พลัม
พลัมเป็นไม้ผลเขตหนาวขนาดกลางวงศ์ Rosaceae อยู่ในสกุล Prunus เช่นเดียวกับพีชพลัมแยกออกเป็น 2 ชนิด คือ พลัมยุโรป (European plum: Prunus domestica L.) และพลัมญี่ปุ่น (Japanese plum: P. salicina) พลัมที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพวกพลัมญี่ปุ่น ซึ่งปลูกกันมานานแต่ยังไม่แพร่หลาย ต่อมามูลนิธิโครงการหลวงได้นำเอาพลัมพันธุ์ Gulf Ruby จากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทดสอบที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางในปี พ.ศ.2522 และได้วิจัยและพัฒนาจนกระทั่งประสบความสำเร็จ ทำให้พลัมเป็นไม้ผลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นอาชีพชนิดหนึ่ง แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ แม่ปูนหลวง แกน้อย และอ่างขาง
ลักษณะโดยทั่วไป
พลัมเป็นไม้ผลที่มีลักษณะทรงต้นค่อนข้างเล็กเช่นเดียวกับพีช ดอกจะออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากได้รับความหนาวเย็นเพียงพอ ตาดอกที่อยู่บนกิ่ง Spur ซึ่งเป็นกิ่งอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปเหมือนกับบ๊วย แต่พลัมบางพันธุ์มีตาดอกอยู่บนกิ่งอายุ 1 ปี ตาดอก 1 ตามีจำนวน 2-3 ดอก ดอกพลัมมีจำนวนมาก ขนาดเล็กและสีขาวเป็นดอกสมบูรณ์เพศ แต่ปกติผสมตัวเองไม่ติด ต้องผสมข้ามและเฉพาะเจาะจงพันธุ์กันเท่านั้น ผลเป็นประเภท Drupe จึงจัดเป็นพวก Stone fruit คือมีส่วนของ endocarp ที่แข็งเช่นเดียวกับบ๊วยและพีช แต่จะมีความหลากหลายกว่าทั้งขนาดของผล สีของผลและสีเนื้อผลตามแต่ละสายพันธุ์ มีทั้งชนิดรับประทานสด และชนิดแปรรูป พลัมจะออกดอกในเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธุ์ ดอกมีสีขาวสวยงามมาก
สภาพภูมิอากาศและปัจจัยที่เอื้ออำนวย
พลัมพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยต้องการความหนาวเย็นในการทำลายการพักตัวยาวนานประมาณ 100 - 300 ชั่วโมง โดยพื้นที่ปลูกต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป แต่บางพันธุ์สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป เช่น พันธุ์จูหลี่ ในการปลูกพลัมรับประทานสด พื้นที่ปลูกต้องสามารถให้น้ำได้ ผลผลิตจึงจะมีคุณภาพดี สำหรับประเภทแปรรูปสามารถปลูกเป็นการค้าได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง และพื้นที่ปลูกไม่ควรมีปัญหาลมแรงเพื่อลดการร่วงของผล
พันธุ์พลัมที่ปลูกในประเทศไทย
พลัมที่ปลูกในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ ซึ่งแต่ละพันธุ์จะมีการใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น ใช้บริโภคสด แปรรูป หรือใช้เป็นคู่ผสม
1. พลัมพันธุ์ Gulf Ruby เป็นพันธุ์รับประทานสดที่มีผลผลิตมากที่สุดในปัจจุบัน ผลมีขนาดโตกว่าพันธุ์อื่นๆ น้ำหนักประมาณ 60-80 กรัมต่อผล ทรงผลกลมสูง ก้นแหลมสีม่วงอมแดง เนื้อสีเหลือง รสชาติหวานอมเปรี้ยวเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม การติดผลต้องการพันธุ์คู่ผสม
2. พลัมพันธุ์ Gulf Gold เป็นพันธุ์รับประทานสด ผลมีขนาดใหญ่และลักษณะผลคล้ายกับพันธุ์ Gulf Ruby แต่ผลมีสีเหลือง เมื่อสุกจัดจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ผลสุกเก็บเกี่ยวได้ช้าคือประมาณปลายเดือนพฤษภาคม การติดผลผสมตัวเองได้ดี
3. พันธุ์เหลืองบ้านหลวง ลักษณะผลกลม ขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 40-60 กรัมต่อผล ผลมีสีเหลืองเนื้อผลสีเหลือง รสชาติหวานและมีกลิ่นหอม เก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤษภาคม การติดผลต้องมีพันธุ์อื่นช่วยผสมเกสรจึงจะติดผลได้ดี สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตรขึ้นไป
4. พันธุ์แดงบ้านหลวง ลักษณะผลกลมแป้นมีร่องลึก เนื้อผลมีสีแดงเข้มเมื่อสุกจะมีสีแดงอมดำคล้ายเลือด และขนาดของผลมีทั้งสายพันธุ์ที่ผลใหญ่และผลเล็ก น้ำหนัก 40-70 กรัมต่อผล ผลมีรสชาติหวาน สามารถรับประทานสดได้ดีโดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ผลใหญ่ และสามารถแปรรูปได้ดีเช่นกันเพราะเนื้อค่อนข้างแข็ง ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ช้าคือ ประมาณเดือนพฤษภาคม การติดผลผสมตัวเองได้ดี
5. พันธุ์จูหลี่ เป็นพันธุ์สำหรับแปรรูป ผลมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะผลกลม สีแดง เนื้อผลสีเหลืองเข้ม เมล็ดเล็ก ผลสามารถติดอยู่บนต้นได้นาน ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตคือเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตร ขึ้นไป การติดผลผสมตัวเองได้ดี
6. พลัมพันธุ์อื่นที่ปลูกในประเทศไทย ที่ยังไม่สามารถปลูกเป็นการค้าได้แต่ใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น ใช้เป็นคู่ผสม ได้แก่ พันธุ์เหลืองอินเดีย และพันธุ์ขุนแจ๋ เป็นต้น
รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ : พีชแบ่งออกได้เป็น 4 เกรด ได้แก่
เกรดพิเศษ ผลต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ ปราศจากโรค และแมลง มีน้ำหนักประมาณ 84 กรัมต่อผล
เกรด 1 ผลต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ ปราศจากโรค และแมลง มีน้ำหนักประมาณ 56-83 กรัมต่อผล
เกรด 2 ผลต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ ปราศจากโรค และแมลง มีน้ำหนักประมาณ 42-55 กรัมต่อผล
เกรดโรงงาน ผลมีน้ำหนักต่ำกว่า 42 กรัม หรือผลใหญ่ แต่ทว่ามีตำหนิ โดยต้องมีแผลแห้งไม่เกิด 5% ของผล
ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต
พลัมแต่ละพันธุ์มีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตแตกต่างกัน แต่จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนฃ
ตลาดและการใช้ประโยชน์
พลัมแบ่งตามการใช้ประโยชน์ได้เป็น 2 กลุ่มคือ พลัมสำหรับรับประทานสด และพลัมสำหรับแปรรูป โดยพลัมสำหรับรับประทานสดได้แก่ พันธุ์ Gulf Ruby, Gulf Gold, เหลืองบ้านหลวงและแดงบ้านหลวง แต่พันธุ์เหล่านี้ก็สามารถนำไปแปรรูปได้ เช่น ทำแยมพลัมและน้ำพลัม ส่วนพันธุ์สำหรับแปรรูปได้แก่ พันธุ์จูหลี่ ซึ่งนิยมนำไปทำพลัมแช่อิ่ม ในด้านประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร พลัมเป็นไม้ผลเพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย กรดซัคซินิค ซิตริก มาลิกและแคทีนิค ซึ่งช่วยชะลอความชราและเสริมสร้างกระดูกและฟัน
การปลูกและการบำรุงรักษา
ระยะปลูก : ตามปกติแล้วใช้ระยะ 4x4 เมตร 1 ไร่ จะปลูกได้ 100 ต้น อาจจะใช้ระยะปลูก 3x4 เมตร หรือ 2x4 เมตรก็ได้ แต่ต้องมีการตัดแต่งทรงต้นและการดูแลรักษาที่ดี การเตรียมหลุมปลูกปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกบ๊วย
การใส่ปุ๋ย : ในระยะการเจริญเติบโตหลังปลูกใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15, 16-16-16 หรือ 13-13-21 ใส่ในตอนต้นฤดูฝนอัตราประมาณ 0.4, 0.8, 1.2, 1.6 กิโลกรัมต่อต้นในปีที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ อาจเสริมปุ๋ยเดี่ยวไนโตรเจน เช่น 46-0-0 ตอนกลางฤดูฝนอัตราประมาณ 0.2, 0.3, 0.4, 0.5 กิโลกรัม/ต้น ในปีที่ 1, 2, 3 และ 4 เช่นเดียวกัน
สำหรับไม้ผลที่ให้ผลแล้ว ก่อนออกดอกควรใช้ปุ๋ยผสมที่มีสัดส่วนของธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมสูง เช่น ปุ๋ยสูตร 12-24-12 , 8-24-24 ฯลฯ และใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีผสมอีกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว ปุ๋ยเคมีผสมที่ใส่ในระยะนี้ควรมีสัดส่วนของธาตุไนโตรเจนสูง เช่นสูตร 20-10-10หรืออย่างน้อยสูตรเสมอเช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16
การตัดแต่งกิ่ง
พลัมมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีการแตกกิ่งก้านสาขามากมาย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการตัดแต่งในช่วงการปลูกระยะแรกๆ อาจจะต้องมีการตัดแต่งหนัก เพื่อให้เกิดทรงต้นที่เหมาะสม ซึ่งทรงต้นที่เหมาะสมสำหรับพลัมควรจะเป็นแจกันหรือเป็นพุ่มแจ้ เพื่อต้นมีอายุมากแข็งแรงและให้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ
การออกดอก ของพลัมมักจะเกิดบนกิ่งสเปอร์ทีมีขนาดยาวและมีอายุหลายปีอย่างไรก็ตามดอกสามารถเกิดได้บริเวณด้านข้างของกิ่งที่มีอายุเพียง 1 ปี กิ่งสเปอร์สามารถเกิดได้บนกิ่งทั่วๆไปภายในบริเวณทรงพุ่ม การตัดแต่งกิ่งน้ำค้างหรือกิ่งอ่อนจะช่วยเร่งให้ต้นพลัมเกิดกิ่งสเปอร์มากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการออกดอกและการติดผลมากขึ้นไปด้วย
การปลิดผล
พลัมแทบทุกชนิดมักจะมีการติดผลที่ดก จำเป็นที่จะต้องมีการปลิดผลออกบ้างเพื่อให้ผลที่เหลือมีคุณภาพที่ดีและขนาดผลใหญ่ขึ้น การปลิดผลควรปลิดผลควรปลิดให้เหลือผลห่างกันประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผลที่อยู่เป็นกลุ่มๆควรปลิดออกให้เหลือเพียงผลเดียว
การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษา
ผลผลิตจะมีคุณภาพดีถ้าหากว่าปล่อยให้ผลพลัมสุกเต็มที่บนต้นในขณะที่ผลยังคงแข็งอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้วมักจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลเปลี่ยนสีเป็นสีแดงหรือเหลืองจัด ซึ่งขึ้นอยู่กับพลัมในแต่ละพันธุ์ อย่างไรก็ตามผลขณะที่เก็บเกี่ยวนั้นจะต้องเป็นผลที่เนื้อยังคงแข็งอยู่หรือเริ่มจะนิ่มเล็กน้อย การเก็บเกี่ยวอาจจะต้องเลือกเก็บหลายครั้ง ผลที่เก็บเกี่ยวแล้วอาจจะปล่อยทิ้งไว้ให้สุกเต็มที่ในสภาพอุณหภูมิปกติในห้องธรรมดา พลัมญี่ปุ่นแทบทุกพันธุ์สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถ้าหากว่าเก็บเกี่ยวเมื่อผลเริ่มสุก ซึ่งคุณภาพของผลจะยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
โรคและแมลงศัตรู
โรคราสนิม (Rust)
สาเหตุ: เกิดจากเชื้อรา Tranzschelia pruni-spinosae
ลักษณะอาการ: บนใบจะเป็นจุดสีเหลืองเล็กๆ และด้านใต้ใบจะเป็นตุ่มสีน้ำตาล
การป้องกันกำจัด: ใช้แพลนแวกซ์ฉีดพ่นประมาณ 2 ครั้งถ้ามีอาการมากให้สลับด้วยคูปราวิท 2 สัปดาห์/ครั้ง หรืออย่างน้อย 1 เดือนต่อครั้งจนกว่าอาการจะหมดไป
โรคราแป้ง
สาเหตุ: เกิดจากเชื้อรา Oidium sp.
ลักษณะอาการ: มีขุยสีขาวและมีแผลไหม้สีน้ำตาลอ่อนเกิดขึ้นที่ใบ
การป้องกันกำจัด: ใช้เบนเลทพ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน เมื่อพบอาการระบาดหนักใช้สารพวกซัลเฟอร์ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง หรือจนกว่าจะหาย
โรคแอนแทรคโนส
สาเหตุ: เกิดจากเชื้อ Colletotrichum sp.
