องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีค่าอย่าทิ้ง

เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชสร้างรายได้หลัก ได้แก่ พืชผัก พืชไร่ ไม้ผล และกาแฟของเกษตรกรบนพื้นที่สูง ที่เราเห็นจนชินตา ได้แก่ เปลือก แกน ต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฟางข้าว เปลือกกาแฟ เศษผักและเศษกิ่งไม้จากการตัดแต่ง เป็นต้น ซึ่งบางชนิดก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ บางชนิดมีแนวโน้มก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมหากมีการจัดการที่ไม่ถูกวิธี ก่อนจะไปถึงแนวทางการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ถูกต้อง เราต้องมาสำรวจกันก่อนว่าบนพื้นที่สูงของเรามีเศษวัสดุเหลือใช้อะไรบ้าง แล้วเกษตรกรมีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างไร

จากการศึกษาการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 16 หมู่บ้าน พบว่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีปริมาณมาก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลำต้น เปลือกและแกน) กาแฟ (เปลือกกาแฟเชอรี่ และเปลือกกาแฟกะลา) ข้าว (ฟาง ตอซัง แกลบ)

มันสำปะหลัง (เหง้า และลำต้น) และ ถั่ว (ต้น และเปลือกถั่ว) โดยพบว่าเกษตรกรมีวิธีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ที่แตกต่างกัน ส่วนมากนำเศษพืชไปขาย ทำปุ๋ยหมัก อาหารสัตว์ แต่ยังพบว่ามีการทิ้งลงสู่แหล่งน้ำปล่อยทิ้งให้ย่อยสลายเองหรือเผาทำลาย ซึ่งมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เปลือก แกน ต้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปลือกกาแฟเชอร์รี่ และเหง้าและลำต้นมันสำปะหลัง ดังตารางที่ แสดงวิธีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของเกษตรกรบนพื้นที่

เมื่อนำเศษเหลือใช้เหล่านี้ไปวิเคราะห์หาสารสำคัญ พบว่าเปลือกกาแฟเชอร์รี่สด ต้นงาขี้ม้อน กากถั่วดำ ลำต้นมันสำปะหลัง ฟางข้าว มีปริมาณธาตุอาหารสูงโดยมีปริมาณไนโตรเจนอยู่ในช่วง 1.21 – 3.13 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณโพแทสเซียมอยู่ในช่วง 1.16 – 2.28 เปอร์เซ็นต์ แต่มีปริมาณฟอสฟอรัสไม่มากนัก (กราฟแสดงปริมาณธาตุอาหารหลักในเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร) ซึ่งการเผาเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากเป็นการเผาเงินที่เราซื้อปุ๋ยมาใส่ให้แก่พืช เพราะปุ๋ยส่วนหนึ่งจะติดไปกับผลผลิตที่เราเก็บออกไป อีกส่วนหนึ่งคือที่ติดอยู่กับต้นหากเราเผาต้นก็เหมือนเราเผาปุ๋ยทิ้งไปนั่นเอง 

หากพิจารณาถึงพื้นที่ปลูกพืช ข้อมูลการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ และปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ จะพบว่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรที่มีแนวโน้มนำใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ เปลือกกาแฟเชอร์รี่สด ต้นงาขี้ม้อน กากถั่วดำ ลำต้นมันสำปะหลัง เปลือก แกน ต้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และฟางข้าว โดยนำกลับมาทำเป็นปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยหมัก วัสดุปลูก) ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยลดสาเหตุการเกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

เขียน/ เรียบเรียงเรื่อง โดย นางสาวจุไรรัตน์ ฝอยถาวร นางสาวดารากร อัคฮาดศรี นางสาววัลภา อูทอง และนายอาผู่ เบเช

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน