องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การเรียนรู้ของเกษตรกรบนพื้นที่สูงเป็นอย่างไร?

เมื่อกล่าวถึงการเรียนรู้ (Learning) อาจนึกถึงนักเรียน โรงเรียน ครูอาจารย์ ตำราเรียน หรือเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน แท้จริงแล้วมนุษย์ล้วนมีการรับรู้และการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งที่รู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้และไม่รู้ตัว ในทางจิตวิทยาการเรียนรู้ หมายถึง “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลอย่างค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากการฝึกฝนหรือประสบการณ์” ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีความถนัดในการรับรู้ไม่เหมือนกัน บางคนรับรู้ได้ดีผ่านการมองเห็น (Visual) บางคนรับรู้ผ่านการฟัง (Auditory) ในขณะที่บางคนรับรู้ผ่านการลงมือทำ (Kinesthetic) ดังนั้น การเข้าใจ “วิธีการเรียนรู้” จึงเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถจัดรูปแบบการเรียนรู้ของเกษตรกร ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ

(1) กลุ่มเรียนรู้จากข้อมูลรอบด้าน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 46-60 ปี เป็นผู้ที่มีความสุขุมรอบคอบ การเรียนรู้เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาดูงาน การฝึกอบรม และคำแนะนำจากเจ้าที่ส่งเสริมการเกษตร พร้อมปรับเปลี่ยนเมื่อได้รับข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งการผลิต การตลาด และผลตอบแทน เช่น กลุ่มผู้ปลูกผักในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม อ.แม่จริม จ.น่าน เดิมเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เมื่อได้รับความรู้จาก สวพส. และเห็นโอกาสทางการตลาดจึงปรับเปลี่ยนระบบเกษตร มาปลูกพืชผักในโรงเรือน ลดการใช้สารเคมี และมีรายได้ที่มั่นคง 

(2) กลุ่มเรียนรู้จากตัวอย่าง อาศัยอยู่ในชุมชนห่างไกล มีข้อจำกัดในการเข้าถึงความรู้และการติดต่อสื่อสาร มีความลังเลไม่กล้าตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนในเวลาอันรวดเร็ว การเรียนรู้เกิดจากการเห็นตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรทั้งในหรือนอกชุมชน โดยระบบพี่เลี้ยงหรือการให้คำแนะนำและติดตามอย่างใกล้ชิดของนักพัฒนามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกร ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของ นายจะแฮ พยายล ผู้นำเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยฮะ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เดิมเกษตรกรยังชีพด้วยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่ว ด้วยความชอบการเรียนรู้เมื่อมีโอกาสมักขอไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการปลูกไม้ผลกับเกษตรกรรายอื่นในชุมชน ต่อมาเมื่อ สวพส. เข้ามาดำเนินงานที่บ้านแม่ยะน้อย ให้การอบรมความรู้ด้านไม้ผล กอปรกับความสนใจส่วนบุคคลและเห็นความสำเร็จของคนในชุมชน จึงปรับเปลี่ยนระบบเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นไม้ผล ได้แก่ อาโวคาโด มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และส้มสายน้ำผึ้ง จนกลายเป็นผู้นำเกษตรกร และอยู่ระหว่างการพัฒนาแปลงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

(3) กลุ่มเรียนรู้อย่างรวดเร็ว เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่อายุ 17-45 ปี ที่มีประสบการณ์ทำงานภายนอกชุมชนหรือร่วมกับหน่วยงานภายนอก มีทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร สามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารและความรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง หรือแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเครือข่ายที่มีความสนใจเดียวกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เกษตรกรกลุ่มนี้เป็นผู้ที่เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ได้ง่าย กล้าได้กล้าเสีย และลงมือทำทันทีหลังจากได้รับความรู้ ตัวอย่างเช่น นายทัศนัย ขันหลวง ผู้นำเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง บ่อเกลือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ได้รับโอกาสให้ไปฝึกงานเกษตรกับครอบครัวญี่ปุ่น ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนบนพื้นที่สูง ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาต่อยอดจนสามารถพัฒนาระบบเกษตรของครอบครัวและกลายเป็นผู้นำเกษตรกรที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่มผู้ปลูกพืชผักในโรงเรือนบ้านสะว้าใต้

 (4) กลุ่มเรียนรู้แบบเชื่อมโยงเครือข่าย กลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นทางการ หรือผู้ที่เคยเป็นผู้นำชุมชน และประธานกลุ่มต่างๆ ทำให้มองเห็นโอกาสในการเชื่อมโยงกับแต่ละหน่วย ทั้งสมาชิกในชุมชน ส่วนราชการ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกชุมชนที่สามารถนำความรู้มาเชื่อมโยงเป็นองค์รวมเพื่อการพัฒนาตนเองและชุมชนได้ เช่น นายอาค่อง แลเชอ ผู้นำเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย แม้ว่านายอาค่องจะต้องสูญเสียแขนไปหนึ่งข้าง จากอุบัติเหตุ แต่ด้วยความมานะพยายามก้าวผ่านความยากลำบาก จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนบ้านผาแดงลีซู และได้รับการยกย่องด้วยรางวัลมากมาย โดยคอยประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในฐานะผู้นำเกษตรกรด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะต้นแบบการปลูกกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะตัว ไม่มีผู้ใดใช้ความถนัดในการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งตลอดเวลา แต่วิธีการที่ถนัดที่สุดจะถูกนำมาใช้มากกว่ารูปแบบอื่น การที่ได้รู้และเข้าใจธรรมชาติการรับรู้ของเกษตรกร จะช่วยให้เราจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมการรับรู้และการเรียนรู้ของเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้ดียิ่งขึ้น

แล้วการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้มีกระบวนอย่างไร? ….. โปรดติดตามตอนต่อไป

ขอขอบคุณ

นักพัฒนาในพื้นที่และผู้นำเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 139 ราย 10 ชาติพันธุ์ ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง คนไทยพื้นเมือง อาข่า เมี่ยน ลีซู มูเซอ ไทลื้อ ลัวะ และดาราอั้ง ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 31 แห่ง ได้แก่ ดอยปุย ป่าแป๋ ปางมะโอ ห้วยเป้า ปางแดงใน ปางหินฝน แม่มะลอ ป่ากล้วย ผาแดง ฟ้าสวย ป่าเกี๊ยะใหม่ คลองลาน วาวี แม่สลอง ห้วยก้างปลา ห้วยโป่งพัฒนา แม่แฮหลวง สบเมย แม่สามแลบ สบโขง ขุนตื่นน้อย แม่สอง ถ้ำเวียงแก ขุนสถาน แม่จริม โป่งคำ วังไผ่ น้ำแป่ง ห้วยฮะ บ่อเกลือ ปางยาง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กชพร สุขจิตภิญโญ, เกษราภร ศรีจันทร์, ณฐภัทร สุวรรณโฉม, เพียงออ ศรีเพ็ชร, จันทราวดี อารีศรีสม และเปรมวลัย กุลเจริญเศรษฐ์. 2564-2565. โครงการวิจัยและพัฒนากระบวนการพัฒนาผู้นำชุมชน บนพื้นที่สูงในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง. สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)


เขียน/ เรียบเรียงเรื่อง โดย กชพร สุขจิตภิญโญ 

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน