การแบ่งผลประโยชน์ (Gain Sharing): ทางเลือกสู่การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
พื้นที่สูงของประเทศไทยเผชิญข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร และโอกาสทางเศรษฐกิจ แนวคิด การแบ่งผลประโยชน์ (Gain Sharing) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาชุมชน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม แนวคิดนี้ได้รับการแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้นในเวทีประชุมวิชาการขององค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (APO) หัวข้อ “Conference on Productivity Gainsharing for Rural Development” ระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2567 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีกรณีศึกษาจากประเทศสมาชิกที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทพื้นที่สูงของไทย
แนวคิด Gain Sharing คืออะไร?
Gain Sharing คือระบบที่เน้นการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพการทำงาน โดยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะถูกแบ่งปันอย่างยุติธรรมระหว่างสมาชิกที่มีส่วนร่วม แตกต่างจากแนวคิด Profit Sharing ที่เน้นแบ่งกำไรโดยไม่ได้เชื่อมโยงกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยตรง
ความเหมือนและความต่างของ Gain Sharing กับแนวคิดอื่น
เพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น ตารางเปรียบเทียบต่อไปนี้จะแสดงจุดเด่นและความแตกต่างระหว่าง Gain Sharing, Profit Sharing, สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชน
กรณีศึกษาจากประเทศสมาชิก APO
มาเลเซีย: โครงการ SME ด้านการแปรรูปผลผลิตเกษตรในรัฐซาราวัก ซึ่งมุ่งเน้นการลดการสูญเสีย
ในกระบวนการผลิต เช่น การผลิตน้ำผลไม้จากผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับตลาดสด โดยนำผลกำไรที่ได้มาแบ่งปันให้กับคนงานตามสัดส่วนการลดต้นทุนและคุณภาพของผลผลิต ช่วยให้เกิดแรงจูงใจและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่น
สปป. ลาว: บริษัท Mulberries ในแขวงเชียงขวาง สนับสนุนการผลิตไหมคุณภาพสูงโดยการจัดฝึกอบรมให้ชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหม ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงจะถูกแบ่งปันผลกำไรเพิ่มเติมให้กับสมาชิกที่ทำงานได้ตามเป้าหมาย ช่วยรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นและสร้างรายได้อย่างมั่นคง
ฟิลิปปินส์: ในอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีก มีการใช้ Gain Sharing ผ่านระบบการให้รางวัลที่อิงจากการลดต้นทุนอาหารสัตว์และยอดขายที่เพิ่มขึ้น กลุ่มเกษตรกรได้รับส่วนแบ่งตามการลดค่าใช้จ่ายและการพัฒนาคุณภาพสินค้า ส่งผลให้เกิดความร่วมมือและประสิทธิภาพในองค์กร
ญี่ปุ่น: โครงการ OTETSU-TABI เชื่อมโยงแรงงานชั่วคราวกับชุมชนชนบท โดยเปิดโอกาสให้แรงงานจากเมืองใหญ่เข้ามาช่วยงานด้านการเกษตร เช่น การเก็บเกี่ยวหรือการดูแลผลผลิต พร้อมมอบรางวัลหรือโบนัสตามผลลัพธ์การทำงาน ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชนและส่งเสริมการฟื้นฟูวิถีชีวิตในชนบท
การนำ Gain Sharing มาปรับใช้ในพื้นที่สูงของไทย
Gain Sharing สามารถนำมาปรับใช้ในพื้นที่สูงเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น
1. การรวมกลุ่มปลูกพืชมูลค่าสูง: เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มปลูกพืช เช่น กาแฟ ชา หรือสมุนไพร โดยแบ่งปันความรู้และทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และแบ่งผลประโยชน์ตามผลลัพธ์ เช่น การลดต้นทุน 20% หรือการเพิ่มผลผลิต 30%
2. กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการแปรรูป: สนับสนุนการแปรรูปพืชท้องถิ่น เช่น แยมผลไม้ หรือเครื่องดื่มสมุนไพร เพื่อลดของเสียและเพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจ สมาชิกที่มีส่วนช่วยปรับปรุงกระบวนการจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
3. จัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนจากผลกำไร: ส่วนหนึ่งของผลกำไรจาก Gain Sharing สามารถนำไปตั้งเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกอบรมเกษตรกร การจัดการน้ำ การป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการพัฒนาสาธารณูปโภค
4. กิจกรรมสร้างเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกัน: จัดอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตร เช่น เทคนิคการจัดการน้ำ การใช้ปุ๋ย และนวัตกรรมการเกษตร โดยใช้ Gain Sharing เป็นแรงจูงใจในระดับกลุ่ม
ฉะนั้น Gain Sharing ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนบนพื้นที่สูงในหลายมิติ:
- สร้างแรงจูงใจ: กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต: ด้วยกระบวนการที่เป็นระบบ
- ลดความเหลื่อมล้ำ: ผ่านการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
- ส่งเสริมความยั่งยืน: ด้วยการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ขอขอบคุณ
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และ องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (APO) ที่เปิดโอกาสให้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยเพื่อพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
เขียน/เรียบเรียงโดย กชพร สุขจิตภิญโญ
ออกแบบและเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน