การปลูกข้าวไร่ร่วมกับถั่วลอด : สู่การเพิ่มคาร์บอนในดินบนพื้นที่สูง
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ClimateWatch (2024) รายงานว่าในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทย มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 449.51 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดที่ 252.18 MtCO2e รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม 97.77 MtCO2e ภาคเกษตร 70.73 MtCO2e ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 15.93 MtCO2e และภาคของเสีย 12.9 MtCO2e ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยภาคเกษตรของไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ซึ่งเกิดจากกิจกรรมการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ ที่กระตุ้นให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ไปสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามในภาคการเกษตรนั้นยังมีส่วนช่วยในการกักเก็บคาร์บอนได้เช่นกัน โดยเฉพาะ “ดิน” ที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันการกักเก็บคาร์บอนสามารถนำไปสู่การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ หากมีวิธีการจัดการดินที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับพื้นที่ทำการเกษตรนั้นควบคู่ไปด้วย รวมทั้งส่งผลให้ช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
ข้าวไร่เป็นระบบการปลูกพืชหนึ่งที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะชาวปกาเกอะญอ จากข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. พบว่าพื้นที่ของ สวพส. มีการปลูกข้าวไร่ ประมาณ 177,945 ไร่ โดยการปลูกข้าวไร่บนพื้นที่สูงนั้นจะปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียนในพื้นที่ลาดชันและใช้พื้นที่ในการปลูกค่อนข้างมาก ซึ่งจะปลูกข้าวไร่ในพื้นที่เดิม 1-2 ปี จากนั้นจะหมุนเวียนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้ เพราะจะได้ผลผลิตข้าวต่ำ จึงนำไปสู่งานวิจัย เรื่อง การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ปลูกข้าวไร่โดยใช้ถั่วลอด ซึ่งการปลูกข้าวไร่ร่วมกับถั่วลอด ให้ผลผลิตเฉลี่ย 387 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าการปลูกข้าวไร่เพียงอย่างเดียว ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 265 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเกษตรกรสามารถปลูกข้าวไร่ร่วมกับถั่วลอด หรือปลูกถั่วลอดเมื่อข้าวไร่อายุประมาณ 30 วัน ใช้ถั่วลอดอัตรา 40 กรัมต่อข้าวไร่ 10 กิโลกรัม ซึ่งถั่วลอดเป็นพืชที่มีลักษณะพิเศษโดยจะเลื้อยคลุมดินมีการแตกกิ่งแขนงเลื้อยไปได้ไกลได้กว่า 10 เมตร ด้วยเหตุนี้ถั่วลอดยังช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดินจากเม็ดฝน ช่วยรักษาความชื้นในดิน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน อีกทั้งถั่วลอดยังสามารถนำไปบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
จากลักษณะเด่นของถั่วลอดที่ช่วยในการคลุมดินรักษาความชื้นในดิน และเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินนั้น จึงนำมาสู่การศึกษาเพื่อเปรียบเทียบปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินระหว่างการปลูกข้าวไร่แบบเดิมของเกษตรกรกับการปลูกข้าวไร่ร่วมกับถั่วลอด พบว่า การปลูกข้าวไร่ร่วมกับถั่วลอดมีปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น 7.07% และมีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินที่ระดับความลึก 0-15 เซนติเมตรและ 15-30 เซนติเมตร มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.31 ตันต่อไร่ และ 6.01 ตันต่อไร่ ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินที่ปลูกข้าวไร่แบบเดิมของเกษตรกรที่มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดิน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.96 ตันต่อไร่ และ 5.43 ตันต่อไร่ ตามลำดับ จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่าการปลูกข้าวไร่ร่วมกับถั่วลอดช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดินและอินทรียวัตถุที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อการกักเก็บคาร์บอนในดินเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของดินบนและดินล่างมากกว่าการปลูกข้าวไร่เพียงอย่างเดียว ซึ่งการปลูกถั่วลอดร่วมกับข้าวไร่น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในระบบการปลูกข้าวไร่บนพื้นที่สูงต่อไป