ลักษณะอาการ: แผลที่ผิวของผลพลัมเป็ฌนสีน้ำตาล เนื่องจากยุบตัวลงเล็กน้อย เมื่อเฉือนผิวส่วนที่เป็นแผลสีน้ำตาลออกจะพบเนื้อในผลมีสีน้ำตาล
การป้องกันกำจัด: กำจัดส่วนที่เป็นโรคทิ้งเผาทำลายและฉีดพ่นสารเคมีพวกเบนเลทผสมกับแอนทราโคลหรือโลนาโคลหรือไดแทนเอ็ม-45 อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน
โรคใบรู (Shot-hole)
สาเหตุ: เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas pruni
ลักษณะอาการ: ปรากฏแผลเป็นวงกลมที่ใบ เมื่อเป็นมากขึ้นแผลที่ใบจะขยายใหญ่ขึ้นมีสีม่วงเข้ม จากนั้นเนื้อใบที่อยู่ตรงกลางจะหลุดร่วงทำให้เป็นรู
การป้องกันกำจัด: ควรเผาทำลายส่วนที่เป็นโรคและใช้สารเคมีพวกคอปเปอร์ซัลเฟตหรือซิงค์ซัลเฟต-ไลม์ ฉีดพ่นสลับด้วยอะกริมัยซิน ทุกๆ 7-10 วัน
แมลงศัตรูของพลัม
เพลี้ยไฟ
เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวผอมยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร สีเหลืองอ่อน เพลี้ยไฟจะใช้ปากเขี่ยผิวของพืชแล้วดูดน้ำเลี้ยง ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแผลตกสะเก็ดสีน้ำตาล ผิวหยาบ ถ้ารุนแรงมากจะเป็นสีดำ ปกติจะทำลายส่วนยอดอ่อน ช่อดอกและผล ทำให้ใบอ่อนหงิก ไหม้ และแห้งตาย ดอกร่วง ผลร่วง หรือทำให้ผลเกิดตำหนิ โดยปกติพบเพลี้ยไฟได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ในที่อากาศแห้งแล้งและอุณหภูมิสูง เป็นสภาพที่เหมาะต่อการระบาดเพลี้ยไฟมีพืชอาหารกว้างมากทั้งในพืชผัก ไม้ดอก และไม้ผล เช่น พริก มะม่วง กุหลาบ ทับทิม กาแฟ เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
1. ฉีดพ่นด้วยพอสซ์หรือเมซูโรล ก่อนดอกบาน 1-2 ครั้ง
2. ขณะดอกบาน ฉีดพ่นธีโอดานเนื่องจากไม่เป็นพิษกับผึ้งและแมลงผสมเกสร
3. หลังจากติดผลแล้ว พ่นด้วยพอสซ์หรือเมซูโรลอย่างสม่ำเสมอประมาณ 15 วัน/ครั้ง ถ้าฝนตกอาจเว้นช่วงระยะเวลาได้นานกว่านี้
แมลงวันทอง
แมลงวันทองหรือแมลงวันผลไม้เป็นศัตรูที่สำคัญของผลไม้แทบทุกชนิด ตัวเต็มวัยจะวางไข่เข้าไปในผลไม้แล้วฟักออกเป็นตัวทำให้ผลไม้เน่าเสียหายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ที่ใกล้แก่หรือขณะผลสุกก่อนการเก็บเกี่ยวทำให้ผลร่วงเสียหาย แมลงวันที่พบส่วนมากจะเป็น Dacus dorsalis อาจจะพบชนิด D. sonatus ที่สถานีเกษตรอ่างขาง สำหรับผลพลัมนั้นมีปัญหาน้อยกว่าท้อ เนื่องจากการเก็บเกี่ยวนั้นมักจะเก็บเมื่อผลนั้นยังคงมีเนื้อแข็งอยู่ การระบาดหรือการเข้าทำลายยังไม่มากนัก แต่ถ้าปล่อยให้ผลสุกเต็มที่อยู่บนต้น การเข้าทำลายผลจะสูง
การป้องกันกำจัด
1. รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งพอสมควร
2. เก็บผลที่ร่วงหล่น เน่าเสีย ไปเผาทำลายหรือฝังให้ลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร
3. พ่นสารฆ่าแมลงมาลาไธออนโดยทั่วบริเวณต้นทุก 7 วัน
4. ใช้กับดักโดยใช้เมทธิลยูจินอลผสมสารไดบรอนหรือมาลาไธออนในอัตรา 2:1 โดยปริมาตรเพื่ออล่อทำลายแมลงวันทองเพศผู้ โดยเริ่มวางกับดักก่อนผลพลัมจะสุกประมาณ 1เดือน แขวนกับดักห่างกันประมาณ 10-15 เมตร และทำการเติมสารทุก 3-4 สัปดาห์5. ใช้โปรตีนไฮโดรไลเซท มีชื่อการค้า นาสิมาน ใช้อัตรา 200 ซีซี ผสมมาลาไธออน 70 ซีซี ยาจับใบเล็กน้อยผสมน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นบริเวณใบของพลัมต้นละ 1-2 จุด แต่ละจุดพ่นสาร 50-70 ซีซี รัศมีวงกลมประมาณ 50 เซนติเมตร ทุก 4-7 วัน และหลังฝนตก ซึ่งวิธีนี้สามารถกำจัดแมลงวันทองทั้งเพศผู้และเพศเมีย