวันออกและใต้ อียิปต์ และ อิสราเอล สำหรับในประเทศไทยมะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ แต่ในมูลนิธิโครงการหลวง มะม่วงที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นมะม่วงพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเกษตรกรในพื้นราบประกอบกับมะม่วงพันธุ์ต่างประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะที่น่าสนใจโดยเฉพาะสีสันและรูปร่างผล นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่อากาศเย็น แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว และหนองเขียว

ในสภาพภูมิอากาศบนพื้นที่สูงที่ค่อนข้างเย็น ทำให้มะม่วงที่ปลูกในเขตร้อนให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดได้มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้นำมะม่วงพันธุ์จากต่างประเทศมาทำการศึกษาวิจัยจนสามารถปลูกและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นและมะม่วงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากมะม่วงที่ปลูกในที่ราบทั่วไป เช่น รูปร่าง ลักษณะ และสีสัน ที่สำคัญฤดูกาลเก็บเกี่ยวไม่ตรงกับมะม่วงในพื้นที่ราบ จึงเป็นไม้ผลที่มีโอกาสทางตลาดชนิดหนึ่ง ปัจจุบันโครงการหลวงส่งเสริมการปลูกมะม่วงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ผ่านการวิจัยและให้ผลดี มีคุณภาพให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า 4 พันธุ์คือ

1. พันธุ์นวลคำ (Nualknum) เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะผลกลมยาว ก้นผลงอนและค่อนข้างแหลม ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 600-1300 กรัมต่อผล

2. พันธุ์ปาล์มเมอร์ (Palmer) ผลมีรูปร่างขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 15.2 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 700 กรัมต่อผล ขั้วผลมีสีเหลืองส้มแต้มสีแดง จุดบนผลใหญ่และมีจำนวนมาก

3. พันธุ์อาร์ทูอีทู (R2E2) ผลค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักประมาณ 800 กรัมต่อผล เมื่อสุกผิวผลจะมีสีเหลืองส้ม เนื้อสีเหลืองมะนาว

4. พันธุ์เออร์วิน (Erwins) ผลมีขนาดปานกลาง ยาว 12.7 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 300 กรัมต่อผล รูปร่างค่อนข้างยาวรีหรือรูปไข่ ผลดิบมีจุดปะสีแดงบริเวณไล่และแก้มผล ผิวผลสุกจะมีสีแดงปะสีเลือดนก

การปลูกและการบำรุงรักษา

วิธีการปลูกมะม่วง

1. การเตรียมดิน สามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

1.1 การปลูกมะม่วงในพื้นที่มีน้ำแฉะขัง หรือการระบายน้ำไม่ดีหรือมีระดับน้ำใต้ดินสูง ซึ่งพบในพื้นที่สูงที่เป็นพื้นที่นามาก่อน จะต้องยกร่อง ระหว่างแปลงปลูกทำเป็นร่องน้ำหรือร่องระบายน้ำ ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูร้อนและระบายน้ำได้ในฤดูฝน

1.2 การปลูกมะม่วงในสภาพพื้นที่ดอน พื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอนควรมีการเตรียมพื้นที่ให้สะอาด และจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและในกรณีที่พื้นที่มีความลาดชันสูง เช่น การทำขั้นบันไดดิน การทำคูรับน้ำขอบเขาหรือการปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น จากนั้นก็สามารถกำหนดระยะปลูกเพื่อเตรียมขุดหลุมปลูกได้

2. ระยะการปลูก

ปัจจุบันการปลูกมะม่วงมีระบบการปลูกอยู่ 2 ลักษณะคือ ระบบการปลูกชิดและระบบการปลูกห่าง ในการปลูกชิดนั้นยังไม่แนะนำเพราะเป็นการลงทุนสูงและต้องใช้แรงงานในการดูแลรักษามากกว่าการปลูกแบบห่าง ในการปลูกแบบห่างปกติแล้วมักจะใช้ระยะปลูกประมาณ 8-10 x 8-10 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ไร่ละประมาณ 16-25 ต้น ขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำจะใช้ระยะปลูกถี่ เพราะมะม่วงจะโตช้า แต่ดินที่อุดมสมบูรณ์จะปลูกห่าง เพราะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันอาจปลูกให้ถี่ขึ้น โดยใช้ระยะ 4x6 เมตร หรือ 5x7 เมตร เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

3. การขุดหลุมปลูก

เมื่อขุดหลุมแล้วนำเอาดินที่ได้จากหลุมที่ขุดนั้นมาคลุกเคล้ากับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก จำนวนที่ใส่ประมาณ 1-4 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของหลุม และควรผสมปุ๋ยร็อกฟอสเฟตอีก 1-2 กิโลกรัมต่อหลุม จากนั้นกลบดินลงไปในหลุมให้เต็ม

4. วิธีการปลูก

ในการปลูกนั้นเมื่อขุดหลุมเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วก็จะกลบดินที่ผสมปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกให้พูนสูงกว่าระดับดินเดิม 20-30 เซนติเมตร นำกิ่งพันธุ์มะม่วงมาปลูกโดยตรวจสอบว่ากิ่งพันธุ์นั้นมีรากขดกันเป็นก้อนที่เรียกว่า รากขัดสมาธิหรือไม่ ถ้ามีต้องตัดออกก่อน เพราะจะทำให้ระบบรากไม่แผ่กระจายออก ทำให้ต้นแคระแกร็น จากนั้นเจาะหลุมและนำมะม่วงต้นกล้าลงปลูกโดยให้รอยแผลของกิ่งทาบอยู่เหนือดิน ใช้ไม้รวกปักแล้วใช้เชือกมัดยึดกับลำต้นเพื่อกันลมโยก ถ้าแสงแดดจัดอาจพรางแสงด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ทางมะพร้าว โดยพรางแสงแดดทางทิศตะวันตกเพราะในช่วงบ่ายที่อุณหภูมิของวันจะสูงที่สุด สำหรับผ้าพลาสติกพันรอยทาบควรนำออกหลังจากการปลูกไปแล้ว 2-3 เดือน เพื่อป้องกันรอยทาบจะแยกจากกัน เมื่อปลูกเสร็จแล้วใช้มือกลบดินบริเวณโคนกิ่งให้แน่นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม เพื่อให้ดินจับแน่นกับราก สำหรับการปลูกต้นตอที่เพาะจากเมล็ดลงไปในแปลงก่อนก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่อาจจะพิถีพิถันน้อยกว่าการปลูกด้วยต้นพันธุ์ ในการปลูกต้นตอก่อนนั้นจะมีประโยชน์คือ ประหยัดค่าใช้จ่ายและต้นมีระบบรากแก้วที่แข็งแรง แต่จะต้องเสียเวลามาเปลี่ยนยอดพันธุ์ให้เป็นพันธุ์ดีภายหลังเมื่อต้นตั้งตัวแล้ว ปกติมักจะเปลี่ยนยอดพันธุ์หลังจากการปลูกไปแล้ว 8 เดือน

5. การให้น้ำ

ปกติแล้วการปลูกมะม่วงจะทำในฤดูฝนซึ่งสภาพอากาศชุ่มชื้น แต่ถ้าหากหลังจากปลูกไปแล้วฝนไม่ตก จำเป็นจะต้องรดน้ำทุก 2-3 วัน เมื่อมะม่วงตั้งตัวได้ก็สามารถขยายระยะการให้น้ำเป็น 3-5 วันต่อครั้ง และ 7-10 วันต่อครั้ง ตามลำดับ และเมื่อผ่านพ้นปีแรกไปแล้วอาจจะให้น้ำทุก 15-20 วัน เพื่อไม่ให้ต้นมะม่วงชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งปกติแล้วในสภาพพื้นที่ยกร่องจะมีปัญหาน้อยกว่าที่ดอน เนื่องจากระดับน้ำใต้ดินสูง

6. การใส่ปุ๋ย

- ปุ๋ยอินทรีย์

เป็นปุ๋ยที่ได้จากซากพืชซากสัตว์ ช่วยให้ดินโปร่งอากาศและน้ำซึมผ่านได้สะดวกแก้ไขดินเหนียวให้ร่วน ช่วยให้ดินทรายจับตัวกันดีขึ้น และทำให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เป็นประโยชน์ต่อต้นไม้มากขึ้น ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารทุกอย่างครบ แต่มีอยู่ในปริมาณต่ำจึงควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์จะเป็นประโยชน์ต่อต้นมะม่วงยิ่งขึ้น

- ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากสินแร่ในธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะให้ธาตุอาหารต่อน้ำหนักมากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ ปริมาณปุ๋ยที่จะให้ในแต่ละต้นคิดเป็นจำนวนกิโลกรัมนั้น คำนวณได้จากอายุของต้นมะม่วงเป็นปี หารด้วยสองเท่ากับจำนวนปุ๋ยกิโลกรัมของปุ๋ย หรือใช้เส้นผ่าศูนย์กลางของพุ่มต้นมะม่วงเป็นเมตรเท่ากับจำนวนกิโลกรัมของปุ๋ยต่อต้นต่อปีก็ได้ การใส่ปุ๋ยมะม่วงในแต่ละระยะทำได้ดังนี้

- ระยะหลังตัดแต่งกิ่ง ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 2 กิโลกรัม เพื่อให้กิ่งก้านใบที่แตกออกมามีความสมบูรณ์แข็งแรง และใส่ปุ๋ยคอก 4-5 บุ้งกี๋ร่วมเข้าไปด้วย

- ระยะก่อนหมดฤดูฝน คือช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ต้องการให้มะม่วงหยุดการเจริญเติบโตทางกิ่งก้าน และเตรียมตัวสำหรับการออกดอก ระยะนี้ควรลดปริมาณปุ๋ยธาตุไนโตรเจนให้ต่ำลง ถ้าเป็นดินร่วนหรือดินทรายแนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 แต่ในดินเหนียวแนะนำให้ใช้สูตร 12-24-12 ต้นละ 2 กิโลกรัม

- ระยะก่อนออกดอก ระยะก่อนออกดอกแต่ยังไม่แทงดอก เป็นช่วงที่บางครั้งจะมีฝนหลงฤดูหรือในบางเขตที่ฝนหมดช้า จะให้ปุ๋ยทางใบเพื่อกดไม่ให้แตกใบอ่อนอาจใช้ปุ๋ยสูตร 0-52-34 หรือ NB. 86 ฉีดพ่นอัตรา 100-150 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้งห่างกัน 10-14 วัน 

- ระยะติดผล เมื่อผลมะม่วงติดผลขนาดหัวไม้ขีดจนถึงอายุ 12 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่ผลมะม่วงมีการเจริญเติบโตของผลอย่างรวดเร็ว ถ้าติดผลดกและอาหารไม่เพียงพอ ผลจะเล็กแคระแกร็น ในระยะนี้ในแหล่งที่มีน้ำชลประทานแนะนำให้ใส่ปุ๋ยทางดินสูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 1-2 กิโลกรัม แต่ในแหล่งที่ไม่มีน้ำให้ใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 21-21-21 ในอัตรา 2-3 ช้อนแกงผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 2 สัปดาห์ ประมาณ 5 ครั้ง 

- ระยะก่อนการเก็บเกี่ยว เป็นระยะที่เมล็ดของมะม่วงมีเปลือกหุ้มเมล็ดเริ่มแข็งขึ้นโดยทั่วไปเรียกว่า “เข้าไคล” อาจเพิ่มคุณภาพผลด้านความหวานิความกรอบ โดยใช้ปุ๋ยทางใบ เช่น 13-0-46 หรือ โพแทสเซี่ยมคลอไรด์ 0-0-60 อัตรา 50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ห่างกันหนึ่งสัปดาห์ก็ได้

7. การปลิดผลและตัดแต่งก้านผล

มะม่วงมีลักษณะการออกดอกเป็นช่อ จึงมักจะมีการติดผลได้มากกว่า 1 ผลในช่อ ดังนั้นเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดีจึงต้องทำการปลิดผลให้เหลือ 1-2 ผลต่อช่อ เท่านั้น เพื่อให้ผลได้รับอาหารและแสงอย่างเต็มที่ โดยเลือกตัดเอาผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง และนอกจากนี้ยังต้องตัดแต่งเอาก้านแขนงของช่อดอกที่ไม่ติดผลออกด้วย เพราะจะเสียดสีทำให้ผิวผลไม่สวย

โรคและแมลงศัตรูมะม่วง 

โรคและแมลงในระยะแตกยอดใหม่จนถึงระยะใบแก่

แมลงที่สำคัญในระยะนี้ คือ

1. หนอนผีเสื้อเจาะยอดอ่อนมะม่วง (Chlumetia transversa Walker) ตัวเต็มวัยจะวางไข่หรือกิ่งอ่อน ยอดอ่อน เมื่อฟักเป็นตัวหนอน หนอนเจาะกินเข้าไปอยู่ในยอดอ่อน ทำให้ยอดอ่อนเหนือรอยเจาะเหี่ยวแห้ง

2. ด้วงงวงกัดใบไม้ (Hypomeces squamosus F.) เรียกว่าแมลงค่อมทอง หรือแมงสะแกง ตัวเต็มวัยสีเขียวใบไม้ปนน้ำตาล มีความยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ด้วงวางไข่จามก้านใบทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยกัดกินใบ ถ้าหากทำลายมากจะทำให้เหลือแต่ยอด

3. ด้วงตัดใบ (Deporaus marginatus Pascoe) ด้วงชนิดนี้ตัวเต็มวัยสีน้ำตาล ขนาดลำตัวกว้าง 3 มิลลิเมตร ยาว 6 มิลลิเมตร ชอบทำลายใบขณะใบอ่อนเริ่มคลี่ โดยกัดกินผิวใบด้านล่างของใบ ทำให้ด้านบนแห้ง ถ้าทำลายมากทำให้ใบร่วงเหลือแต่ยอดกิ่ง การวางไข่จะวางไข่ที่ใบอ่อนและกัดเส้นกลางใบขาดห้อยให้ตัวอ่อนม้วนกินอยู่ เมื่อลมพัดใบจะขาดร่วงลงดิน ใบที่เหลือจึงขาดวิ่น

4. เพลี้ยไฟ (Scirtothrips dorsalis) ตัวขนาดเล็กมาก สีเหลืองอ่อนหรือส้ม เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน หรือตามด้านล่างของใบอ่อน โดยเฉพาะบริเวณปลายใบ ยอดอ่อนที่เพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงจะมีสีน้ำตาล ใบที่ถูกทำลายบริเวณปลายใบและขอบใบไหม้ ขอบใบม้วนลง ใบอาจแห้งถึงครึ่งใบ

5. หนอนชอนเปลือกกิ่งมะม่วง (Spulerina isonoma Meyrick) ในระยะแตกยอดใหม่ใกล้แก่หรือระยะใบเพสลาดมักมีหนอนผีเสื้อกินใต้ผิวเปลือกของกิ่ง กินถึงไหนจะทำให้เปลือกกิ่งที่มีสีเขียวเปลี่ยนเยื่อสีน้ำตาล ตัวหนอนขนาดเล็กจะอยู่ภายใน ถ้าหลายตัวกัดกินรอบกิ่งทำให้ยอดที่แตกใหม่แห้งตายได้

6. เพลี้ยจักจั่นหรือแมงกะอ้า (Idioscopus sp.) เป็นแมลงขนาดเล็กตัวยาว 3.5-4 มิลลิเมตร หัวป้านท้องเรียวลงเล็กน้อยมีขาคู่หลังกระโดได้ดี ลำตัวสีเขียวอ่อนออกน้ำตาล มีจุดเล็กๆสีดำหรือเหลืองประปรายทั่วตัว วางไข่ตามด้านใต้เส้นแถบกลาง ยอดอ่อน เมื่อฟักเป็นตัวจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ส่วนต่างๆ เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน ทำให้แห้ง ถ้าเป็นกับช่อดอกทำให้ช่อดอกแห้งหรือผลร่วงในระยะเล็ก

โรคที่สำคัญ ในระยะนี้มักจะพบว่าเป็นกับใบอ่อน กิ่งอ่อน ใบแก่ ช่อดอก ผลอ่อน และผลในที่บ่ม ก็คือ

1. โรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum gloeosporioides) เชื้อจะอยู่ทั่วไปในอากาศและตามส่วนต่างๆของมะม่วงที่เป็นโรค เชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูง เช่น ในช่วงฝนตกชุก ช่วงที่มีหมอกน้ำค้างมาก เชื้อจะระบาดรวดเร็ว ดังนั้นในระยะแตกกิ่งใหม่จึงควรป้องกันไม่ให้มะม่วงเป็นโรค อาการของโรค เมื่อเชื้อเข้าทำลายใบอ่อนจะเห็นเป็นแผลเล็กๆ สีน้ำตาล ถ้าเป็นมากจะลุกลามทำให้ใบแห้งและร่วงได้ ถ้าเกิดกับกิ่งอ่อนทำให้กิ่งแห้งตายจากยอดลงมาในกิ่งแก่ถ้าเกิดแผลเชื้อก็จะเข้าทำลายได้ ถ้าเกิดบนผลทำให้ผลเน่าและบริเวณที่ถูกทำลายเป็นสีดำ บางครั้งทำความเสียหายในขณะขนส่งและขณะบ่ม ถ้าโรคแอนแทรคโนสระบาดในระยะมะม่วงแทงช่อดอก จะทำให้ช่อดอกหรือส่วนของดอกเหี่ยวเป็นสีน้ำตาล หลังจากนั้นดอกจะร่วงหล่นไป ในระยะผลอ่อนทำให้ผลอ่อนร่วง

การป้องกันกำจัดแมลงและโรคในระยะแตกยอดใหม่จนถึงระยะใบแก่

1.หนอนเจาะยอดและด้วงกัดกินใบ ควรป้องกันในระยะเริ่มแทงยอดใหม่ ขนาดประมาณ 2.54 เซนติเมตร โดยฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงคาบาริล ชื่อการค้า เซฟวิน 85 อัตรา 2-3 ช้อนแกง ผสมน้ำ 1 ปี๊บ

2.เพลี้ยไฟหนอนชอนเปลือกกิ่ง และเพลี้ยจั๊กจั่น ถ้าพบระบาดควรใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น ไดเมธโอเอท ในอัตรา 30-40 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตรหรือสารไพรีทรอย

3.โรคแอนแทรคโนส ใช้สารเคมีกำจัดโรคไซแนบผสมมาแนบ ชื่อการค้า เช่น เอชินแมก ไดเทนเอ็ม-45 และไตรแมนโซน ใช้อัตรา 2-3 ช้อนแกงผสมน้ำ 1 ปี๊บ หรือสารเคมีกำจัดโรคเบโนมิล เช่น เบนเลท หรือฟันตาโซล หรือยาคาเบนดาซิมก็ได้

การใช้สารเคมีกำจัดแมลงกับสารเคมีกำจัดโรคในตัวยาที่กล่าวมาแล้วสามารถผสมกันได้ โดยไม่เกิดอันตรายต่อมะม่วงที่ปลูกและในระยะแตกใบอ่อนจนเป็นใบแก่ ขอแนะนำให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและโรคประมาณ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในระยะเริ่มแทงยอดใหม่ขนาด 2.54 เซนติเมตร ฉีดพ่นยาครั้งที่ 2 หลังฉีดครั้งแรก 10-14 วัน และฉีดพ่นครั้งที่ 3 หลังฉีดพ่นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 10-14 วัน เช่นกัน

โรคและแมลงศัตรูในมะม่วงระยะแทงช่อดอกและติดผล

แมลงศัตรูที่สำคัญในระยะแทงช่อดอกถึงติดผล

1. หนอนผีเสื้อเจาะช่อดอกอ่อน เป็นชนิดเดียวกับหนอนผีเสื้อเจาะยอดอ่อน

2.  ด้วงงวงกัดกินดอก เป็นชนิดเดียวกับด้วงงวงกัดกินใบ

3. เพลี้ยไฟช่อดอก ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ช่อดอก ทำให้ดอกแห้งหรือช่อดอกไม่ยืดแก ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผลอ่อนทำให้ผลอ่อนบิดเบี้ยวหรือเปลี่ยนสีเป็นแบบเดียวกับสีของละมุด

4. หนอนผีเสื้อกินดอก

5. เพลี้ยจักจั่นหรือแมงกะอ้า จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนทำให้ช่อมะม่วงแห้งและผลร่วง ฤดูที่มะม่วงแทงช่อดอก เป็นช่วงที่เพลี้ยจักจั่นหรือแมงกะอ้าขยายพันธุ์และวางไข่ตามยอดอ่อน ก้านช่อดอก ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย แต่ไม่มีปีกและมีขนาดเล็กกว่า ตัวอ่อนจะลอกคราบหลายครั้ง นอกจากนี้เพลี้ยจักจั่นยังขับถ่ายของเหลวที่มีรสหวานออกมาด้วย ซึ่งทำให้เกิดราดำขึ้นบนน้ำหวาน จะพบว่าช่อดอก ใบ กิ่ง เป็นสีดำ ถ้ากำจัดเพลี้ยหมดไปราดำก็จะหมดไปด้วย การกำจัดอาจใช้สารเคมีกำจัดแมลง คาร์บาริลหรือไพรีทรอยก็ได้

โรคในระยะช่อดอกที่สำคัญ

1. โรคแอนแทรคโนส  จะเข้าทำลายใบและระบาดในระยะแทงช่อดอกด้วย ซึ่งเป็นช่วงที่มีหมอก มีน้ำค้างมาก เชื้อจะเจริญที่ดอกและช่อดอก ทำให้ดอกแห้งเป็นสีน้ำตาลและร่วง

2. โรคราแป้ง เป็นโรคที่สำคัญในระยะช่อดอกและติดผลโรคหนึ่งของมะม่วงโดยเฉพาะในเขตที่มีอากาศเย็น อาการจะมีลักษณะเป็นแป้งฝุ่นสีขาวที่ช่อดอก โดยเชื้อจะเข้าทำลายที่โคนก้านดอกย่อย โดยเฉพาะจะทำให้ช่อดอกร่วงหมด ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะทำให้โรคแพร่กระจายลงมาทางโคนก้านช่อทำให้ช่อแห้งหรือบางทีไม่แห้งแต่มีรอยขีด สีน้ำตาล ถ้าเป็นกับผลจะทำให้ผลแตกบุ๋ม แผลเป็นรูปแฉกหรือรูปดาว

สาเหตุเกิดจาก Oidium mangiferae กลุ่มโคโลนีจะถูกพัดพาไปโดยลมจากส่วนที่เป็นโรคไปยังส่วนปกติอื่นๆ เมื่อเชื้อไปติดบริเวณโคนก้านดอกย่อยเชื้อจะเจริญผลิตสปอร์ของราสีขาวได้ภายใน 5 วัน หลังจากเชื้อเข้าไป รามีชีวิตอยู่โดยอาศัยอยู่ที่เซลล์ผิวก้านของดอก ช่อดอก ผลอ่อน ทำให้ผลแตกรูปหลายแฉก แผลบุ๋มหรือแห้งร่วงหล่น

การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีกำจัดโรค เช่น ซาพรอน หรืออาฟูกาน อัตรา 10-20 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในระยะแทงช่อดอกถึงติดผล

การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูในมะม่วงระยะแทงช่อดอกและติดผล

1. ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงในระยะช่อดอกยาว 1.27-2.54 เซนติเมตร

2. ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงในระยะช่อดอกยืดแต่ยังไม่บาน โดยฉีดห่างครั้งแรก 7-10 วัน เมื่อดอกบานแล้วปล่อยให้แมลงช่วยผสมเกสร เมื่อติผลแล้วจึงป้องกันกำจัดแมลงและโรคต่อ

3. ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงหลังติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด พร้อมใส่ปุ๋ย

4. ถ้าไม่มีแมลงทำลายฉีดพ่นแต่สารเคมีป้องกันโรคและปุ๋ย

• ใส่ปุ๋ยทางดินถ้ามีน้ำให้ ถ้าไม่มีน้ำฉีดพ่นทางใบ

• ให้น้ำหลังจากติดผลขนาดเมล็ดถั่วเขียว ในพื้นที่มีน้ำจะช่วยให้ผลเจริญเติบโตได้ดี

โรคและแมลงศัตรูในระยะมะม่วงติดผลใหญ่

แมลงวันผลไม้เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด ในระยะที่มะม่วงติดผลใหญ่แล้ว การป้องกันกำจัดที่ได้ผลดี ต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังนี้คือ

1. ห่อผลเมื่ออายุประมาณ 50-70 วัน หลังติดผล เป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดและยังช่วยให้ผลมะม่วงมีคุณภาพดีขึ้นด้วย โดยใช้ถุงสีน้ำตาลห่อมะม่วงพันธุ์ที่ไม่ต้องการแสงแดดช่วยเปลี่ยนสีผิวหรือมะม่วงพันธุ์ที่สุกผิวผลสีเหลือง เช่น มะม่วงพันธุ์นวลคำ และถุงสีขาวใช้ห่อมะม่วงพันธุ์ที่ต้องการแสงแดดเพื่อเปลี่ยนสีผิว เช่น มะม่วงพันธุ์ปาล์มเมอร์ เออร์วิน และอาร์ทูอีทู

2. ใช้สารเมทธิยูจีนอลผสมสารเคมีกำจัดแมลง พวกมาลาไธออน อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ชุบสำลีไล่กับดักล่อแมลงวันทองตัวผู้ เพื่อลดการเกิดของแมลง

3. ใช้ยีสโฮโดรไลซีส เช่น นาสิมาน ผสมสารเคมีกำจัดแมลงพวกมาลาไธออนฉีดพ่นที่ใบเพื่อล่อทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยใช้ยีสโฮโดรไลซีส 200 ซีซี. ผสมมาลาไธออน 8 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 70 ซีซี. ผสมน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นใบมะม่วงที่แก่จัดต้นละประมาณ 1 ตารางฟุต หรือพ่นที่วัชพืชและต้นไม้อื่นๆ ในช่วงตอนเช้าตรู่เมื่อแมลงวันค่อมทองมาตอมก็จะตายทั้งตัวผู้ตัวเมีย

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวมะม่วงจะต้องเก็บเกี่ยวเมื่อมะม่วงแก่พอเหมาะ ถ้าอ่อนหรือแก่จัดเกินไปคุณภาพของผลจะไม่ดี ดังนั้นจึงต้องทราบวิธีสังเกตความแก่หรืออ่อนของมะม่วงแต่ละพันธุ์ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมะม่วงที่ปลูกในที่สูงมีดัชนีการเก็บเกี่ยวดังนี้

1. พันธุ์นวลคำ (Nualknum) อายุการเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 120 วัน เก็บเกี่ยวได้ในเดือน มิถุนายนถึงกรกฎาคม

2. พันธุ์ปาล์มเมอร์ (Palmer) อายุการเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 120 วัน เก็บเกี่ยวได้ในเดือน กรกฎาคมถึงสิงหาคม

3. พันธุ์อาร์ทูอีทู (R2E2) อายุการเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 120 วัน เก็บเกี่ยวได้ในเดือน มิถุนายนถึงกรกฎาคม

4. พันธุ์เออร์วิน (Erwins) อายุการเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 120 วัน เก็บเกี่ยวได้ในเดือน มิถุนายน

การเก็บเกี่ยวต้องทำอย่างประณีตไม่ให้ผลช้ำหรือมีตำหนิ โดยเก็บเกี่ยวให้ติดขั้วผลยาว โดยใช้กรรไกรตัดที่ขั้วผล ในการเก็บเกี่ยวผลจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยให้การเก็บเกี่ยวผลสะดวกขึ้น เช่น บันได กรรไกรตัดขั้วผลหรือกรรไกรด้ามยาว สำหรับเก็บเกี่ยวผลไม่ให้ร่วงหล่น ในกรณีที่ต้นสูง หลังจากเก็บผลจากต้นแล้ว นำมาตัดขั้วผลออกบริเวณรอยต่อของขั้วผล และป้องกันยางเปื้อนผิวผล โดยวางผลด้านขั้วบนผ้าหรือกระสอบเพื่อซับเอาน้ำยางออก จากนั้นเช็ดทำความสะอาดผิวผลและคัดคุณภาพตามชั้นมาตรฐาน ควรห่อผลด้วยโฟมเน็ต เพื่อป้องกันความเสียหายแล้ววางบนฟองน้ำหรือกระดาษ เพื่อป้องกันผลช้ำและส่งจำหน่ายต่อไป

มาตรฐานคุณภาพผลผลิต

การผลิตมะม่วงคุณภาพดีต้องคัดผลให้ได้มาตรฐานตามขนาดใหญ่ กลาง ผลที่คัดออกคือผลที่มีขนาดเล็กเกินไป มีรูปร่างผิดปกติ มีตำหนิจากการเก็บเกี่ยว โรคและแมลง ผลที่คัดขนาดแล้วจึงนำไปบรรจุตามขนาดทำให้ง่ายและรวดเร็วในการจำหน่าย ส่วนผลที่คัดออกจะได้นำไปแปรรูป

มาตรฐานการผลิตคุณภาพมะม่วงที่ดี คือ ลักษณะผลตรงตามพันธุ์ ผลดี ไม่บิดเบี้ยว ผิวผลไม่มีตำหนิของโรคและแมลงหรือยางของมะม่วง การทำให้มะม่วงได้คุณภาพที่ดี เกษตรกรจะต้องรู้และปฏิบัติต่อเนื่องทุกระยะ โดยเฉพาะการตัดแต่งกิ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกิ่งก้านให้สมบูรณ์ และการดูแลอย่างใกล้ชิดทุกระยะก็สามารถทำให้ได้ผลผลิตมะม่วงที่ตรงตามความต้องการของตลาด

เอกสารอ้างอิง : วีดีทัศน์ การผลิตมะม่วงคุณภาพ